4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

เปิดประวัติห้างเก่าสัญชาติไทย “ไนติงเกล-ตั้งฮั่วเส็ง-มาบุญครอง-พาต้า” พบ สูงสุดอายุเฉียด 100 ปี ด้าน “MBK” พลิกโฉม-ปรับตัวสู้ศึกค้าปลีก “ไนติงเกล” น่าห่วง ติดลบต่อเนื่อง 4 ปี

Key Points:

  • แง้มดูประวัติ-รายได้ “4 ห้างเก่าสัญชาติไทย” ที่ยังคงยืนเด่นท่ามกลางศึกค้าปลีกทั่วประเทศ “ไนติงเกล” และ “ตั้งฮั่วเส็ง” ยึดรูปแบบเดิม ขณะที่ “มาบุญครอง” รุกปรับตัวตลอด ด้าน “พาต้า” เพิ่งประกาศแผนรีโนเวตไปเมื่อต้นปี 2566
  • สำหรับห้างที่ไม่ได้มีการปรับตัวไปตามกาลเวลา พบว่า มีรายได้ลดลงต่อเนื่องทุกปี “ไนติงเกล-โอลิมปิค” รายได้ลด กำไรยังติดลบ ส่วน “ตั้งฮั่วเส็ง” แม้รายได้แตะร้อยล้าน แต่ยังขาดทุนเช่นกัน
  • “พาต้าปิ่นเกล้า” น่าจับตามองต่อไปว่า หลังจากมีการประกาศแผนรีโนเวตครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี จะช่วยปลุกอดีตยักษ์ฝั่งธนฯ ได้หรือไม่ ขณะที่ย่านปิ่นเกล้ารายล้อมไปด้วย “บิ๊กรีเทล”

 

ในยุคที่ห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่ผุดขึ้นทั่วประเทศ หากยักษ์ค้าปลีกเลือกปักหมุด-เปิดให้บริการโลเกชันใด บริเวณนั้นก็จะกลายเป็น “แลนด์มาร์ก” เกิดใหม่ทันที ราวกับว่า ห้างสรรพสินค้าคือใจกลางความเจริญก็ว่าได้

หากย้อนกลับไปในอดีตห้างสรรพสินค้าก็ยังคงทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด ยุคที่มี “แดง ไบเล่” กำเนิด “โก๋หลังวัง” ก็มีหมุดหมายเป็น “เซ็นทรัล วังบูรพา” ที่ปัจจุบันได้ปรับตัวไปตามไลฟ์สไตล์และดีมานด์ในพื้นที่ สู่ “ไชน่า เวิลด์” แหล่งรวมสารพัดค้าผ้าใจกลางพาหุรัด ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีเซ็นทรัล พื้นที่ใกล้เคียงกันได้ถือกำเนิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยอย่าง “ไนติงเกล-โอลิมปิค” มาก่อน จนทยอยมีห้างสรรพสินค้าเกิดใหม่ตามมามากมายในภายหลัง

“กรุงเทพธุรกิจ” พาย้อนทบทวนความทรงจำ “4 ห้างเก่าสัญชาติไทย” ที่ยังคงยืนเด่นฝ่ามรสุมคลื่นลมค้าปลีกสู่ตำนานที่ยังมีลมหายใจ แม้ว่าหลายแห่งจะยืนหยัดด้วยลมหายใจอันรวยรินแล้วก็ตาม

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

  • ไนติงเกล-โอลิมปิค

ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทย เริ่มเปิดกิจการครั้งแรกในปี 2473 ก่อตั้งโดย “นัติ นิยมวานิช” ผู้เป็นพ่อของ “อรุณ นิยมวานิช” ทายาทและเจ้าของกิจการห้างไนติงเกลฯ คนปัจจุบัน ด้วยความเป็นห้างแห่งแรก ไนติงเกลฯ จึงได้รับความนิยมสูง เป็นแหล่งรวมเหล่าดารา-เซเลบริตี้ในขณะนั้น ทั้งยังนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศโดยมีทั้งเครื่องสำอาง น้ำหอม เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายผู้หญิง ฯลฯ ชูสโลแกน “คลังแห่งเครื่องกีฬา ราชาแห่งเครื่องดนตรี ราชินีแห่งเครื่องสำอาง”

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

ปัจจุบันห้างไนติงเกล-โอลิมปิคยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ภายในไม่ได้มีการปรับแต่งตามยุคสมัย ยังคงเป็นห้างไม่ติดแอร์ มีตู้ดิสเพลย์หน้าร้านแบบสมัยก่อน ภูมิทัศน์ด้านในยังให้ความรู้สึกย้อนยุคเหมือนเดิม ส่วนสินค้าภายในร้านหลายอย่างเป็นสินค้าเก่าที่ไม่ได้มีการซื้อขาย บางชิ้นเก็บอนุรักษ์ไว้ บางอย่างเป็นสินค้า “ตกรุ่น” ไปแล้ว แต่ยังคงวางขายตามปกติ

สำหรับผลประกอบการของห้างไนติงเกลปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ห้างร้านหลายแห่งได้รับผลกระทบ บางแห่งถึงขั้นต้องปิดกิจการถาวร แต่ไนติงเกลฯ ยังคงฮึดสู้เปิดให้บริการทุกวันจันทร์ถึงเสาร์ โดยในปี 2561 ก่อนเกิดโควิด-19 ไนติงเกล-โอลิมปิค มีรายได้รวมที่ 7.3 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2.5 ล้านบาท แต่หลังจากปี 2562 รายได้ก็ลดฮวบอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ขาดทุน 3.5 ล้านบาท จนถึงปี 2565 รายได้รวมของไนติงเกลฯ ก็ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ที่ 1.3 ล้านบาท และยังติดลบต่อเนื่องที่ 1.4 ล้านบาทในงบการเงินปีล่าสุด

  • ตั้งฮั่วเส็ง

ห้างที่มีจุดเด่นจำหน่ายสินค้าจำพวกงานเย็บปักถักร้อย โดยสาขาต้นกำเนิดยืนคู่ย่าน “บางลำพู” เข้าปีที่ 61 ขณะที่ห้างร้านหลายแห่งที่เปิดกิจการในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันทยอยปิดตัวไปมากแล้ว แม้ “ตั้งฮั่วเส็ง” จะมีสินค้าหลากหลายไม่ต่างกับห้างทั่วๆ ไป ทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องเขียน, ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ แต่สิ่งที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าประตูห้าง คือ สินค้าสำหรับงานฝีมือที่ละลานตากว่าห้างอื่นอย่างเห็นได้ชัด หากต้องการอุปกรณ์งานฝีมือจำพวกกระดาษ ไหมพรม ถักนิตติ้ง-โครเชต์ ริบบิ้น ลูกปัด ฯลฯ ที่นี่มีให้เลือกครบครัน

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

และด้วยความโดดเด่นยืนหนึ่งในสินค้าประเภทนี้ ทำให้ปัจจุบัน “ตั้งฮั่วเส็ง” กลายเป็น “ฮับ” ของคนรักงานฝีมือ มีครูฝึกสอนงานถัก มีแผนกเย็บปักที่เมื่อซื้อสินค้าเสร็จแล้วก็สามารถเดินตรงเข้ามาเรียนกับผู้สอนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณที่มาใช้เวลาว่างจากการรวมกลุ่มทำงานเย็บปัก

ปัจจุบัน ตั้งฮั่วเส็ง มีค้าปลีกในเครือทั้งสิ้น 6 สาขา ตั้งฮั่วเส็ง สาขาบางลำพู, ตั้งฮั่วเส็ง สาขาธนบุรี, ตั้งฮั่วเส็ง มินิมาร์ท สาขาโรงพยาบาลศิริราช, เก็ทอิท ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาโรงพยาบาลเด็ก, เก็ทอิท ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และ เก็ทอิท ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาอิมเมจมอลล์ พุทธมณฑลสาย 4

สำหรับรายได้ของ “ตั้งฮั่วเส็ง” ปีล่าสุด (ปี 2564) อยู่ที่ 409 ล้านบาท หากดูตัวเลขย้อนหลังจะพบว่า รายได้ลดลงทุกปี โดยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 รายได้รวมอยู่ที่ 827 ล้านบาท แต่หากพลิกดูกำไรสุทธิ “ตั้งฮั่วเส็ง” ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปีล่าสุด (ปี 2564) ที่ขาดทุนกว่า 43.7 ล้านบาท 

  • มาบุญครอง

หากเทียบเคียงในบรรดา “4 ห้างเก่า” มาบุญครองหรือที่มีการรีแบรนด์เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “เอ็มบีเค” (MBK) ถือเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีการปรับตัวมากที่สุด แรกเริ่มเดิมทีห้างมาบุญครองก่อตั้งโดย “ศิริชัย บูลกุล” โดยชื่อ “มาบุญครอง” เป็นการหยิบยืมมาจากธุรกิจโรงสีข้าวและจำหน่ายข้าวสารของครอบครัว ซึ่งก็คือยี่ห้อ “ข้าวตรามาบุญครอง” ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ยุคหนึ่ง “มาบุญครอง” เป็นห้างที่ทันสมัยที่สุด มีสินค้าแบรนด์เนมวางขาย และสร้างจุดเปลี่ยนให้ตัวเองด้วยการแบ่งพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านเล็กๆ รวมถึง “ร้านตู้มือถือ” ที่กลายเป็นภาพจำของมาบุญครอง ส่งผลให้ค่าเช่าที่ในยุคนั้นราคาสูงและเป็นที่ต้องการของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าอย่างมาก

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีห้างยักษ์ใหญ่ผุดขึ้นในกรุงเทพฯ มากมาย คนรุ่นใหม่จึงเลือกเดินห้างหรูบริเวณใกล้เคียงมากกว่า มาบุญครองก็เปลี่ยนเกมอีกครั้งด้วยการหันไปดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยภายในห้างมีของให้เลือกซื้อทุกอย่าง ทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค กระเป๋า นาฬิกา เครื่องสำอาง ของฝาก โทรศัพท์มือถือ เครื่องประดับเพชร-ทอง ฯลฯ เรียกว่า มาที่นี่แห่งเดียวได้ของฝากติดไม้ติดมือครบจบ ในช่วงหลังมาบุญครองหรือ “MBK” จึงได้รับการขนานนามว่า ห้างของชาวต่างชาติ

นอกจากการปรับตัว-ไม่หยุดอยู่กับที่ มาบุญครองยังมีรายได้หลายทาง โดยเข้าถือหุ้นในสยามพิวรรธน์ 42.47 เปอร์เซ็นต์ และยังมีธุรกิจอื่นๆ ในเซกเตอร์โรงแรมและท่องเที่ยวอีก 12 แห่ง และปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของมาบุญครองก็ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่เป็น บริษัท พี อาร์ จี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทเดียวกับผู้บริหารข้าวมาบุญครอง

  • พาต้าปิ่นเกล้า

ห้างที่มีสวนสัตว์ติดแอร์ และเป็นสวนสัตว์ที่อยู่บนห้างแห่งเดียวของไทย เดิมที “พาต้า” มีทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ พาต้าหัวหมาก พาต้าปิ่นเกล้า และพาต้าอินทรา (ประตูน้ำ) แต่จากสภาพเศรษฐกิจที่ผ่านมา ท้ายที่สุดพาต้าอีก 2 สาขาก็ปิดตัวลงจนเหลือเพียง “พาต้าปิ่นเกล้า” ห้างแห่งแรกในย่านฝั่งธนฯ ที่ในอดีตเคยคึกคักมากที่สุด

4 ห้างเก่าสัญชาติไทย ตำนานที่ยังมีลมหายใจ

ที่ผ่านมา ห้างพาต้าซบเซาลงไปพอสมควร ทราฟฟิกผู้คนมาเดินจับจ่ายน้อยลงแม้จะเป็นย่าน “ทำเลทอง” ก็ตาม โดยเมื่อต้นปี 2566 พาต้าได้ประกาศเตรียมปรับโฉม-รีโนเวทครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี ทั้งการปรับรูปแบบภายนอกอาคารให้ทันสมัย พื้นที่ชั้นใต้ดิน ชั้น 1, 2 และ 5 รองรับร้านอาหารยอดนิยม ร้านค้าโอท็อป (OTOP) และตั้งใจเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 5 ที่ต่อเนื่องชั้นสวนสัตว์ให้เป็นตลาดนัดสัตว์เลี้ยงด้วย

รายได้ของ “พาต้าปิ่นเกล้า” ในปี 2565 อยู่ที่ 51 ล้านบาท ขาดทุน 388,936 บาท ทั้งรายได้และกำไรลดลงจากปีที่แล้วพอสมควร จากเดิมที่พาต้าปิ่นเกล้ามีรายได้แตะ “ร้อยล้าน” ที่ 144 ล้านบาทในปี 2564 ทำกำไรได้ 61 ล้านบาท โตจากปี 2563 มากถึง 900 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการปรับโฉมครั้งนี้จึงน่าสนใจว่า “พาต้าปิ่นเกล้า” จะพลิกทำกำไร และกลับมาช่วงชิงตำแหน่งยักษ์ฝั่งธนฯ ได้หรือไม่

 

อ้างอิง: Brand BuffetData WarehouseLongtunmanMarketeerNightingale OlympicTanghuaseng