ต่างชาติเที่ยวไทย 7 เดือน 15 ล้านคน เอกชนหวั่นตั้งรัฐบาลช้า สูญรายได้แสนล้าน

ต่างชาติเที่ยวไทย 7 เดือน 15 ล้านคน เอกชนหวั่นตั้งรัฐบาลช้า สูญรายได้แสนล้าน

ผ่านไป 7 เดือนแรกของปี 2566 'นักท่องเที่ยวต่างชาติ' เดินทางเข้าไทย 15.4 ล้านคน คิดเป็น 60% ของเป้าหมายอย่างน้อย 25 ล้านคนในปีนี้ 'ความท้าทาย' อยู่ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายที่ต้องทำยอดให้ได้อีก 10 ล้านคน ภายใต้ความกดดันโดยเฉพาะ 'เศรษฐกิจโลก' และความผันผวนของ 'การเมืองไทย'

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากสถิติ "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2566 พบว่ามีจำนวนสะสม 15,391,104 คน สำหรับ 5 อันดับแรกของชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด อันดับ 1 ยังคงเป็น มาเลเซีย ด้วยจำนวน 2,445,950 คน ส่วนอันดับ 2 คือ จีน 1,852,446 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 913,168 คน อันดับ 4 อินเดีย 888,807 คน และอันดับ 5 รัสเซีย 856,503 คน

เมื่อดูเฉพาะเดือน ก.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 2,476,413 คน โดย 5 อันดับแรกของชาติที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด อันดับ 1 คือ “จีน” 409,327 คน ถือเป็นเดือนแรกที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนแซงหน้ามาเลเซีย ซึ่งตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวน 341,236 คน อันดับ 3 เกาหลีใต้ 150,089 คน อันดับ 4 อินเดีย 127,344 คน และอันดับ 5 เวียดนาม 121,705 คน

“จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนตลอดเดือน ก.ค. พบว่าขยับเพิ่มเป็น 4 แสนคนแล้ว จึงมีลุ้นว่าในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จะมีจำนวนเดินทางเข้าไทยแตะ 5 แสนคนต่อเดือน โดยตลอดปี 2566 ททท.ล็อกเป้าหมายทางการตลาด ดึงนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยให้ได้ 5 ล้านคน และผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดมาไทยให้ได้อย่างน้อย 25 ล้านคนตามเป้าหมาย”

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวเสริมว่า ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในช่วง 7 เดือนแรก พบว่ามีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางแล้ว จำนวน 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียน 478,411 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมประมาณ 15 ล้านคน สร้างรายได้ท่องเที่ยว 744,132 ล้านบาท รวมมีรายได้การท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ 1.222 ล้านล้านบาท ทำให้อัตราการเข้าพักฟื้นขึ้นมาที่ 75% แต่อาจยังไม่ได้ฟื้นตัวเท่ากันทั่วประเทศ

สำหรับ “ตลาดในประเทศ” ททท.ปรับแผน “เพิ่มกำลังซื้อ” ของนักท่องเที่ยวไทยในปี 2567 ให้มีค่าใช้จ่ายถึง 4,000 บาท/คน/ทริป จากแผนเดิมจะผลักดันให้สำเร็จภายในปีนี้ เนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยในปีนี้นิยมออกเดินทางเที่ยวหลายทริปมากขึ้น ไม่ได้เน้นเดินทางแค่ทริปเดียวแต่ใช้จ่ายสูงเหมือนที่ผ่านมา ททท.จึงได้โปรโมตการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปีหรือ 365 วัน แม้จะมีการใช้จ่ายน้อยลง แต่ทำให้เกิดการกระจายเป็นหลายทริปมากขึ้น โดยปัจจุบันนักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายเฉลี่ย 2,800-3,200 บาท/คน/ทริป

ต่างชาติเที่ยวไทย 7 เดือน 15 ล้านคน เอกชนหวั่นตั้งรัฐบาลช้า สูญรายได้แสนล้าน

ฐาปนีย์ กล่าวถึงสถานการณ์ “การเมือง” ด้วยว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะส่งผลกระทบต่องบประมาณปี 2567 โดยเฉพาะในช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกหันมากระตุ้นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจัดเต็ม ทำให้ ททท.รอไม่ได้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือ “ไฮซีซัน” ในช่วงปลายปี 2566 การทำตลาดทั้งการสร้างภาพลักษณ์และการทำกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความสนุกสนานกลับมานั้น ต้องใช้เงินงบประมาณเข้ามาช่วย

“สถานการณ์การเมืองถือเป็นปัจจัยกดดันบรรยากาศการท่องเที่ยวช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนจะส่งผลให้เป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวพลาดเป้าหรือไม่ จากการประเมินเบื้องต้นขณะนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศยังไม่เห็นผลกระทบ ทุกคนยังอยากเดินทางท่องเที่ยว แต่ในตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังต้องดูแลบริหารความเสี่ยงต่อไป ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้และไกลที่เป็นเป้าหมายในการทำตลาดหลักของไทยต่อไป”

ต่างชาติเที่ยวไทย 7 เดือน 15 ล้านคน เอกชนหวั่นตั้งรัฐบาลช้า สูญรายได้แสนล้าน

ก่อนหน้านี้ ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ทำให้ สทท.ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยปี 2566 ลงมาเหลือ 28 ล้านคน จากเดิมประเมินว่าจะได้ 28-30 ล้านคน ซึ่งจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 100,000 ล้านบาท ไปไม่ถึงเป้ารายได้ 2.38 ล้านล้านบาทตามที่ ททท.ตั้งเป้าหมายเอาไว้! เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณที่จะมากระตุ้นภาคท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซันในไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย.) ขณะเดียวกันยังห่วง “ม็อบลงถนน” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 1 ได้ตามเป้าประมาณการจำนวน 6 ล้านคน และไตรมาส 2 ได้จำนวน 7 ล้านคน ถือว่าได้ตามเป้าเช่นกัน แต่ที่น่าเป็นห่วงคือไตรมาส 3 เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซัน ไม่มีงบประมาณมากระตุ้นเพิ่มเติม ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป โดยเกรงว่าไตรมาส 3 จำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะไม่ได้ตามเป้าที่ 8 ล้านคน หรือนักท่องเที่ยวหายไปประมาณ 2 ล้านคน ส่วนไตรมาส 4 มีโอกาสลุ้นที่จะได้นักท่องเที่ยว 9 ล้านคนตามเป้า ทำให้ภาพรวมทั้งปีน่าจะถึง 28 ล้านคน แต่ไปไม่ถึง 30 ล้านคน

ด้าน ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอยู่แล้ว หลายเรื่องต้องรอรัฐบาลใหม่มาแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นจะให้นักท่องเที่ยววางแผนเดินทางหรือภาคธุรกิจท่องเที่ยววางแผนการตลาด ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่มีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้กระทบมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว “กรุ๊ปทัวร์” ที่เข้ามายังไม่มากเท่าที่ควรในตอนนี้

“จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเท่ากับสถานการณ์ปกติให้ได้ ต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่เข้ามากระตุ้นตลาด เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดแรงจูงใจที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทย หรือท่องเที่ยวประเทศอื่นแล้วสนใจมาเที่ยวประเทศไทยต่อ”