7 สมาคมท่องเที่ยวฟื้นชีพ 'FETTA' สวมคอนเวิร์ส หย่าขาด 'สทท.' ลุยพลิกโฉมฉับไว

7 สมาคมท่องเที่ยวฟื้นชีพ 'FETTA' สวมคอนเวิร์ส หย่าขาด 'สทท.' ลุยพลิกโฉมฉับไว

'7 สมาคมใหญ่ท่องเที่ยว' ฟื้นชีพ 'สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย' (FETTA) หลังสวมคอนเวิร์ส ลาออกจากการเป็นสมาชิก 'สทท.' ดันภารกิจพลิกโฉมท่องเที่ยวไทย เน้นความคล่องตัว ฉับไว ยันไม่ได้เป็นศัตรูกัน พร้อมจี้ตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด ลุยเสนอข้อเรียกร้องอุ้มผู้ประกอบการ

7 สมาคมใหญ่ด้านการท่องเที่ยว ร่วมกันก่อตั้ง “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” หรือ เฟตต้า (FETTA) แถลงข่าวประกาศรวมตัวกันอย่างเป็นทางการวานนี้ (28 มิ.ย.) พร้อมเปิดเผยถึงภารกิจหลัก สู่เป้าหมายผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งในเชิงรุกและเชิงลึก

หลังสวมคอนเวิร์ส ทางใคร ทางมัน ลาออกจากการเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เพื่อทำงานด้านการท่องเที่ยวได้อย่างคล่องตัว และมีเอกภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ทำให้ตอนนี้การเมืองของภาคเอกชนท่องเที่ยวแบ่งข้างเป็น 2 ขั้วชัดเจน

สำหรับ 7 สมาคมดังกล่าวที่ร่วมกันตั้ง FETTA ประกอบด้วย

1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) มีสมาชิกราว 1,800 กว่ารายในปัจจุบัน นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าในปี 2563 ประมาณ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท ประมาณ 40% ของรายได้ภาพรวมของประเทศ เป็นหน่วยรบแนวหน้าในการเปิดตลาดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาประเทศไทยตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรมา 

2.สมาคมโรงแรมไทย (THA) มี 993 แห่ง คิดเป็น 160,000 ห้อง จ้างงานประมาณ 50,000 ตำแหน่ง สัดส่วน 26% ของโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง เฉลี่ยเข้าพัก 65% ราคาเฉลี่ย 2,000 บาทต่อห้อง  มีรายได้ประมาณ  80,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนกับ อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ทั้งอุปโภค บริโภคที่สำคัญ

3.สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) มีสมาชิก 900 กว่าราย ปี 2562 ก่อนโควิดระบาด มีนักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศ 12 ล้านคน มูลค่า 3 แสนกว่าล้านบาท เป็นองค์กรที่จัดงานแฟร์ด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยปีละ 2 ครั้ง คืองานเที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลก (TITF) ซึ่งเป็นงานเดียวที่มีองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวนานาชาติมาร่วมงานมากกว่า 30 ประเทศ และมีคนเข้าชมงานมากกว่า 3 แสนคน

4.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) มีสมาชิก 704 ราย

5.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) มีสมาชิก 175 ราย รวมจำนวนรถกว่า 9,700 คัน

6.สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) มีสมาชิกตลอดชีพ 1,640 คน รายปี 250 คน

7.สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) มีสมาชิกสามัญและวิสามัญ 210 ราย

 

++ ฟื้นชีพ FETTA เคลื่อนท่องเที่ยวไทยฉับไว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 7 สมาคม ได้ลาออกจาก สทท. พร้อมมาร่วมกันฟื้น FETTA ซึ่งเคยมีบทบาทเมื่อ 10 ปีก่อน โดยวันนี้ได้ลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง FETTA พร้อมนำเสนอข้อเรียกร้องรัฐบาลใหม่

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า การที่ทั้ง 7 สมาคมมารวมตัวกันในนาม FETTA เพื่อลดขนาดเครือข่ายให้มีความฉับไว คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และมีความเป็นมืออาชีพ โดยแต่ละสมาคมมีบุคลากรมากกว่า 100,000 คน โดยมีเป้าหมายร่วมกับรัฐบาลเพื่อวางแผนพัฒนาภาคการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน

“สำหรับก้าวต่อไป FETTA ทางแอตต้าจะเป็นหน่วยงานประสานเบื้องต้น จดทะเบียนจัดตั้ง FETTA ในอนาคต พร้อมร่วมกันจัดงาน Thailand International Tourism Conference ทุกปี เพื่อตอกย้ำภาคท่องเที่ยวไทยในฐานะผู้นำของภาคท่องเที่ยวโลก ซึ่งประเทศไทยเคยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับ 9 ของโลก และสร้างรายได้การท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า FETTA ไม่ได้เป็นศัตรูกับ สทท.”

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า แม้ FETTA ลาออกจาก สทท. แล้ว แต่เรายังเป็นกำลังใจให้ประธาน สทท. และจะไม่เข้าไปก้าวล่วงการทำงานของ สทท. เพราะเป็นองค์กรใหญ่ ส่วนของ FETTA จะเดินในสายของการตลาด เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาโตไวขึ้น เดินได้เร็วขึ้น

“หลังจากนี้ทาง FETTA จะเดินสายพบผู้นำภาคเอกชน และเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ และมี รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดถึงรัฐบาล”

 

++ จี้ตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้ 7 สมาคมท่องเที่ยวลาออกจาก สทท. เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่พอดี และอยู่ระหว่างจัดตั้ง ทาง FETTA จึงต้องการรวบรวมข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ในนามของเรา

นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า สำหรับการหารือที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ภาคเอกชนไม่ได้ให้ความสำคัญว่าพรรคไหนหรือใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่ต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว

 

++ เรียกร้องเร่งแก้ปัญหาอุ้มผู้ประกอบการ

นายศิษฎิวัชร นายกแอตต้า กล่าวด้วยว่า แม้สถานการณ์ท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเริ่มฟื้นแล้ว แต่สถานะของบริษัททัวร์ยังอยู่ในสถานะย่ำแย่ โดยเฉพาะปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่ไม่สามารถเข้าไทยได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากติดปัญหาการขอวีซ่าของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ซึ่งได้ร้องเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังแก้ปัญหาได้ไม่ลุล่วง จึงเป็นห่วงว่านักท่องเที่ยวจีนซึ่งตั้งเป้าหมาย 5-7 ล้านคนในปีนี้ จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

นางมาริสา นายกทีเอชเอ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวจากหลายๆ ชาติฟื้นแล้ว แต่จีนเป็นชาติเดียวที่ฟื้นตัวน้อยที่สุด โดยเดือน พ.ค. ฟื้นแค่ 20% ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลใหม่ สมาคมฯเรียกร้องขอให้ชะลอหรือยุติการปรับขึ้นค่าแรงออกไปก่อน เพราะธุรกิจโรงแรมยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เช่น ต้นทุนค่าไฟ ขณะเดียวกันจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจโรงแรมมีภาระหนี้สินเยอะ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับดอกเบี้ยสูงขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายเวลาการจ่ายเงินต้นออกไปเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า จากรถบัสนำเที่ยวของสมาชิกสมาคมฯ 40,000 คัน ปัจจุบันรอดมาได้ 15,000 คัน โดยประมาณ 4,000 คันให้บริการองค์กร โรงงาน ส่วนอีก 8,000 คันให้บริการนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ 90,000 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเท่าเดิม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่มีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ต้องการให้จัดสรรงบประมาณหรือกองทุนฟื้นฟูสภาพรถ ที่จอดนิ่งเป็นเวลากว่า 4 ปี ซึ่งใช้เงินซ่อมบำรุง 500,000 บาทต่อคัน 2.ต้องการให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวโดยรถบัสนำเที่ยว 3.ต้องการให้แก้เงื่อนไขของสำนักงบประมาณที่เพิ่งออกมา ในการประมูลงานภาครัฐ บริษัทต้องมีงบดุลไม่ติดลบ 1 ปี ซึ่งสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้บริษัทกว่า 90% ไม่มีใครไม่ติดลบ และ 4.ต้องการให้รัฐบาลออกนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) มาให้บริการทดแทนรถยนต์สันดาปเดิม ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายเลย

 

++ ปมขัดแย้ง สทท. - FETTA “ต่างคนต่างอยู่”

แหล่งข่าวรายหนึ่งในวงการท่องเที่ยว ระบุว่า เหตุผลที่ทำให้ FETTA ลาออกจาก สทท. เนื่องจากคุยกันยาก มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทำให้ฝั่ง FETTA มองว่า “ต่างคนต่างอยู่” น่าจะดีกว่า

ทั้งนี้ ปมขัดแย้งระหว่าง  สทท. กับ 7 สมาคมใหญ่จากส่วนกลาง เริ่มคุกรุ่นตอนที่มีการเลือกตั้งประธาน สทท. ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2566 ซึ่งมีรูปแบบการโหวตมาจาก 2 ส่วน แบ่งตามประเภทเขตพื้นที่ และประเภทสาขาวิชาชีพ โดยเสียงโหวตส่วนใหญ่มาจากผู้ประกอบการระดับภูมิภาค และผู้อาวุโสด้านการท่องเที่ยวจากส่วนกลางบางส่วนที่เป็นฐานเสียงของนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ (โกจง) ให้ได้นั่งประธาน สทท. ต่ออีกสมัย ประจำปี 2566-2568 หลังได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นเอกฉันท์ ทุกฝ่ายยอมรับ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเห็นการแบ่งแยกทางความคิดของภาคเอกชนท่องเที่ยวอย่างชัดเจน เนื่องจากสมาคมใหญ่จากส่วนกลาง รวมถึงอดีตประธาน สทท. หลายราย สนับสนุนผู้ท้าชิงอย่างนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต หนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญผลักดันโครงการนำร่องเปิดประเทศ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” หลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และผลักดันให้ภูเก็ตเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดเมกะอีเวนต์ “Specialised Expo 2027/28”

ท้ายสุด เมื่อต้องทำงานร่วมกัน กลับเข้ากันไม่ได้ ไปต่อไม่ไหว ส่งผลให้ 7 สมาคมใหญ่ดังกล่าวตัดสินใจลาออกจาก สทท. มาร่วมกันตั้ง FETTA