นโยบายรัฐบาลใหม่ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' โรงแรม 35% เสี่ยง 'เลิกจ้างคน' บางส่วน

นโยบายรัฐบาลใหม่ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ'  โรงแรม 35% เสี่ยง 'เลิกจ้างคน' บางส่วน

'สมาคมโรงแรมไทย' เปิดผลสำรวจ 'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม มิ.ย. 2566' ระบุหากรัฐบาลใหม่ปรับ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ กว่า 92% คาดได้รับผลกระทบ โรงแรมมีแนวโน้มปรับตัว เพิ่มทักษะและหน้าที่ของแรงงาน 60% ส่วน 35% เล็งเลิกจ้างพนักงานบางส่วน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มิ.ย. 2566 จัดทำโดยสมาคมฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจระหว่างวันที่ 9-23  มิ.ย. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 120 แห่ง ระบุว่า หากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ผู้ตอบมากกว่า 92% คาดว่าจะได้รับผลกระทบ

โดยธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มจะปรับตัวโดยการเพิ่มทักษะและหน้าที่ของแรงงาน 60% นอกจากนี้จะลดต้นทุนที่ไม่ใช่ค่าแรง 58% ผู้ตอบบางส่วน 49% จะปรับขึ้นราคาห้องพัก และ 40% มองว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน เช่น เหมาจ่ายตามปริมาณงาน ขณะที่ 39% ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงานมากขึ้น และ 35% เลิกจ้างพนักงานบางส่วน

สำหรับมาตรการช่วยลดผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องการจากภาครัฐ โรงแรมส่วนใหญ่ต้องการมาตรการที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย ทั้งด้านสาธารณูปโภค ด้านภาษี เช่น ลดภาษีนิติบุคคลและให้ค่าลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยสมทบเงินกองทุนประกันสังคมแทนนายจ้าง นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ หรือทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได และสนับสนุนการเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน สำหรับมาตรการอื่นๆ ผู้ประกอบการเห็นว่าควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน

“ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวระบุว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทิศทางดีขึ้น โดยสัดส่วนโรงแรมที่ไม่มีปัญหาขาดแคลนแรงงานในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 55% จาก 46% ในเดือนก่อน ตามการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวหรือโลว์ซีซัน”

สำหรับมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการจากภาครัฐ ได้แก่

1.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 6 และสนับสนุนการท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้นโดยการเพิ่มเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศมาเมืองรอง รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวมากขึ้น

2.มาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุน เช่น ลดค่าไฟฟ้าและประปา ลดภาษี และให้ค่าลดหย่อนด้านภาษีเพิ่มขึ้น

3.มาตรการด้านแรงงาน โดยผู้ประกอบการต้องการให้มีการเปิดรับแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายมากขึ้นและทำได้รวดเร็วขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงาน ให้เงินอุดหนุนธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) เพื่อจ้างแรงงานที่มีอยู่เดิมและเด็กจบใหม่ ช่วยนายจ้างสมทบเงินกองทุนประกันสังคม รวมถึงจัดอบรมและพัฒนาคุณภาพแรงงานให้มีทักษะและความชำนาญมากขึ้นให้เหมาะสมค่าแรงที่จะปรับเพิ่มขึ้น

นางมาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านอัตราการเข้าพัก (Occupancy) เดือน มิ.ย. เฉลี่ย 45.5% ลดลงต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 51.4% โดยลดลงในเกือบทุกภูมิภาคตามการเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับคาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน ก.ค. อยู่ที่ 45.8%

ทั้งนี้อัตราการเข้าพักในแต่ละภาค พบว่า

 

ภาค

พ.ค. 66

มิ.ย. 66

ภาคเหนือ

29.9

34.9

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

40.0

38.2

ภาคตะวันออก

59.0

53.5

ภาคกลาง

59.0

53.9

ภาคใต้

52.4

40.6

 

“ในภาพรวมสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง โดยกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพักส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง และจีนตามลำดับ ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติน้อยกว่า 50% คิดเป็น 54% ของผู้ตอบแบบสำรวจ”

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 3 ของปีนี้ โรงแรมส่วนใหญ่ประเมินว่าจะมีจำนวนลูกค้าใกล้เคียงกับไตรมาส 2 โดยโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก คาดว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนในสัดส่วนที่มากกว่าโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้โรงแรมบางส่วนสามารถปรับราคาห้องพักได้ โดยเฉพาะโรงแรมระดับตั้งแต่ 5 ดาวขึ้นไป ที่มีสัดส่วนโรงแรม 68% ที่ราคาห้องพักสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้โรงแรมไม่เกิน 4 ดาวยังปรับราคาได้จำกัด และหากพิจารณารายภาค พบว่าโรงแรมในภาคใต้ส่วนใหญ่ปรับราคาห้องพักได้มากกว่าโรงแรมในภูมิภาคอื่น