‘พิธา’ ตอบรับ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์’ ท่องเที่ยว ควบบริหาร-สื่อสารดึงต่างชาติ

‘พิธา’ ตอบรับ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์’ ท่องเที่ยว ควบบริหาร-สื่อสารดึงต่างชาติ

'พิธา' ยินดีตอบรับ 'แบรนด์แอมบาสเดอร์' หรือ ทูตการท่องเที่ยว ควบบริหาร-สื่อสารบนเวทีโลก เดินสายพบผู้นำต่างประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย พร้อมเดินหน้าถก 8 พรรคร่วมรัฐบาล พลิกฟื้นตัวเลข 'ต่างชาติเที่ยวไทย' กลับสู่จุดพีคเกือบ 40 ล้านคนเหมือนปี 62

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเข้าหารือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) วันนี้ (1 ก.ค.) ว่า ทาง สทท.ได้ขอให้นายกรัฐมนตรีดูแลภาคการท่องเที่ยวโดยตรง เพราะถ้ายังมีปัญหา 4 ส. ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคมสูงวัย และส่วย แม้นโยบายภาคการท่องเที่ยวดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง

“นอกจากนี้ทาง สทท.ยังได้ชวนผมเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของภาคการท่องเที่ยว ก็ยินดีตอบรับครับ ถ้าเป็นคนที่ทั้งบริหารด้วยและสื่อสารด้วย เมื่อเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อไร มีการบริหารเมื่อไร ก็คงจะต้องมีการเดินทางไปต่างประเทศ พบปะกับผู้นำในต่างประเทศ เช่น การประชุมสหประชาชาติ (UN) ในเดือน ก.ย.นี้ ก็คงจะใช้โอกาสนี้ในการนำเรื่องการท่องเที่ยว และการเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นวาระสำคัญในการกำหนดวาระการประชุมกับผู้นำในต่างประเทศ”

 

ถก 8 พรรคร่วม 'กิโยตินกฎหมาย' เอื้อผู้ประกอบการ

และหลังจากนั้น ก็คงจะมีการประชุมกับพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ประเด็นการกิโยตินกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยว ทางพรรคก้าวไกลและพรรคไทยสร้างไทยก็มีเป้าหมายเดียวกัน แต่วิธีคิดอาจไม่ตรงกัน ทางคณะทำงานก็กำลังพูดคุยเรื่องพวกนี้อยู่ และผลลัพธ์ที่ออกมาก็คงจะเป็นเรื่องการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา การทำงานของคณะทำงานเปลี่ยนผ่านก็น่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนั้น

 

เร่งเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ทวงคืนทัวริสต์สู่จุดพีค 40 ล้านคนต่อปี

สำหรับตัวเลขของภาคการท่องเที่ยวไทยในยุคก่อนและหลังโควิด หายไปเท่าไร พบว่าหายไปเกือบ 40% ขณะที่ทั่วโลกหายไป 20% แต่ขณะเดียวกันหากเราเอาตัวเลข “นักท่องเที่ยวจีน” ออกไปก่อน แล้วเปรียบเทียบใหม่ พบว่าประเทศไทยก็ไม่ได้แย่ไปกว่าทั่วโลก ก็หายไปแค่ 20% เท่ากัน เพราะยุคก่อนโควิดประเทศไทยพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 20% แม้ปัจจุบันยังฟื้นตัวแค่ 2% ถือว่าหายไปมาก แต่ก็เริ่มเห็นการกลับมาของตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนที่เดินทางด้วยรถบัสในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศจีนนั้นฟื้นแล้ว เพียงแต่ว่าเลือกเดินทางในประเทศ ยังไม่ออกนอกประเทศ เพราะได้ดูข้อมูลการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนไปสหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย ตัวเลขไม่ขึ้นเหมือนกัน

“เพราะฉะนั้นต้องปรึกษาหารือกันว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร เพื่อให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาสู่จุดที่ดีที่สุด กว่า 39 ล้านคนเมื่อปี 2562 แต่หลังโควิดระบาด ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ตอนนี้กลับมาแค่ 60% เท่านั้น เป็นจุดที่ต้องรีบแก้”

 

 

นโยบาย 'เมืองรอง' ไม่เพียงพอ ต้องแก้คมนาคมระหว่างจังหวัด

นายพิธา กล่าวว่า ยังมีการพูดคุยกับ สทท. ด้วยว่า ถ้าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวยั่งยืน จะเอาแค่จำนวนอย่างเดียวหรือไม่ หรือจะเอาเรื่องคุณภาพด้วย รวมถึงการกระจายนักท่องเที่ยวออกไป เพราะตัวเลขหนึ่งที่สำคัญคือจากมูลค่ารายได้ตลาดท่องเที่ยวไทยทั้งหมด กว่า 75% กระจุกตัวอยู่แค่ใน 5 เมืองหลักเท่านั้น

ทั้งนี้เห็นตรงกันว่าที่ผ่านมา นโยบายเมืองรอง อาจจะไม่เพียงพอ ต้องมีการแก้ไขปัญหาอื่นๆ เพิ่ม เช่น กฎหมายโฮมสเตย์ การคมนาคมระหว่างจังหวัด การวางแผนการเดินทาง จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทาง อย่างการเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ ไป จ.แม่ฮ่องสอน ต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ชั่วโมง เป็นเรื่องยากที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไปแม่ฮ่องสอน มากกว่าอยู่แค่เชียงใหม่

‘พิธา’ ตอบรับ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์’ ท่องเที่ยว ควบบริหาร-สื่อสารดึงต่างชาติ

 

 ชูปรับพอร์ต ‘นักท่องเที่ยว’ ใหม่ เน้นกระจาย ไม่เอากระจุกแค่ 5 เมืองหลัก

ก่อนหน้าการประชุมร่วมกับ สทท. นายพิธา กล่าวว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยในยุคก่อนและหลังโควิด-19 นั้น ไม่เหมือนเดิมแน่นอน ที่ผ่านมาส่วนตัวเคยมีประสบการณ์ในภาคเอกชน 2-3 ครั้ง รวมถึงการเป็น ส.ส. และกรรมาธิการงบประมาณ เห็นทั้งงบประมาณของทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) งบประมาณแผนบูรณาการท่องเที่ยว งบของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดว่าได้รับงบฯด้านการท่องเที่ยวเท่าไร จึงมีข้อสังเกตมาตลอด

สำหรับกรอบความคิดของตน เราต้องจินตนาการการท่องเที่ยวไทยใหม่ในยุคหลังโควิด 3 กรอบความคิด ได้แก่

1. ระดับมหภาค เพราะการท่องเที่ยวไทยในยุคก่อนและหลังโควิดระบาด เอาตัวเลขมาวางเทียบกัน ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะฉะนั้นการจัดพอร์ตฟอลิโอใหม่ (Portfolio) ในระดับมหภาค ว่าอยากจะได้นักท่องเที่ยวจากที่ไหนเดินทางมาประเทศไทย

2. ระดับจุลภาค อยากให้กระจายออก ไม่กระจุก เพราะทุกวันนี้นักท่องเที่ยวกว่า 75% ยังกระจุกตัวอยู่ในแค่ 5 เมืองใหญ่ จากนั้นก็จะเกิดปัญหาใหญ่ อยู่ไม่นาน ใช้เงินไม่เยอะ แต่ถ้ากระจายออก เหมือนในช่วงปี 2548-2549 มีแนวคิดการจัดคลัสเตอร์ท่องเที่ยว และนำแนวคิดริเวียร่า (Riviera) ในประเทศฝรั่งเศส มาใช้กับทางภาคใต้ของประเทศไทย และในขณะเดียวกันเศรษฐกิจฐานรากก็จะได้ถูกกระตุ้นด้วย

3. ดีมานด์-ซัพพลาย จากที่ผมมีประสบการณ์ทำงานกับการท่องเที่ยวฯซึ่งเป็นฝ่ายดีมานด์ ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวฯเป็นฝ่ายซัพพลาย ก็ต้องบูรณาการกัน ยกตัวอย่างเช่น แรงงาน สำหรับภาคอุตสาหกรรมอื่น แรงงานอาจจะเกินความต้องการตลาด แต่ผมมั่นใจว่าแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นขาดแคลนมาก เพราะฉะนั้นเรื่องของการ Upskill & Reskill ถ้าเราคิดถึงแต่เรื่องดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมา แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และมีแรงงานจำนวนมากพอในการรองรับ ก็จะไม่ยั่งยืน

“ถ้าเราทำครบองคาพยพทั้งหมดนี้ได้ ผมเชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวไทยยุคหลังโควิดจะไปต่อได้ดีกว่าเดิม”

‘พิธา’ ตอบรับ ‘แบรนด์แอมบาสเดอร์’ ท่องเที่ยว ควบบริหาร-สื่อสารดึงต่างชาติ

 

ภาคท่องเที่ยวต้องเป็น 'วาระแห่งชาติ'

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า การท่องเที่ยวควรเป็นวาระแห่งชาติ และว่าอยากให้ว่าที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานที่ประชุมดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือการบริหารจัดการเรื่องของสนามบินในการไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ จนกลับมาถึงสนามบินอีกครั้ง ควรจัดการอย่างไร้คอขวด

“และท้ายที่สุดที่อยากจะขอและขอมาโดยตลอด คืออยากให้ คุณพิธา มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือ ทูตการท่องเที่ยว ของประเทศไทย”

สำหรับวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวจนเฉียบพลัน แม้จะเริ่มรีสตาร์ทฟื้นตัว แต่เป็นการฟื้นตัวแบบ K-Shape โดยตัว K ขาบน ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการรายกลางและใหญ่ที่มีองค์ความรู้ มีทุน และเท่าทันนวัตกรรม แต่ตัว K ขาล่าง ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่มีองค์ความรู้ ไม่เท่าทันนวัตกรรม ยังได้รับผลกระทบ

ปัญหาการท่องเที่ยวฝั่งซัพพลาย เคยดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด แต่วันนี้หลายนโยบายที่เข้ามา เน้นเรื่อง Pain Point นโยบายเสียหายบ้าง แต่ถ้าเราเอาแขกเข้ามาน้อย เน้น Less For More มาแค่ 20 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็น 50% ของจำนวนปี 2562 จะทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวตกงานเลยทันที 50% เราจึงอยากเสนอให้รัฐบาลใหม่พัฒนาภาคการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ และขอเน้นย้ำว่าท่องเที่ยวไม่ใช่ผู้ร้าย ทำลายธรรมชาติ”