ปิดจุดอ่อนให้เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมสร้างธุรกิจยั่งยืน

ปิดจุดอ่อนให้เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมสร้างธุรกิจยั่งยืน

โลกหลังโควิด ทำให้เรื่อง "Digital Transformation" เกิดเป็นภาพที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะโลกธุรกิจ SME ที่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ได้อีกต่อไป

หากมองในภาพใหญ่ เราจะพบว่าปัจจุบันบทบาทของ SME ต่อระบบเศรษฐกิจไทยมีค่อนข้างมาก โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า SME กว่า 3 ล้านรายในประเทศไทยที่มีการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ มีสัดส่วนที่น้อยมาก หรือไม่ถึง 1% เท่านั้น 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุว่า สาเหตุสำคัญมาจากการที่ SME ยังขาดองค์ความรู้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากภายในและต่างประเทศ เช่น ข่าวรายวัน ผลงานวิจัยใหม่ๆ การศึกษาข้อมูลของผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นยังขาดเงินทุน เพราะการผลิตงานวิจัยหรือนวัตกรรมยังมีต้นทุนที่สูง ขาดเครือข่ายเชื่อมโยงต่างๆ ทั้งจากสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา จึงไม่มีโอกาสนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากนัก ขาดกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ในสถานประกอบการ และขาดเครื่องมือ ระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การกระจุกตัวของการพัฒนานวัตกรรมที่ส่วนใหญ่ยังอยู่แค่ในระดับส่วนกลางหรือระดับหัวเมือง จึงทำให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคยังติดอยู่กับรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้

ใช่ว่า SME จะไม่รู้ถึงความสำคัญนี้ จากผลสำรวจ ASEAN SME Transformation Study 2022 ของ ธนาคารยูโอบี หรือ UOB พบว่า 50% ของ SME ไทย ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การขับเคลื่อนสู่แนวทางความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของลูกค้า เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป

หนึ่งในการเปลี่ยนผ่านที่ SME ได้เริ่มเห็นประโยชน์และนำปรับใช้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดเก็บเอกสารต่างๆ สำหรับธุรกิจที่ใช้ Paper-based จะพบว่าในอดีตจะต้องใช้พื้นที่จัดเก็บมาก ต้นทุนสูง และโอกาสเกิดความผิดพลาดหรือสูญหายได้สูง หากธุรกิจปรับมาใช้การเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีอย่าง Cloud Computing ก็จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรไปได้มาก 

แม้กระทั่งการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยแล้ว หลังการเกิดขึ้นของพร้อมเพย์ในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะปรับมาใช้ในเชิงธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน และยังสะดวกต่อการยื่นภาษี รวมถึงการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น ได้เห็นผู้ให้บริการ ERP Accounting Software และผู้ให้บริการ Tax Service Provider ที่หลากหลายมากขึ้น 

ปิดจุดอ่อนให้เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมสร้างธุรกิจยั่งยืน

สำหรับ SME ในภาคอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ ทั้งต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost) ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehousing Costs) ต้นทุนบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Administration Cost) และต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Costs) ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงาน เช่น Internet of Things หรือ IoT ที่ช่วยเชื่อมต่อระบบขนส่งเข้ากับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถติดตามสินค้าในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำแบบเรียลไทม์ ซึ่งในอนาคตยังสามารถพัฒนาไปสู่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) รวมถึงยานพาหนะไร้คนขับ (Driverless Vehicles) มาใช้ในงานโลจิสติกส์ได้ ช่วยลดต้นทุน ลดปัญหาแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อีกมากในอนาคต

นอกจากนี้หากพูดถึง เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) หลายคนอาจจะคุ้นเคยมากขึ้นผ่านข่าวคราวของ คริปโทเคอเรนซี ที่ตื่นเต้นทุกครั้งที่ราคาขึ้นลง แต่รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) เป็นอีกเทคโนโลยีที่ SME สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้กับธุรกิจโลจิสติกส์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรวมรวบและบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าประเภทต่างๆ จำนวนหลายล้านชิ้น บล็อกเชนยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสระหว่างกระบวนการขนส่งให้อุตสาหกรรมนี้ด้วย นั่นเพราะสามารถติดตามสถานะและข้อมูลที่เป็น Single Source of Truth (ความจริงหนึ่งเดียว) ได้แบบเรียลไทม์ พร้อมป้องกันการขโมยพัสดุ รวมถึงลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนให้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย

PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกระบุว่า บล็อกเชนจะมีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และการตรวจสอบย้อนกลับ ในขณะเดียวกันก็สร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตรวจสอบแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ได้ และการที่บล็อกเชนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจขนส่งได้ ดังนั้นธุรกิจก็ควรวางพื้นฐานเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างจริงจัง

แม้ว่าอยากจะนำนวัตกรรมมาสร้างประสิทธิภาพทางธุรกิจ แต่สำหรับ SME แล้ว จุดอ่อนหนึ่งที่ทำให้ SME เสียเปรียบคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่คือ รายใหญ่จะมีเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาที่ได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่า ขณะที่ SME ไม่เพียงมีข้อจำกัดด้านงบประมาณการลงทุน ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เข้ากับส่วนต่างๆ ของธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต ทั้งการบริหารต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การเข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

นอกจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัลแล้ว แนวคิดเรื่องความยั่งยืนก็ส่งผลต่อวิธีคิดในด้านแนวทางการดำเนินงานของ SME ด้วยเช่นกัน จากผลสำรวจของธนาคารยูโอบี ระบุว่า 2 ใน 3 หรือคิดเป็น 65% ของ SME ในประเทศไทย โดยมองว่าแนวทางความยั่งยืนกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะส่งผลต่อธุรกิจ โดยผู้บริโภคชาวไทยมากกว่าหนึ่งในสอง เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทนยั่งยืนอันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดผลกระทบจาก ภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของลูกหลานพวกเขาในอนาคต ดังนั้นไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความเป็นดิจิทัลที่จะมีความสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาว แต่สิ่งสำคัญที่ SME ต้องตระหนักคือ การมีจิตสำนึกในการสร้างความยั่งยืนให้เข้าไปในกลยุทธ์ทางธุรกิจ ด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมประสิทธิภาพรากฐานทางธุรกิจ  

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย และ เดอะ ฟินแล็บ หน่วยงานบ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนานวัตกรรม (Innovation Accelerator) ภายใต้ธนาคารยูโอบี เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวที่ SME เผชิญอยู่ จึงได้เปิดตัวสนับสนุน SME ไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้โครงการ Smart Business Transformation (SBTP) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเป้าหมายหลักในการปรับเปลี่ยน SME ไทยให้เป็นองค์กรดิจิทัลให้ได้มากที่สุด ทั้งการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ ลดต้นทุนการดำเนินงาน มีการบริหารองค์กรที่ดีขึ้น และปรับปรุงความพร้อมสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างบูรณาการ

ตั้งแต่ปี 2562 มาจนถึงปัจจุบัน "ธนาคารยูโอบี" ได้สนับสนุนผู้ประกอบการในไทยกว่าพันราย เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ทั้งเสริมความพร้อมให้กับ SME ด้วยทักษะทางดิจิทัลและเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกเขาสามารถแข่งขันในตลาดได้ อีกทั้งยังเรียนรู้วิธีการบูรณาการความยั่งยืนให้เข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนเองและได้รู้จักกับระบบการเงินสีเขียวเพื่อความสำเร็จในระยะยาวได้ 

จริงอยู่ว่า SME อาจจะไม่คุ้นเคยหรือเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เพราะนั่นอาจจะต้องมีทรัพยากรมากพอที่จะลงทุน หรือนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจในแต่ละด้านให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันจากรายใหญ่ที่แข็งแกร่งกว่า การมีพันธมิตรที่เข้าใจปัญหา จะเป็นทางลัดหรือตัวช่วยให้ SME สามารถค้นหาความต้องการ และมองหาโซลูชันที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม การจัดอบรม รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญให้ปรึกษา พร้อมสนับสนุน SME ด้านการเงิน และสร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง พร้อมก้าวต่อไปในโลกอนาคตได้อย่างมั่นใจและยั่งยืน