'แอตต้า' ชงรัฐอัดยาแรงเว้นค่าวีซ่า 'นักท่องเที่ยวจีน' หนุนเยือนไทย 8 ล้านคน
'สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว' (แอตต้า) ชงรัฐบาลใหม่อัดยาแรง ออกมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่ากระตุ้นตลาด 'จีนเที่ยวไทย' เบื้องต้นนาน 3 เดือน กู้ยอดนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวอืด ไปให้ถึง 5 ล้านคนตามเป้าหมายปี 2566 ของ 'ททท.' ก่อแรงส่งถึงปี 2567 ดันจำนวนแตะ 7-8 ล้านคน
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) และตัวแทนสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย หรือ เฟตต้า (FETTA) เปิดเผยว่า เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวแบบแรงๆ และเร่งด่วน เช่น มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าแก่ “นักท่องเที่ยวจีน” เบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยทำมาแล้วหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มจังหวัดภูเก็ตเมื่อปี 2561 เพื่อฟื้นความเชื่อมั่น หวังครั้งนี้จะช่วยจุดกระแสชาวจีนให้เดินทางเข้าไทยมากยิ่งขึ้น
โดยปัจจุบันตลาดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยยังค่อนข้างอืด เป็นเรื่องยากที่จะไปถึงเป้าหมาย 5 ล้านคนในปีนี้ตามที่ ททท. ตั้งไว้ หลัง 6 เดือนแรกเดินทางเข้ามาประมาณ 1.6 ล้านคน ต้องลุ้นหนักอีก 3.4 ล้านคนใน 6 เดือนหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้านักท่องเที่ยวจีนไม่ถึง 5 ล้านคนปีนี้ ภาคท่องเที่ยวไทยจะมีปัญหา! หลังประเทศจีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ จากสงครามการค้า การย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน และสงครามเทคโนโลยี
ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ต่างทำตลาดชิงนักท่องเที่ยวจีนแข่งกับไทย เช่น มาเลเซีย ขอวีซ่าง่ายกว่า ใช้เวลาดำเนินการเพียง 1-3 วันก็เสร็จแล้ว ค่าธรรมเนียม 200 หยวนต่อครั้ง ต่างจากประเทศไทยที่กำหนด “ค่าธรรมเนียมขอวีซ่า” ผ่านสถานกงสุลประมาณ 200 หยวนต่อครั้ง แต่เมื่อรวมค่าธรรมเนียมให้บริการของบริษัททัวร์จะอยู่ที่ประมาณ 400-500 หยวนต่อครั้ง ส่วนค่าวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival : VOA) อยู่ที่ 500 หยวนต่อครั้ง ทำให้นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์จีนบางส่วนเปลี่ยนใจไปเที่ยวมาเลเซียแทน
“ทั้งนี้คาดการณ์ว่ากว่าตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนจะกลับมาฟื้นตัวเที่ยวไทยดีขึ้นก็น่าจะเป็นปี 2567”
ศิษฎิวัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเป้าหมายนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ในปี 2567 ที่ ททท.ตั้งเป้าล่าสุดจำนวน 25.8 ล้านคน มองว่ามีความเป็นไปได้ เพราะในปีหน้าตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนจะฟื้นตัวชัดเจน จึงคาดว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 7-8 ล้านคน แม้ปี 2566 ยังมีปัญหาติดขัดการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทย ทำให้ยังต้องลุ้นเหนื่อยว่านักท่องเที่ยวจีนจะไปถึงเป้าหมาย 5 ล้านคนของ ททท. หรือไม่ หลังจากแนวโน้มในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) มากกว่า
ทั้งนี้ เมื่อลงลึกเป้าหมายนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ 25.8 ล้านคนของ ททท.ในปี 2567 ตามที่มองว่าตลาดเอเชียตะวันออกจะได้ 12.48 ล้านคน แอตต้าประเมินเบื้องต้นตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะมีนักท่องเที่ยวรวมกันที่ 3 ล้านคน ตลาดฮ่องกง 1 ล้านคน ตลาดไต้หวัน 6-7 แสนคน ส่วนที่เหลือคือตลาดจีน 7-8 ล้านคนนั่นเอง
ด้านเป้าหมายตลาดอาเซียน 10.5 ล้านคน แอตต้าประเมินว่าจะเป็นตลาดมาเลเซีย 4 ล้านคน ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น สปป.ลาว น่าจะมีจำนวน 1.8 ล้านคน สิงคโปร์ 1 ล้านคน เวียดนาม 1 ล้านคน อินโดนีเซีย 7 แสนคน และฟิลิปปินส์ 3-4 แสนคน ส่วนตลาดเอเชียใต้ 2.1 ล้านคนนั้นเป็นไปได้แน่นอน และตลาดโอเชียเนีย ก็น่าจะได้ตามเป้า 7.87 แสนคนเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ “สมาคมสายการบินประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบิน ได้มีข้อเสนอและแนวทางฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงรัฐบาลใหม่ หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบินในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย และ “การลดค่าธรรมเนียมวีซ่า” ตลอดจน “ฟรีวีซ่าระยะสั้น” ให้กับนักท่องเที่ยวจากบางประเทศ
ด้านนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (เอฟไอที) จากรายงานข่าวจาก “แอร์บีแอนด์บี” (Airbnb) แพลตฟอร์มจองที่พักออนไลน์ระดับโลก ระบุว่า ประเทศไทยรั้งอันดับ 1 จุดหมายปลายทางที่ชาวจีนค้นหามากที่สุดบน Airbnb ในช่วงฤดูร้อนปี 2566 โดยอ้างอิงจากข้อมูลการค้นหาที่พักของชาวจีนช่วงฤดูร้อนบน Airbnb ระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค. พบว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยครึ่งหนึ่งของการค้นหาแผนการเดินทางเป็นการเข้าพัก 7 วันหรือนานกว่านั้น
นอกจากนี้ นักเดินทางชาวจีนยังมองหาจุดหมายปลายทางที่หลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศมีการค้นหาบน Airbnb เพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าปัจจุบันการเดินทางระหว่างประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลของ Airbnb ยังระบุว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศของแต่ละประเทศทั่วภูมิภาคได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยสำหรับประเทศไทยพบว่าการจองที่พักภายในประเทศผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb นั้นเพิ่มขึ้นกว่า 35% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2562