'ดุสิตธานี' เปิด รร. ใหม่ 'จีน' สู่ 33 แห่งใน 5 ปี ชี้วิกฤติยักษ์อสังหาฯไม่กระทบ

'ดุสิตธานี' เปิด รร. ใหม่ 'จีน' สู่ 33 แห่งใน 5 ปี ชี้วิกฤติยักษ์อสังหาฯไม่กระทบ

จากกรณียักษ์อสังหาฯ ในจีน 2 รายใหญ่ ทั้ง 'เอเวอร์แกรนด์' และ 'คันทรี การ์เดน' ประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก! 'ศุภจี สุธรรมพันธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า "ไม่ส่งผลกระทบ" ต่อแผนขยายธุรกิจรับบริหารโรงแรมของ 'กลุ่มดุสิตธานี' ในจีน

เนื่องจากพันธมิตรของกลุ่มดุสิตธานีเป็นกลุ่มโรงแรม ไม่ใช่กลุ่มอสังหาฯเพื่อการอยู่อาศัยที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในตอนนี้!

ขณะนี้กลุ่มดุสิตธานีรับบริหารโรงแรมในจีนรวม 11 แห่ง เตรียมเปิดให้บริการ 2 แห่งใหม่ภายในปีนี้ และตามแผนพัฒนาโรงแรมใหม่จะเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 20 แห่ง ทำให้ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้กลุ่มดุสิตธานีมีจำนวนโรงแรมที่รับบริหารในจีนรวมอย่างน้อย 33 แห่ง

“พอภาพรวมภาคอสังหาฯในจีนเกิดความตึงตัว จีดีพีของประเทศจีนต่ำกว่าเป้า จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโต 6% ล่าสุดปรับลดการเติบโตอยู่ที่ 4% ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงตามไปด้วยรวมถึงภาคโรงแรมและการท่องเที่ยว ทำให้ชาวจีนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์อัตราเข้าพักโรงแรมในจีนที่กลุ่มดุสิตธานีรับบริหาร ปัจจุบันอยู่ที่ 60-70% กลับมาดีตั้งแต่ปี 2563 แล้วหลังเจอวิกฤติโควิด-19 ระบาด เนื่องจากเป็นช่วงที่จีนปิดประเทศ เน้นให้ชาวจีนเที่ยวในประเทศ

\'ดุสิตธานี\' เปิด รร. ใหม่ \'จีน\' สู่ 33 แห่งใน 5 ปี ชี้วิกฤติยักษ์อสังหาฯไม่กระทบ

สำหรับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจจีนถดถอย จนรัฐบาลจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ยังมีชาวจีนเดินทางออกเที่ยวต่างประเทศไม่มากนัก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย กลุ่มดุสิตธานีจึงต้องปรับกลยุทธ์หาตลาดอื่นๆ มาช่วยเติม เช่น นักท่องเที่ยวจากเอเชียและตะวันออกกลาง รวมถึงตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ

“ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือรวม 53 แห่ง ตามแผนการเปิดโรงแรมใหม่ของกลุ่มดุสิตธานีอยู่ที่ 10-12 แห่งต่อปี เฉพาะปี 2566 เปิดโรงแรมใหม่ 10 แห่ง”

\'ดุสิตธานี\' เปิด รร. ใหม่ \'จีน\' สู่ 33 แห่งใน 5 ปี ชี้วิกฤติยักษ์อสังหาฯไม่กระทบ

ทั้งนี้ กลุ่มดุสิตธานีตั้งเป้ารายได้รวมปี 2566 เติบโต 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีรายได้ 5,130 ล้านบาท และเพื่อสร้างการเติบโตแก่กลุ่มดุสิตธานีอย่างต่อเนื่อง เตรียมนำ “ดุสิตฟู้ดส์” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อวัตถุประสงค์ขยายธุรกิจ เสนอขายหุ้น IPO แก่ประชาชนทั่วไปในช่วงปลายปี 2567 หลังกลุ่มดุสิตธานีได้เดินกลยุทธ์กระจายความหลากหลายสู่กลุ่มธุรกิจอาหาร ก่อตั้งดุสิตฟู้ดส์เมื่อปี 2561และสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้ได้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ทางกฎหมาย และวางโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทไว้แล้ว

ศุภจี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) อย่างมาก ราคาห้องพักโรงแรมใน “กรุงเทพฯ” ถูกมาก ตอนนี้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “กัมพูชา” และ “หลวงพระบาง สปป.ลาว” มีราคาห้องพักแพงกว่า แซงหน้ากรุงเทพฯไปแล้ว! จึงอยากแนะนำผู้ประกอบการโรงแรมว่าควรหากลยุทธ์อื่นๆ ในการทำโปรโมชัน มากกว่าคิดอะไรไม่ออก ก็เลือกใช้วิธี “ลดราคา” แทน

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่ทำให้ราคาห้องพักโรงแรมในประเทศไทยยังค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นเพราะมีซัพพลายโรงแรมจำนวนมากแข่งขันกันรุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มมูลค่าด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ลงทุนปรับปรุงโรงแรม แต่บางแห่งก็ไม่มีเงินเพียงพอในการปรับปรุง ทำให้สุดท้ายก็วนลูปกลับมาสู่วิธีลดราคาเพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยว

ด้านฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการประเมินแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวน 28-29 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายของ ททท. ซึ่งตั้งไว้ที่อย่างน้อย 25 ล้านคน จากล่าสุดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-20 ส.ค. 2566 จำนวน 17 ล้านคน หรือเฉลี่ยมากกว่า 2 ล้านคนต่อเดือน

หากในช่วง 4 เดือนสุดท้าย (ก.ย.-ธ.ค.) ซึ่งเข้าสู่ไฮซีซัน มีเดินทางเข้ามา 3 ล้านคนต่อเดือน ก็น่าจะไปถึงแนวโน้มดังกล่าวได้ หวังกระแสการเดินทางดีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 ซึ่งตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35 ล้านคน ปูทางสู่ภารกิจสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวให้ได้ถึง 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 80 ล้านคน

ททท.เดินหน้าส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง “เมืองหลักเราไม่ทิ้ง เมืองรองเราไม่ถอย” โปรโมตให้คนไทยเที่ยวข้ามภาคมากขึ้น เน้นกระตุ้นเมืองรอง ใช้ทุกองคาพยพที่มี เช่น ไลฟ์สไตล์ของสายมู และสายกิน ซึ่งปี 2567 จะผลักดันให้ “มิชลินไกด์” ลงพื้นที่แบบสุ่ม สำรวจร้านที่ได้มาตรฐานมิชลินทั่วประเทศไทย ไม่จำกัดเฉพาะในจังหวัดตามกำหนดเท่านั้น หลังจากปี 2566 เพิ่งเพิ่ม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่สำรวจใหม่ของมิชลินไกด์ พร้อมโปรโมตผ่านกลยุทธ์เจาะกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมย่อย (Sub-culture Movement) รวมถึงกลุ่มเวิร์กเคชัน (Workation) เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย