ปตท. ชูแผนขับเคลื่อน 'ไฮโดรเจน' สู่พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต

ปตท. ชูแผนขับเคลื่อน 'ไฮโดรเจน' สู่พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต

"ไฮโดรเจน" พลังงานทางเลือกใหม่ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เริ่มศึกษาทิศทางเทคโนโลยีและโอกาสในการนำไฮโดรเจนมาใช้ เพื่อตอบโจทย์การลดการปล่อยคาร์บอน

นายธนา ศรชำนิ ผู้จัดการ สังกัดฝ่ายวิจัยเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ตอบโจทย์สภาวะโลกร้อน?" จัดโดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2566 ว่า การที่จะกำหนดสัดส่วนของการใช้งานของ ไฮโดรเจน ในอนาคตจะเป็นเช่นใดนั้น จะต้องพิจารณาไปพร้อมกับแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการเข้าสู่ Net Zero ในปี 2065 ของประเทศด้วย ทั้งนี้สาเหตุที่ทั่วโลกให้ความสนใจไฮโดรเจนมากขึ้น เนื่องจากไฮโดรเจนจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่สำคัญในการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หากไม่มี Decarbonization เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ไฮโดรเจนก็อาจไม่เกิดขึ้นเร็วอย่างที่คิดก็ได้ ทาง กลุ่ม ปตท. จึงนำเรื่องนี้มาเป็นตัวตั้งต้น ผนวกกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งอนาคต เพื่อดูว่าโอกาสในการใช้งานไฮโดรเจนในแต่ละแอปพลิเคชันควรเป็นเช่นไร

"กลุ่ม ปตท. ได้มีการวิเคราะห์ Decarbonization ในแต่ละ Sector ว่าควรมีไฮโดรเจนอยู่ในช่วงปริมาณเท่าไหร่ เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโลกให้ดีขึ้น"

ปตท. ชูแผนขับเคลื่อน \'ไฮโดรเจน\' สู่พลังงานทางเลือกแห่งอนาคต

นายธนา กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนการใช้งาน ไฮโดรเจน จะเกิดการผลักดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่จะต้องเกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยระดับประเทศ ทาง กลุ่ม ปตท. จึงได้ร่วมกับพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เช่น บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ BIG และกลุ่มบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ขึ้นเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีไฮโดรเจนในประเทศไทย 

"ขณะนี้ Hydrogen Thailand Club มีสมาชิกรวม 21 ราย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และบริษัทต่างชาติ จึงเกิดการสร้างเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ไฮโดรเจน ซึ่งการที่ไฮโดรเจนจะใช้งานได้จริงในประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการขับเคลื่อน โดยในระยะยาวนั้น ปตท. มองว่า ควรจะขยายผลการร่วมมือนี้กับในไฮโดรเจน คอมมิวนิตีอื่นทั่วโลกต่อไป"

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือของ Hydrogen Thailand ปตท. โออาร์ โตโยต้า และ BIG ได้ร่วมมือนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิง ไฮโดรเจน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) แห่งแรกของไทย โดยเปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจน (Hydrogen Refueling Station) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เมื่อปลายปี 2565 และนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานในประเทศ เพื่อให้บริการรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคจากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลในอนาคตต่อไป

นายธนา กล่าวต่อไปว่า ปตท. มีองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ร่วมกันศึกษาโอกาสการเติบโตของการใช้ไฮโดรเจนในไทย ดังตัวอย่างความพยายามผลักดันจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ปตท. กฟผ. และบริษัท ACWA Power จากประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย และล่าสุด ปตท. ได้ลงนาม MOU กับบริษัท JERA ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาโอกาสการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการนำเข้าแอมโมเนียเพื่อแตกตัวเป็นไฮโดรเจน โดยจะศึกษาในด้านของเทคนิคและต้นทุนในการได้มาของไฮโดรเจนจากแอมโมเนีย

"นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาโอกาสการผลิตในประเทศแล้ว ทางกลุ่ม ปตท. ก็มีการสร้างพันธมิตร เพื่อดูทิศทางการเคลื่อนไหวและความเป็นไปได้ในการลงทุน พร้อมกับเรียนรู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ นโยบายภาครัฐที่สนับสนุน แล้วนำเทคโนโลยีของพันธมิตรมาช่วยสนับสนุนธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ต่อไป"

นายธนา กล่าวต่อไปอีกว่า ตัวอย่างความเคลื่อนไหวด้านไฮโดรเจนที่เห็นเด่นชัดในช่วงนี้ จะเป็นสหรัฐที่สนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนอย่างมาก โดยเฉพาะ "กรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen)" ซึ่งมีการออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ เพื่อกระตุ้นตลาดของไฮโดรเจน รวมถึง Value Chain ที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ราคากรีนไฮโดรเจนมีแนวโน้มที่จะถูกลง และมองว่า หลังปี 2030 แนวโน้มราคากรีนไฮโดรเจนจะลดลงอีก น่าจะแข่งขันการ Clean Technology อื่นๆ ได้ และหากมีนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐ ก็จะทำให้ราคาลดลงอีก ส่งผลให้เป็น พลังงานทดแทน ต่อไปได้ นอกจากนี้ ไฮโดรเจนมีความหลากหลาย จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าจะเลือกใช้ไฮโดรเจนเพื่อตอบโจทย์ด้านใด อาทิ การใช้ไฮโดรเจนเพื่อใช้เป็นความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ 

"คาดกันว่าความต้องการ ไฮโดรเจน ในช่วงเริ่มต้น อาจจะยังไม่มากนัก จะเป็นการผลิตและใช้ในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเกรย์ไฮโดรเจน (grey hydrogen) บลูไฮโดรเจน (blue hydrogen) หรือกรีนไฮโดรเจน (Green Hydrogen) และในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มความต้องการใช้มาก ก็จะพิจารณาเรื่องการนำเข้า ซึ่งอาจมาในรูปแบบแอมโมเนีย และทำการดึงไฮโดรเจนออกมาใช้ หากตามเทรนด์การพัฒนาของเทคโนโลยีนี้ น่าจะใช้เชิงพาณิชย์ได้ในอีกไม่นาน" นายธนา กล่าวทิ้งท้าย