“เบียร์คาราบาว” มาแน่ปลายไตรมาส 3 “เสถียร” เจ้าพ่อน้ำเมาคนใหม่ คอนเฟิร์ม!

“เบียร์คาราบาว” มาแน่ปลายไตรมาส 3  “เสถียร” เจ้าพ่อน้ำเมาคนใหม่ คอนเฟิร์ม!

หลังลงทุนใหญ่ 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเบียร์ “เบียร์คาราบาว” สินค้าแรกจะเห็นปลายไตรมาส 3 แน่นอน เจ้าพ่อคาราบาว "เสถียร" เดิมพันครั้งสำคัญในตลาดน้ำเมาสีอำพันแสนล้าน เผยทุ่มเทบินไปเยอรมนีทุกเดือนเพื่อหามือปรุงเบียร์มาสร้างสูตรลับ

เส้นทางเลือดนักสู้ของ “เสถียร เสถียรธรรมะ” เกิดตั้งแต่สมัยเรียน เป็นคนตุลาฯที่ต้องหนีเข้าป่า ไปใช้ชีวิตเอาตัวรอด และยังมีวิสัยทัศน์ทำธุรกิจ สร้างเนื้อตัวจาก “เครื่องดื่มชูกำลัง” จนกลายเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่

จากเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ “เสถียร” ยังเคลื่อนทัพธุรกิจเข้าสู่น้ำเมากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยเงินทุน 3,000 ล้านบาท มีเหล้าขาว เป็นสินค้าตัวแรก ปัจจุบันสินค้าหลายตัวอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ ทั้งสุราสี วิสกี้ แม้กระทั่งโซจู ฯ

 

ทำเบียร์ยากกว่าเหล้า แต่ไตรมาส 3 พร้อมเปิดตัว

ล่าสุด “เบียร์คาราบาว” ที่ “เสถียร” หมายมั่นปั้นมือสู่กระป๋อง และขวด เตรียมพร้อมทำตลาดปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หลังจากตระเตรียมการผลิตพร้อมแล้ว “เบียร์ทำยากกว่าเหล้า” เสถียร บอก

 

โจทย์แรก ต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่โดนใจผู้บริโภคจากภายในสู่ภายนอก หมายถึงรสชาติ ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย บรรจุภัณฑ์เตะตา โดดเด่น แล้วไปติดอาวุที่ “ช่องทางจำหน่าย” กระจายให้ถึงมือคอทองแดง และมีกลยุทธ์การทำตลาดที่ปัง ซึ่งอย่างหลังมีข้อจำกัด เพราะกฎหมาย “ห้าม” ไม่ให้โฆษณาตราสินค้า สร้างแบรนด์ใดๆ เห็นได้แค่แบรนด์องค์กรหรือ Coporate Brand เท่านั้น กฎเหล็กนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแบรนด์องค์กรถูกมาใช้เป็นแบรนด์เบียร์ของ “เจ้าพ่อคาราบาว”

“ตอนนี้ต้องบินไปเยอรมนีทุกเดือน” เหตุผลเพราะเบียร์ทำยากกว่าเหล้า แม้ “เสถียร” จะมีประสบการณ์ทำเบียร์มานานนับทศวรรษ จากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมาแล้วก็ตาม การเดินทางไปยัง “เมืองเบียร์” แค่ชื่อก็บอกว่าเป็น “ต้นตำรับ” น้ำเมาสีอำพันขึ้นชื่อของโลก ดังนั้นต้องควานหาสูตรเบียร์ นักปรุงเบียร์(Brewmaster) มารังสรรค์ผลิตภัณฑ์หัวหอกเพื่อแจ้งเกิดให้ได้

ลงทุนใหญ่ รุกน้ำเมาสีอำพัน

จากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สู่เบียร์ลาร์เกอร์ ลงกระป๋อง และขวด เจ้าพ่อคาราบาว ควักงบลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนใหญ่รอบ 6 ปี เพื่อสร้างโรงงานผลิตสินค้าบนพื้นที่เดิมของโรงงานน้ำเมา ที่จังหวัดชัยนาท

ตามแผนจะมีกำลังผลิตประมาณ 400 ล้านลิตรต่อปี แต่ผลิตเฟสแรกประมาณ 200 ล้านลิตร

ส่วนช่องทางจำหน่ายอาศัย “กระดูกสันหลัง” ของอาณาจักรคาราบาว ที่

มีห้างค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น “ซีเจ มอร์” ที่มีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต และมอลล์(คือร้านซีเจ มอร์ ที่มีบาว คาเฟ่, อูโนะ, นายน์ บิวตี้ ฯ) รวมถึงร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เพราะร้านค้าทั่วไปเหล่านี้ ส่วนใหญ่ “ขายเหล้า-เบียร์-บุหรี่” ทำเงินมากสุด เมื่อเทียบกับสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ สินค้าจำเป็น ฯ

“พอเราทำเหล้า เป็นไฟต์บังคับให้ต้องทำเบียร์ เพราะถ้าไม่มีเบียร์ โอกาสโตยาก เนื่องจากเหล้าสี เทนโดะ วิสกี้ หรือแทยังโซจู ต้องขายใน On-Premise แต่ช่องทางเหล่านี้ขายเบียร์เยอะสุด เราต้องทำเบียร์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง” เสถียร เคยเล่ากับ “กรุงเทพธุรกิจ”

 

"บิ๊กเบียร์" เคลื่อนทัพแข่งเดือด!

สถานการณ์ตลาดเบียร์เป็นอย่างไร เมื่อสมรภูมิ “แสนล้านบาท” เต็มไปด้วย “ยักษ์ชนยักษ์” ทั้ง “สิงห์-ช้าง-คาราบาว”

บิ๊กคอร์ป บิ๊กแบรนด์ มาพร้อมบิ๊กมูฟ อย่าง “ไทยเบฟเวอเรจ” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ไม่เพียงมีโรงเบียร์ในประเทศไทย แต่การถือหุ้นใหญ่ใน SABECO จึงเดินหน้าผุด “Jumbo Project” สร้างโรงเบียร์ 6 แห่ง ในประเทศเวียดนาม

ส่วน “สิงห์” ล่าสุด ธิตินันท์ ชุ่มภาณี ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดแบรนด์แอลกอฮอล์ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เผยในเวทีการมอบรางวัล Marketeer No.1 Brand Thailand 2023 ว่าอีก 2 เดือนจะเห็น “ผลิตภัณฑ์ใหม่” จากบริษัท ซึ่งค่ายบุญรอดฯ ในฐานะมี “เบียร์ลีโอ” เป็นเบอร์ 1 เมื่อคู่แข่งใหญ่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรดต้นคอ ต้องหาทางฉีกหนีให้ห่าง วิ่งอยู่ยังเจอ “หน้าใหม่” รุ่นใหญ่เข้ามาแข่งอีก

นอกจากตลาดในประเทศ ที่ “บุญรอด” แกร่งรุกเบียร์มากว่า 90 ปี ยังต่อจิ๊กซอว์ในต่างแดนด้วย ซึ่ง วรวุฒิ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด เล่าว่า บริษัท ได้เข้าไป “สร้างฐานการผลิตเบียร์ในประเทศอังกฤษ” เพื่อป้อนสู่ตลาดในแถบยุโรปรองรับดีมานด์ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเ รวมไปถึง “ขยายพันธมิตรด้านการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์” เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม พร้อมสร้างโอกาสในการเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต ปูทาง “สิงห์” ก้าวสู่การเป็น Global Brand ต่อไป