โรงแรมตั้งรับ 'ขาดแคลนแรงงาน' ไฮซีซัน เพิ่มจ้างชั่วคราว-เสริมเทคโนโลยี

โรงแรมตั้งรับ 'ขาดแคลนแรงงาน' ไฮซีซัน เพิ่มจ้างชั่วคราว-เสริมเทคโนโลยี

ช่วง 'ไฮซีซัน' ของภาคท่องเที่ยวใกล้มาถึง อีกหนึ่งความกังวลของผู้ประกอบการ 'ธุรกิจโรงแรม' คือการเตรียมแนวทางรับมือกับปัญหา 'ขาดแคลนแรงงาน' ให้สอดรับกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีดีมานด์คั่งค้าง (Pent Up Demand) หลังต้องชะลอการเดินทางจากวิกฤติโควิด-19

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ก.ค. 2566 จัดทำโดยสมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 91 แห่ง พบว่าปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” ของธุรกิจโรงแรมในเดือน ก.ค. ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยกว่า 47% ขาดแคลนแรงงาน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของโรงแรมที่ตอบว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ แต่ยังไม่กระทบจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 18% ในเดือนก่อนเป็น 24% และเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือเป็นสำคัญ

“สำหรับไฮซีซันที่จะถึงนี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานจะมีมากขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้ตอบกว่า 88% ส่วนที่เหลืออีก 12% ระบุว่าไม่มีปัญหาในช่วงไฮซีซันที่จะถึงนี้”

ด้านแนวทางการรับมือกับปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงไฮซีซันนี้ พบว่าธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะจัดการกับปัญหาขาดแคลนแรงงานโดย “การจ้างงานแรงงานแบบชั่วคราว” (Casual) เพิ่มขึ้น ด้วยสัดส่วนผู้ตอบมากถึง 79% และเพิ่มทักษะและหน้าที่ของแรงงาน 73% นอกจากนี้โรงแรมบางส่วน 35% จะใช้เทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติ (Automation) ทดแทนแรงงานมากขึ้น ขณะที่ 28% จะเพิ่มค่าจ้างและค่า OT เพื่อดึงดูดแรงงาน และอีก 20% จะจ้างงานแบบประจำเพิ่มขึ้น

การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวยังได้สอบถามเกี่ยวกับประเด็นพิเศษ “ผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน” พบว่าธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่ 52% ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หากพิจารณาตามกลุ่มโรงแรม พบว่าโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว มีสัดส่วน 29% ที่ได้รับผลกระทบมาก โดยอาจผิดนัดชำระหนี้หรือต้องปรับโครงสร้างหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่โรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไปมีสัดส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มอื่น

สำหรับแนวโน้มลูกค้า “นักท่องเที่ยวจีน” เข้าพักในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ โรงแรมส่วนใหญ่ 61% ประเมินว่าในไตรมาส 3 ลูกค้าจีนจะกลับมาเข้าพักไม่เกิน 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด โดยส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางมาด้วยตัวเอง (F.I.T) และในไตรมาส 4 คาดว่าลูกค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ 69% ของผู้ตอบมองว่าสัดส่วนลูกค้าจีนที่กลับมายังน้อยกว่า 40% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19

หลังอัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57.5% จากเดือนก่อนซึ่งมี 45.5% โดยเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในบางประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเพิ่มขึ้น พื้นที่ภาคตะวันออกมีอัตราการเข้าพักสูงสุดเฉลี่ย 68% รองลงมาคือภาคกลาง 66.2% ภาคใต้ 58% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40% และภาคเหนือ 39.6% สำหรับคาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน ส.ค. อยู่ที่ 54.4%

“ภาพรวมสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนน้อยลง สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 60% ของผู้ตอบ โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง”

มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ถึงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมามีวันหยุดต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมีความพร้อมและสร้างทักษะใหม่ๆ (Upskill) การฟื้นความรู้นำสู่การปฏิบัติ (Reskill) รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดและทัศนคติ (Mindset) ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากร ทำการตลาดทั้งตลาดเก่าที่ต้องไปตอกย้ำ และตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อและเติบโตแบบก้าวกระโดด รวมไปถึงตลาดไมซ์ (MICE: การประชุม เดินทางเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ที่จะเสริมทัพการท่องเที่ยวให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการตลาดจากเชิงรุก มาเป็นการทำแฟมทริปเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับ “ท่องเที่ยวชุมชน” ที่เป็นเทรนด์การท่องเที่ยวแนวใหม่ในอนาคต สร้างความแข็งแรงพร้อมต่อยอดสู่ตลาดโลกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพราะขณะนี้หลายประเทศกำลังฟื้นตัวเปิดการท่องเที่ยวพร้อมกัน จนเกิดการช่วงชิงนักท่องเที่ยวรุนแรงมากขึ้น