‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’ เข้าตลาดฯ ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

ก้าวสำคัญรอบ 4 ทศวรรษ ของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” กับเป้าหมายสร้างการเติบโตในธุรกิจเพลงให้มีความแข็งแกร่ง รับบริบทโลกการฟังเพลง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จึง Spin-Off “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ทำการอนุมัติแผนการ Spin-Off ของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (GMM MUSIC) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงวางคอนเซปต์สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมเพลงสู่ “New Music Economy” และการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนจะนำเงินลงทุนที่ได้ไปขยายธุรกิจในขยายอุตสาหกรรมเพลงทั้งตลาด

พร้อมกันนี้ได้วาง 7 ยุทธศาสตร์ รุกธุรกิจ ได้แก่ 1.ขยายการผลิตเพลง ศิลปิน สร้างเพลย์ลิสต์ต่างๆ อีก “เท่าตัว” ดังนี้

- เพลงจาก 400 เพลงต่อปี เป็น 1,000 เพลงต่อปี

- ศิลปินจาก 120 ศิลปิน เป็น 200 ศิลปินภายใน 5 ปี

- Playlist เข้าสู่สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มจาก 3,000 Playlists เป็น 6,000 Playlists ต่อปี

- ผลงานเพลงอัลบั้มจาก 30 อัลบั้มต่อปี เป็น 50 อัลบั้มต่อปี

- ศิลปินฝึกหัดจาก 150 ศิลปิน เป็น 300 ศิลปินต่อปี

2.ขยายธุรกิจโชว์บิส โดยเฉพาะสเกลของเทศกาลดนตรี(Music Festival)ให้ครอบคลุจำนวนผู้ชมทั่วประเทศ มากกว่า 500,000 คนต่อปี ซึ่งจะเห็นการ “ร่วมมือกับทุกค่ายเพลง” ต่อยอดแหล่งรายได้ให้เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ ส่วนคอนเสิร์ตจะปลุกศิลปินระดับตำนานจนถึงปัจจุบันมาต่อยอด การผนึกพันธมิตรผู้นจัดงานหรือโปรโมเตอร์ ทั้งในและต่างประเทศในการขยาย เซ็กเมนต์ มุ่งสู่การเป็นผู้จัดงานระดับสากล ทั้งแฟนมีทติ้ง คอนเสิร์ตต่างๆ

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ ปั้นมิวสิค เฟสติวัล ยึดหัวหาดทั่วประเทศ

3.ขยายพันธมิตรทางดนตรี จะร่วมจับมือกับค่ายเพลงในประเทศไทย ผ่านการร่วมทุนและซื้อกิจการ(Mergers & Acquisitions : M&A ) เพื่อสร้างซีเนอร์ยีในการขยายการผลิตเพลง ขยายธุรกิจทุกช่องทาง ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตใหญ่ยิ่งขึ้น

4.ขยายการจับมือกับบริษัทชั้นนำในต่างชาติผ่านการร่วมทุนเพื่อการสร้างงานเพลง ส่งเสริมศิลปินไทย เดินหน้าสู่ศักยภาพ และมาตรฐานใหม่ในระดับสากล (Thailand Soft Power) เบื้องต้นบริษัทวางแผนจับมือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้นำในภูมิภาคต่างๆ (Global Leader) เช่น สหรัฐ, สแกนดิเนเวีย, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนนเสริมแกร่ง

ทั้งนี้ การร่วมทุนต่าง ๆ นี้จะคล้ายคลึงกับกรณีของ "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค"กับ บริษัท YG Entertainment ในการจัดตั้ง YGMM เพื่อคัดสรร และผลิตศิลปินไทยป้อนสู่ระดับสากล

 

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ 5. ขยายวงล้อมการเข้าถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพในทุกรูปแบบ และทุกช่องทางการสื่อสารผ่านการหารือหรือร่วมทุนกับพันธมิตรแลกเปลี่ยนศักยภาพทางธุรกิจที่ต่อยอดได้ไม่รู้จบผ่านทุกสื่อทั้ง On Air, On Board, Online และ On Ground ส่งเสริมการโปรโมทศิลปินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

6. ขยายศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูลหรือ Big Data ผ่านการลงทุนเพิ่มด้าน Data Scientist Machine Learning และระบบ AI พร้อมสร้าง Tools ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงการค้า การบริหารจัดการ และการพัฒนาศิลปิน รองรับธุรกิจแห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญด้านนำเสนอเพลงตอบโจทย์คนฟังเฉพาะแต่ละคน(Personalization Offering)

7. ขยายทีมงานแห่งอนาคตด้วยการลงทุนในบุคลากรรุ่นใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ ความคิดใหม่ ๆ และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเติมเต็ม สืบทอด ต่อยอด รองรับการก้าวไปข้างหน้าของธุรกิจเพลง

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

ภาวิต จิตรกร แม่ทัพธุรกิจเพลงจีเอ็มเอ็ม มิวสิค

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้เติบโตกลับมาถึงจุดที่เรียกว่า “Music Second Wave” ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรมทั่วโลกมียอดรายรับ “ทะลุจุดสูงสุดที่เคยสร้างไว้ในอดีต” ซึ่งสะท้อนภาพ “อุตสาหกรรมเพลงได้กลับมาสู่จุดรุ่งเรืองสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง และกำลังเติบโตขึ้น”

จากตัวเลขการคาดการรายรับ (World Business Projection) อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกจะเติบโตขึ้นอีกเป็นเท่าตัว  ภายในปี 2030 ซึ่งแน่นอนว่าเหตุผลหลักของการเติบโตนั้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การเติบโตของธุรกิจดิจิทัลสตรีมมิง และการเติบโตของธุรกิจโชว์บิส

"การ Spin-Off ในครั้งนี้จะทำให้มูลค่าของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคสะท้อนมูลค่าตลาดที่แท้จริงในอุตสาหกรรมเพลง และบริษัทยังมีความพร้อมที่จะขยายตัวได้อีกมาก”

ปี 2566เป็นปีที่บริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ มีอายุครบรอบ 40 ปี บริษัทไม่ได้มองแค่เพียงความสำเร็จของตัวเองในวันนี้แล้ว แต่มองไปอนาคตอีก 40 ปีข้างหน้า  เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเพลงไทยเติบโตร่วมไปกับทุกศิลปิน ทุกค่ายเพลง เพื่อความเจริญรุ่งเรือง สร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เติบโตไม่แพ้สัดส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจเพลงในตลาดโลก (For The Next 40 years of Music Legacy) ภายใต้กรอบความคิดใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ และคนหัวคิดสมัยใหม่

"ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เราเดินทางสร้างตลาด เปลี่ยนผ่านจากความเป็น Music Company สู่ Music Infrastructure จนวันนี้เราจะเดินหน้าสู่การเป็น New Music Economy ที่จะสร้างผลลัพธ์ที่เป็นเลิศให้กับทุกคนในอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ทายาท "อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม"

นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กล่าวว่า การ Spin-Off ที่จะเกิดขึ้นนี้ บริษัทตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่มีความแข็งแรง ทั้งขนาดรายได้ ขนาดกำไร คุณภาพของศิลปิน และคุณภาพของทีมงาน หากผลักดัน New Music Economy ได้นั้น อาจหมายถึงการเติบโตการผลิตได้ถึง 2 เท่า และอาจสร้างรายได้เติบโตได้เป็น 2 เท่าเช่นกัน

“หากเราสามารถสร้างความร่วมมือ และพันธมิตรได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า ตลาดก็น่าที่จะเติบโตได้เป็น 2 เท่าเช่นกัน มุมความคิดเหล่านี้ ล้วนสอดคล้องกับการเจริญเติบโตของตลาดโลก ที่ไม่ได้เติบโตแค่ในเชิงของคุณภาพเพียงแค่นั้น หากแต่เติบโตด้วยเรื่องของขนาด เป็นอีกนัยยะสำคัญหนึ่งเช่นกัน”

ทั้งนี้ การเติบโตที่มาจากทั้งพื้นฐานธุรกิจที่มั่นคง และความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ และพันธมิตรทุกสาขา (Strategic Growth) ณ ปัจจุบัน บริษัทจึงเตรียมการด้าน Strategic Investment อย่างเป็นรูปธรรม

"ปัจจุบันเราได้ทำการเจรจา และอยู่ในขั้นตอนการสรุปดีลกับพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศความร่วมมือต่าง ๆ ได้ภายในไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 ของปี 2566 นี้”

‘แกรมมี่’ ดัน ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’  เข้าตลาดฯ  ระดมทุน พลิกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีรายได้จาก 5 กลุ่ม ได้แก่ 1ธุรกิจเพลงดิจิทัลมูลค่า 1,152 ล้านบาทสัดส่วน 34% 2. บริหารจัดการศิลปิน ฯ มียอดรายได้ 1,177 ล้านบาทสัดส่วน 35% 3. โชว์บิส คอนเสิร์ต 678 ล้านบาท สัดส่วน 20% 4. บริหารจัดการลิขสิทธิ์ 234 ล้านบาท สัดส่วน 7% และ5.จำหน่ายสินค้าเพลงผ่าน Physical มีรายได้ 147 ล้านบาท สัดส่วน 4% (ข้อมูลอ้างอิงจากรายได้ 12 เดือนย้อนหลังของธุรกิจเพลง นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 ถึงไตรมาส 1 ปี 2566)

“บริษัทตั้งประมาณการที่จะสร้างรายได้ที่ 3,800 ล้านบาท ในปี 2566 นี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าสู่การสร้างผลประกอบการแบบ New High ภายในปี 2567 ซึ่งแผนงานทั้งหมดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ New Music Economy ภายใต้การ Spin-Off ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค”