กับดักประเทศรายได้ปานกลางกับกลุ่มทุนไทย

กับดักประเทศรายได้ปานกลางกับกลุ่มทุนไทย

ข่าวหุ้นไทยร่วงทุบสถิติหลังเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ขณะที่ข่าวหุ้น NIKKEI และบริษัทการค้าสากล (trading company หรือ sogo shosha) ของญี่ปุ่นพุ่งทะยานเป็นประวัติการณ์ในรอบ 33 ปี มีอะไรเกิดขึ้น? การพัฒนาตลาดทุนของประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแตกต่างกันอย่างไร

เป็นที่รู้กันดีว่าโครงสร้างธุรกิจไทยติดกับดักธุรกิจครอบครัว (family business trap) บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้จะเป็นบริษัทมหาชนขายหุ้นให้แก่สาธารณะ แต่ก็ยังถือหุ้นแบบกระจุกตัว ใช้บริษัทโฮลดิ้งและโครงสร้างการถือหุ้นแบบพีระมิด เอื้อให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ครอบงำการบริหารกิจการได้

การบริหารงานจึงมักเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเองมากกว่าประโยชน์ต่อส่วนรวม ตลอดจนผู้บริหารครอบครัวที่มีความสามารถนั้นมีจำนวนจำกัด แม้จะมีระบบสืบทอดกิจการของผู้บริหารครอบครัวที่เหนียวแน่น แต่ก็ยังขาดระบบการพัฒนาผู้บริหารมืออาชีพที่ไม่ใช่คนในครอบครัวที่เข้มแข็ง

ผลลัพธ์ก็คือ ยากเหลือเกินที่บริษัทเอกชนไทยจะสั่งสมและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเองได้ ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้พบได้ในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งในอดีตของประเทศพัฒนาต่างๆ ก่อนเป็นประเทศพัฒนากันแทบทั้งสิ้น

ขณะที่โครงสร้างธุรกิจของประเทศพัฒนา จะมีสัดส่วนบริษัทที่ถือหุ้นกระจายที่สูง (widely-held corporations) ไม่ได้มีขาใหญ่หรือเจ้าของ บริหารงานโดยผู้บริหารมืออาชีพ มีคณะกรรมการบริษัทที่ก็เป็นมืออาชีพ ไม่ใช่คนรู้จักมักคุ้นของเจ้าของ

โดยมีหน่วยงานรัฐ นักลงทุนสถาบัน นักวิเคราะห์ ผู้ตรวจสอบบัญชี และสมาคมวิชาชีพต่างๆ คอยตรวจสอบอย่างแข็งขัน มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน (property right) ของรายย่อย ไม่ปล่อยให้ผู้บริหารตกแต่งบัญชี โกงกันดื้อๆ

อย่างกรณีบริษัท STARK ซึ่งบริษัทผู้บริหาร (managerial enterprises) เหล่านี้จะสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ (big business) ก้าวข้ามข้อจำกัดของกับดักธุรกิจครอบครัว ทั้งเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี และคนได้

กับดักประเทศรายได้ปานกลางกับกลุ่มทุนไทย

ในทางตรงกันข้าม"กลุ่มทุนไทย"กลับจมปลักวนเวียนอยู่กับการผูกขาด การเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนวงใน (เพิกเฉยต่อกลุ่มทุนวงนอก) ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับเอสเอ็มอี

กล่าวคือกลุ่มทุนไทยหวังเพียงทางลัดนำเข้าเทคโนโลยี ตั้งบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ มุ่งแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) หรือกำไรส่วนเกินจากการผูกขาดหรือสายสัมพันธ์กับรัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มากกว่าที่การลงทุนวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นของตนเอง

ซึ่งหมายถึงการที่ต้องสร้างคนและระบบการพัฒนาคนอย่างจริงจังที่ไม่ใช่เพียงคนในครอบครัวเท่านั้น

นักวิชาการด้านกลุ่มทุนประเทศพัฒนาทีหลังออกมายืนยันว่า ตราบใดที่กลุ่มทุนซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศพัฒนาทีหลัง (latecomer) ยังคงยึดติดกับบรรษัทภิบาลกลุ่มทุน (business group governance) ก็ยากนักที่จะขยับขึ้นเป็นประเทศพัฒนาได้

แม้กลุ่มทุนเหล่านี้จะมีคุณูปการสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เติบโตเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบนได้จนถึงทุกวันนี้ก็ตาม ตราบใดที่ยังคงติดกับดักทุนนิยมครอบครัว (family capitalism) ไม่ว่าจะนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูงมาโดยการซื้อหรือร่วมทุนกับต่างชาติด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็เป็นเพียงปฐมบทของการไล่กวด (catch up) วนซ้ำอีกรอบหนึ่งเท่านั้น

เพียงแต่เปลี่ยนจากเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ในทศวรรษ 1980-1990 ไปเป็นสินค้าสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีดิจิทัล และอุตสาหกรรม 4.0 ของทศวรรษ 2020 ซึ่งมิได้ผิดแผกแตกต่างอะไรกันนักเลย

กับดักประเทศรายได้ปานกลางกับกลุ่มทุนไทย

การก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ต้องนำเอาทุนนิยมผู้บริหาร (managerial capitalism) หรือบรรษัทภิบาลบริษัทผู้บริหารมาปฏิบัติ ตลาดทุนจึงเป็นตัวชี้วัดที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย

  • บริษัทมหาชนเหล่านั้นต้องพร้อมที่จะกระจายการถือหุ้นเป็นบริษัทที่ถือหุ้นกระจาย ระบุไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมทั้งมีกลไกติดตามการทำงานของทีมผู้บริหารระดับสูง
  • มีการแยกความเป็นเจ้าของกับการบริหาร (separation of ownership and control) ซึ่งทำให้เป้าหมายของบริษัทเปลี่ยนเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม มิใช่เพื่อประโยชน์ของเจ้าของหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
  • ระบบการพัฒนาผู้บริหารมืออาชีพที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เป็นกุญแจสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่นในองค์กร จนกระทั่งนำพาไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเองได้

ประเทศพัฒนาต่างกำหนดให้ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากในสังคม เช่น สาธารณูปโภค โทรคมนาคม ธนาคารพาณิชย์ ขนส่งมวลชน ฯลฯ ต้องถือหุ้นกระจาย แต่ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงื่อนไขที่ยากเย็นยิ่งสำหรับธุรกิจครอบครัวไทย

เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียความเป็นเจ้าของและอำนาจบริหาร แต่ทว่าประเทศพัฒนาทีหลังที่ไล่กวดสำเร็จได้พิสูจน์กันมาแล้วว่า บรรษัทภิบาลบริษัทผู้บริหารเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายความมั่งคั่ง และลดความเหลื่อมล้ำได้ในที่สุด

ตัวอย่างเช่น ข้อเสนอการลดการผูกขาดของธุรกิจให้บริการคลื่นโทรศัพท์มือถือที่เหลืออยู่เพียง 2ราย คือ เอไอเอสกับทรูคอร์ป อาจไม่ใช่การเพิ่มรายที่ 3 หรือ 4 เพราะตลาดไทยเล็ก คงจะขาดทุน

แต่เป็นการบังคับให้มีการถือหุ้นกระจาย ไม่ปล่อยให้ผลกำไรตกอยู่ในมือของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือบริษัทแม่ต่างชาติบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่สาธารณชนต้องเป็นเจ้าของได้

กับดักประเทศรายได้ปานกลางกับกลุ่มทุนไทย

การลดการผูกขาดของกลุ่มทุน คงไม่ใช่การเก็บภาษีกำไรซื้อขายหุ้น หรือการเก็บภาษีบริษัทใหญ่มาให้บริษัทเล็ก เอาเงินคนรวยมาแบ่งให้คนจน อย่างที่บางพรรคการเมืองเสนอ

แต่ทำอย่างไรที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เข้มแข็ง เรียกฟื้นความเชื่อมั่นว่าเป็นแหล่งออมเงินและลงทุนของชนชั้นกลางที่ต้องเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญพบเห็นได้ในประเทศพัฒนา ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ร่ำรวยกันถ้วนหน้าในตลาดทุน ไม่ใช่เพียงหยิบมืออย่างไทยในปัจจุบัน

บริษัทการค้าสากล 5 แห่งของญี่ปุ่นที่บริษัท Berkshire Hathaway ของวอเรนต์ บัฟเฟ่ต์ กว้านซื้อหุ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และซื้อเพิ่มอีกหลังจากที่เขาไปเยือนญี่ปุ่นในเดือนเมษายน 2566 จนมีสัดส่วนการถือหุ้นสูงกว่า 8.5% รวมมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านเยน (เท่ากับ 1 ใน 4 ของงบประมาณประจำปีของไทย)

ได้แก่ มิตซูบิชิ มิตซุย อิโตชู มารุเบนิ และซุมิโตโมะ เดิมล้วนเป็นธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ที่เรียกกันว่า ไซบัตสึ (zaibatsu)

ผู้เขียน...

รศ.ดร.เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

สาขาการบริหารองค์การ การประกอบการ และทรัพยากรมนุษย์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์