ความคาดหวังของ CEO ต่อบทบาท HR ในยุค Next Normal
'คน' ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและมีบทบาทในการนำพาองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ HR (ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร
ดังนั้น บุคลากรในฝ่าย HR ทุกระดับ โดยเฉพาะ HR Manager จึงจำเป็น ที่จะต้องมีความเข้าใจความคาดหวังที่องค์กรและ CEO มีต่อฝ่าย HR ในบทบาทภาระหน้าที่งานของ HR ต่อความต้องการของธุรกิจ
โดยเฉพาะ HR Manager ในยุค New Normal ที่มีการเปลี่ยนแปลงถาโถมเข้ามาแบบรอบด้าน ซึ่งการทำงานการบริหารบุคลากรแบบเดิมคงไม่ใช่สิ่งที่องค์กร และ CEO คาดหวังในอดีต แล้วอะไร คือความคาดหวังของ CEO ยุค New Normal ต่องาน HR
ทำไม HR จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็น?
ในอดีตกาลนานมา HR จะใช้ในความหมายที่เชิงการบริหารงานบุคคล (personnel management) ซึ่งเป็นความหมายที่แคบกว่า โดยมองการบริหารบุคคลที่เกี่ยวกับกิจกรรมและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับได้มาซึ่งทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาและการรักษาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนถึงการให้พ้นจากงาน จึงมีลักษณะเป็นงานบริการและงานธุรการ
ต่อมาคำว่า 'การจัดการทรัพยากรมนุษย์' ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากมีการให้ความสำคัญว่า 'คน' คือหัวใจสำคัญขององค์กร และฝ่ายที่ต้องดูแลบริหารคนโดยตรงก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคล HR
ดังนั้น HR จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกองค์กร หน้าที่ของ HR จึงเป็นการสนับสนุนการเติบโตขององค์กร ที่จะต้องหาทางเชื่อมพนักงานในองค์กร ให้มองเห็นวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ในการทำงานขององค์กร เพราะเมื่อมีเป้าหมายเดียวกัน ก็จะช่วยให้เดินหน้าไปถึงเป้าหมายด้วยดีได้ ดังนั้น HR ในความหมายการจัดการทรัพยากรมนุษย์จึงกว้างขวางกว่าคำว่า 'การบริหารงานบุคคล' มากมาย
องค์ประกอบใหญ่ๆ 4 ตัวในการที่จะทำให้เกิดทั้งการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต เริ่มตั้งแต่
1.Process หรือขั้นตอนในการทำงาน
2.Structure โครงสร้างขององค์กร
3.เทคโนโลยีที่ใช้ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
และอีกองค์ประกอบที่สำคัญนั่นคือ People หรือ คน โดยจะมี 2 องค์ประกอบสำคัญที่ HR จะเข้าไปเกี่ยวข้องเยอะนั่นคือ Structure และ People
ดังนั้น Structure จะเป็นตัวกำหนดตั้งต้นที่สำคัญ HR ต้องเข้าใจและรู้ดีว่า Structure จะบอกถึงทั้ง Job Scope, Job Description, Job Evaluation กระบวนการทำงานของ HR ทั้งหมด การทำตามกระบวนการทั้งหมดจะเป็นตัวผลักดัน Performance ของพนักงาน หรือ People
ดังนั้นหน้าที่สำคัญของ HR ก็คือการทำอย่างไรให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของคนในองค์กรออกมามากที่สุด
ความคาดหวังของ CEO ต่อฝ่าย HR ในยุค New Normal
1. HR ต้องเข้าใจธุรกิจ-คิดเชิงกลยุทธ์ได้
HR ต้องมีความสามารถในการทำหน้าที่เป็นคู่คิดทางธุรกิจ ต้องเข้าใจธุรกิจขององค์กรเป็นอย่างดี HR จะต้องสามารถวางยุทธศาสตร์ทางด้านคนขององค์กรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์องค์กร ได้อย่างชัดเจนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของคน ความรู้ทักษะที่มี ที่ต้องพัฒนา ฯลฯ ต้องตอบโจทย์แผนธุรกิจในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน HR จะต้องสามารถวิเคราะห์ตัวเลขในด้านต่างๆ ทางธุรกิจได้ และสามารถที่จะวิเคราะห์และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรได้ โดยที่ CEO สามารถเชื่อถือ และนำเอาสิ่งที่พยากรณ์ไปใช้งานได้จริง
ในการที่จะทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจได้นั้น ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต้องไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานด้าน Admin หรืองานประจำวัน (Routine) ดังนั้นต้องบริหารจัดการงานประจำวันให้เป็นระบบ ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงาน พร้อมกับทำหน้าที่ประสานระหว่างพนักงานและผู้บริหารให้มีความเข้าใจที่ดีต่อกัน
2. HR ต้องเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
งานของ HR คงไม่ใช่แค่การเป็น Admin Expert แต่ต้องทำตัวเป็น Strategic Diver ต้องมีบทบาทเป็น Change management นั่นคือการทำอย่างไรที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เป็น Game Changer เพื่อเปลี่ยนแปลง Mindset ของคน
HR ต้องปรับกระบวนการทัศน์ และวัฒนธรรมการปฏิบัติงานของทรัพยากรบุคคล เป็นรายคน เป็นกลุ่ม/ทีม และทั่วองค์กร HR จะต้องเข้าใจทิศทางและเป้าหมายขององค์กร ทั้งในระยะสั้น- กลาง- ยาว ต้องสามารถมองว่าทรัพยากรในปัจจุบันเพียงพอไหม มีความสามารถด้านไหน และต้องการด้านใดอีก เช่น ถ้าองค์กรจะเปลี่ยนเป็นธุรกิจข้ามชาติ เราจะส่งพนักงานเดิมไปหรือไม่? หรือสรรหาพนักงานใหม่ที่เป็นคนท้องถิ่น? หรือการบอกว่าองค์กรจะเติบโต 2 เท่า มันไม่ใช่แค่การขยายกำลังการผลิต แต่ต้องดูว่า Workforce ที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่? หรือต้องวางแผนเพิ่มกำลังคน HR จะต้องวางแผนให้ตอบโจทย์การเติบโตของธุรกิจด้วยเช่นกัน
3. HR ต้องเป็นผู้ประสานสิบทิศทุกฝ่ายทุกภาคส่วน
ถึงแม้งาน HR จะเป็นงานเบื้องหลัง แต่ว่า HR ถือเป็นทีมเบื้องหลังที่คอยซัพพอร์ตการเติบโตขององค์กร สิ่งสำคัญของการเป็น HR ที่ดีก็ คือ การมีทัศนคติด้านมนุษย์ นั่นหมายถึง การเข้าใจมนุษย์ เข้าวิธีคิดและความแตกต่างของคน เข้าใจในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในองค์การ ความไว้วางใจในระหว่างพนักงานและฝ่ายงานต่างๆมีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์การ ความไว้วางใจกันและการร่วมมือกันจะเกิดขึ้นได้โดยการสร้างให้เกิดค่านิยม (Values) ในการอยู่ร่วมกันเพื่อการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่การใช้กฎระเบียบและการติดตามควบคุม แต่เป็นการ ซึ่งการสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความโปร่งใส ยุติธรรม และการเอื้อให้เกิดการเปิดรับฟังซึ่งกันและกัน
เมื่อใดที่พนักงานมีความคับข้อง HR ต้องไม่ลืมที่ต้องสร้างความสุขให้กับคนในองค์กรด้วย เพราะตราบใดที่พนักงานมีความสุขในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นตามมา ฉะนั้น HR ที่ดีต้องทำงานด้วยใจ คอยให้บริการและช่วยเหลือพนักงาน สนับสนุนให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ ได้แสดงฝีมือ ได้คิดอะไรใหม่ ๆ ก็จะทำให้ผลงานของเขาเองดียิ่งขึ้น
ดังนั้น งานที่สำคัญของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ คือ การสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์การ (Organizational Culture and Values) ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันและมีความเป็นมืออาชีพที่มีคุณธรรม
4. HR ต้องสามารถทั้งบู๊และบุ๋นกับความหลากหลายในองค์การ
HR กำลังเผชิญกับความท้าทายในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในรูปแบบของความหลากหลาย (Diversity) ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในช่วงอายุของพนักงาน (Generations) ความหลากหลายด้านเพศสภาพ (หรือที่เรียกว่ากลุ่ม LGBT) ความหลากหลายทางความคิด ประสบการณ์ ค่านิยม ความเชื่อ และ ฯลฯ นักทรัพยากรมนุษย์จะต้องเข้าใจในความต้องการที่แตกต่างกัน และออกแบบการบริหารจัดการความหลากหลายเหล่านี้ให้เป็นความสามารถในการทำงานร่วมกันได้ (Inclusion) และดึงความสามารถของแต่ละคนมาผสมผสานกันเพื่อสร้างนวัตกรรมนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน
5.HR ต้องสามารถออกแบบการเรียนรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้
HR ต้องสามารถออกแบบการเรียนรู้และการพัฒนาพนักงานให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาพนักงานทุกระดับให้มีความสามารถในการทำงาน มีทัศนคติและพฤติกรรมตามค่านิยมขององค์การเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์การให้บรรลุตามเป้าหมาย ส่งเสริมให้พนักงานมีแผนพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง (Individual Development Plan) ทั้งในรูปแบบการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ (Formal Learning) และอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Learning) และการสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาศักยภาพของตนเองนั้น ควรใช้แนวทาง 3 ประการ คือ การก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองให้ได้ การเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และยกระดับการใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การอย่างเต็มศักยภาพ
สรุป
สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนี้ บทบาท HR ส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนมากขึ้นเรื่อย ๆ บทบาทของ HR ต้องสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป การเป็น HR จึงไม่ใช่แค่ทำงานธุรการ แต่เป็นการดูแลผลประโยชน์ของทั้งองค์กรและพนักงานควบคู่กันไป ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข รักองค์กร รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร ซึ่งเกิดจากการดูแลของ HR ก็จะทำให้องค์กรพัฒนาไปได้เร็วและไกลมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น HR ต้องเป็นนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล HR ต้องเข้าใจธุรกิจ เข้าใจเป้าหมายองค์กร เข้าใจระบบการทำงานภายใน คู่แข่ง ธุรกิจปรับตัวกันยังไง เทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะส่งผลกระทบคนและองค์กรอย่างไรบ้าง เรื่องพวกนี้ทำให้เราช่วยสนับสนุนการเติบโตขององค์กรได้ด้วยการวางแผนกลยุทธ์ล่วงหน้า เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและพนักงานให้กับบริษัท