'แอร์ไลน์' ฟื้นรูทบินเอเชียเจาะ 'CIA' ปลุกดีมานด์ต่างชาติเที่ยวไทยไฮซีซัน

'แอร์ไลน์' ฟื้นรูทบินเอเชียเจาะ 'CIA' ปลุกดีมานด์ต่างชาติเที่ยวไทยไฮซีซัน

'สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย' ประเมินว่า 'ภาคธุรกิจการบิน' จะเริ่มฟื้นตัว 100% ในไตรมาส 4 ปี 67 และกลับมาทั้งหมดในปี 68 เท่ากับยุคก่อนโควิด-19 เมื่อปี 62 'สายการบิน' ต่างรุกเปิดเส้นทางบินทั้งเก่าและใหม่ช่วงกลางปี เพื่อกระตุ้นดีมานด์สู่จุดพีค 'ไฮซีซัน' ไตรมาส 4

โดยเฉพาะ “นักท่องเที่ยวเอเชีย” ที่มีกลุ่มตลาด CIA” เวอร์ชันใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก! ประกอบด้วย จีน อินเดีย และอาเซียน เป็นหัวหอกนำความหวัง ผลักดันจำนวน “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าไทยให้ได้อย่างน้อย 25 ล้านคนในปี 2566 และเพิ่มเป็น 35 ล้านคนในปี 2567 ตามเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

รายงานข่าวจากสายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” ระบุว่า ไทยไลอ้อนแอร์ เตรียมกลับมาทำการบินเส้นทางไปยัง “จีน” อีกครั้ง เพื่อรองรับการเดินทางระหว่างประเทศ บินตรงไป-กลับจาก กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ 6 เส้นทาง ได้แก่ กว่างโจว เฉิงตู หางโจว เซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และซีอาน เส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อวัน ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 และ B737-900ER เริ่มทำการบินในวันที่ 15 ส.ค. 2566 ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางจากประเทศจีน 6 เส้นทางข้างต้น จะเริ่มทำการบินในวันที่ 16 ส.ค. 2566

ขณะเดียวกัน ไทยไลอ้อนแอร์พร้อมกลับมาให้บริการเส้นทางบินสู่ โตเกียว” (นาริตะ) ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง ในเส้นทาง “กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - ไทเป - โตเกียว (นาริตะ)” เริ่มทำการบินในวันที่ 16 ก.ย. 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากกรุงโตเกียวเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวเรียกร้องให้กลับมาเปิดบริการอยู่เสมอ โดยไทยไลอ้อนแอร์พร้อมพาผู้โดยสารบินจากกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ทำการแวะที่ไทเป ก่อนลงจอดที่โตเกียว (นาริตะ) ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 มีจำนวนเที่ยวบินทั้งหมด 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ช่วยให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้นระหว่างสองเส้นทางบินนี้ และผู้โดยสารยังสามารถขึ้นเครื่องจากไทเปและโตเกียวได้อีกด้วย ทั้งนี้โปรโมชั่นราคาบัตรโดยสารเริ่มต้นที่ 3,995 บาทต่อเที่ยวบิน

เคลย์ ซุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท EVA Airways Corporation กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. สายการบิน EVA Air ได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) กับ ททท. เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ผ่านเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบิน EVA Air ที่ครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย

เมื่อดูเฉพาะภูมิภาคเอเชีย มีเที่ยวบินตรงจำนวน 28 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ระหว่างกรุงเทพฯ - ไทเป ไต้หวัน เที่ยวบินจากกรุงเทพฯ สู่ 10 จุดหมายปลายทางในสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปักกิ่ง นานจิง หางโจว เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เซี๊ยะเหมิน เซินเจิ้น กว่างโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง) ผ่านไทเป และ 8 จุดหมายปลายทางในญี่ปุ่น (นาริตะ ฮาเนดะ นะฮะ คันไซ ฟุกุโอกะ โคมัตสุ ซัปโปโร) ผ่านไทเป รวมถึงเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ - กรุงโซล เกาหลีใต้ ผ่านไทเป

ด้าน นิติกร คมกฤส ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ สายการบินไทยเวียตเจ็ท กล่าวว่า ไทยเวียตเจ็ท” มองเห็นโอกาสจากเส้นทางบินระหว่างประเทศจาก “อินเดีย” ซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูงและนักเดินทางมีศักยภาพ โดยกลุ่มนักเดินทางช่วงนี้จะเป็นกลุ่มอายุน้อย ในขณะที่จำนวนนักเดินทางเพื่อธุรกิจปรับลดลง

รายงานจาก ททท. ระบุว่า ตลาดการบินใน “อินเดีย” น่าจับตามองอย่างมาก พฤติกรรมนักท่องเที่ยวอินเดียส่วนใหญ่นิยมใช้บริการสายการบินสัญชาติอินเดีย จากการติดตามสถานการณ์ตลาดเส้นทางบิน ไทย-อินเดีย พบว่ายุคหลังโควิด-19 มีสายการบินให้บริการ 9 สาย บินตรงจากอินเดีย 10 เมือง มีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 180 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นกว่า 39,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์ มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 70-75% โดยสายการบินใหม่ Akasa Air” มีแนวโน้มเริ่มให้บริการภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ยุคก่อนโควิด มีสายการบินให้บริการ 10 สาย บินตรงเชื่อมอินเดียจาก 13 เมืองเข้าไทย มีจำนวนเที่ยวบินประมาณ 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นกว่า 62,000 ที่นั่งต่อสัปดาห์

สำหรับตลาดการบินใน “อาเซียน” สายการบินต่างๆ เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง เช่น สายการบิน “นกแอร์” เตรียมเปิดเส้นทางบินสู่ “สิงคโปร์” เร็วๆ นี้ หลังสถานการณ์เที่ยวบินระหว่าง ไทย-สิงคโปร์ กลับมาเกือบปกติ โดยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้มีนักท่องเที่ยวสิงคโปร์เดินทางเข้าไทยสะสม 439,239 คน มากเป็นอันดับ 9 ของชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสูงสุด โดยกว่า 88% เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) และกว่า 90% เป็นกลุ่มเดินทางซ้ำ สะท้อนว่าชาวสิงคโปร์รู้จักสินค้าท่องเที่ยวในไทยเป็นอย่างดี

สายการบิน “แอร์เอเชีย” กำลังวางแผนเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - เซบู ใน “ฟิลิปปินส์” เพื่อรองรับดีมานด์นักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์ ซึ่ง ททท.ตั้งเป้าปี 2566 ไว้ที่ 3 แสนคน หลังจาก 6 เดือนแรกมีจำนวนสะสมแล้ว 196,114 คน

ด้านสายการบิน “มายแอร์ไลน์” (MYAirline) สายการบินโลว์คอสต์หน้าใหม่จาก “มาเลเซีย” ล่าสุดเปิดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ เส้นทางแรกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์สู่ กรุงเทพฯ รวม 2 สนามบิน เส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อวัน โดยสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มทำการบินเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. และสนามบินดอนเมือง เริ่มเมื่อวันที่ 1 ก.ค. นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดเส้นทางบินไปยังภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ และสมุย คาดทราบความแน่ชัดในเดือน ส.ค.นี้

ขณะที่ภาพรวมตลาดเส้นทางบิน ไทย-มาเลเซีย ปัจจุบันให้บริการ 256 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จากสายการบินให้บริการรวม 8 สาย เมื่อรวมกลุ่มเดินทางทางอากาศกับทางบกแล้ว พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียเข้าไทยสะสม 1,906,078 คน มากเป็นอันดับ 1 ของตลาดต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนรวม 12,661,747 คน