ส่องศูนย์การค้า-ห้างฝั่งธนบุรีจากยุคซบเซา สู่ขุมทรัพย์ค้าปลีกทศวรรษนี้

ส่องศูนย์การค้า-ห้างฝั่งธนบุรีจากยุคซบเซา สู่ขุมทรัพย์ค้าปลีกทศวรรษนี้

สำรวจเส้นทางค้าปลีกฝั่งธนบุรี ห้างดังในอดีต‘เมอร์รี่คิงส์’ จากยุครุ่งเรืองสู่วันที่ต้องปิดสาขา เมื่อสมรภูมิการค้าเปลี่ยน ชี้ปี 66 ศูนย์การค้าฝั่งธนบุรีกลับมาคึกคักสุดขีด ขึ้นแท่นทำเลทอง! เอกชนเร่งลงทุน ปรับพื้นที่ใหม่ เทรนด์ค้าปลีกมู่งสู่ไฮบริด มิกซ์ยูส

ส่องสมรภูมิค้าปลีกย่านฝั่งธนบุรีในปี 2566 มีความคึกคักสุดขีด ตั้งแต่ต้นปีจากการมีโครงการใหม่มาเปิดให้บริการทั้ง “ไอซีเอส” หรือ ICS มิกซ์ยูสไลฟ์สไตล์ ทาวน์ ที่มีทั้งธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรม และอาคารสำนักงาน มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงมีห้างค้าปลีก โลตัส มาเปิดให้บริการแบรนด์ “Lotus's Privé” พรีเมียมไฮเปอร์มาร์เก็ต โครงการอยู่ฝั่งตรงข้าม ศูนย์การค้า "ไอคอนสยาม" แลนด์มาร์กริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงช่วยกระตุ้นตลาดพื้นที่ค้าปลีกฝั่งธนบุรีให้ร้อนแรงขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ในปีนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ ประกาศแผนรีโนเวทสาขา เดอะมอลล์บางแค ไปสู่ "เดอะมอลล์ไลฟ์สไตล์บางแค" คาดว่าจะเปิดให้บริการโฉมใหม่ในเดือน ธ.ค. 2566 นี้ ส่วนปีที่ผ่านมา ซีคอน บางแค มีการปรับพื้นที่และดึงแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเปิดอย่าง ร้านดองกิ ร้านค้าปลีกจากญี่ปุ่นมาเปิดให้บริการครั้งแรกในย่านฝั่งธนบุรีเช่นกัน

 

แต่ท่ามกลางธุรกิจค้าปลีกในย่านฝั่งธนบุรีกำลังคึกคัก อีกทำเลอย่าง "วงเวียนใหญ่" หนึ่งในทำเลค้าปลีกที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต ช่วงยุค 80-90 ทั้งการมี ห้างเมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ และโรบินสัน ที่เคยเข้ามาเปิดให้บริการ ในห้วงเวลานี้กำลังเป็นที่จับตามองหลังอีกครั้งมีกระแสข่าวถึงการประกาศขาย ‘เมอร์รี่ คิงส์’ วงเวียนใหญ่ ราคา 550 ล้านบาท หากย้อนไทม์ไลน์สาขา เมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2529 และปิดให้บริการเมื่อปี 2550 รวมแล้วเปิดให้บริการมาร่วม 21 ปี จัดตั้งโดย บริษัท เมอร์รี่คิงส์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ จำกัด 

ภาพจำของ เมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่ ห้างดังในตำนาน หลายคนๆ ต่างบอกว่ามีความสวยงามทั้งผนังกระจกและลิฟท์แก้วที่หรูหรา และมีกลุ่มลูกค้าเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก หนาแน่นจนขนาดสะพานลอยคนแน่นเอี้ยด กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในย่านนี้ ที่ทุกคนต้องแวะมาเยือน ไปจนถึงจังหวัดใกล้เคียง

เส้นทางของการปิดสาขาแห่งนี้มาจากหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ทั้งการแข่งขันในตลาดค้าปลีกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงสถานะของบริษัทที่ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางธุรกิจ เนื่องจากมีสาขา เมอร์รี่คิงส์ ทั้งสะพานควาย และ รังสิต ประสบไฟไหม้ด้วย 

รวมถึงมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีโครงการลงทุนใหม่ๆ ในพื้นที่ การขยายตัวของเมืองส่งผลให้มีค้าปลีกหลายแห่งได้เข้ามาเปิดในพื้นที่มากขึ้น จึงกระทบต่อลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงไป ท้ายที่สุดบริษัท เมอร์รี่คิงส์ ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ต้องมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถูกฟ้องและต้องปิดตัวลงไปในที่สุด

นอกจากสาขาแห่งนี้แล้ว เมอรี่คิงส์ มีสาขาเปิดให้บริการรวมอีก 5 สาขา ประกอบด้วย เมอร์รี่คิงส์วังบูรพา สาขาแรกที่เปิดให้บริการในปี 2527 ต่อมา เมอร์รี่คิงส์สะพานควาย เปิดให้บริการปี 2528 เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ เปิดให้บริการปี 2529 เมอร์รี่คิงส์ปิ่นเกล้า เปิดให้บริการปี 2531 เมอร์รี่คิงส์รังสิต เปิดให้บริการปี 2536 และ เมอร์รี่คิงส์บางใหญ่ ที่อยู่ใน ศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์ บางใหญ่ เปิดให้บริการในปี 2542

แม้ว่าในปัจจุบัน เมอร์รี่คิงส์ ทั้ง 6 สาขา ได้ปิดให้บริการหมดแล้ว เหลือเพียง ตำนาน ห้างไทยที่เคยรุ่งเรืองในอดีต แต่หากมาถอดบทเรียนของ เมอร์รี่คิงส์ ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกสัญญาณต่อภาคธุรกิจไทยทุกแห่ง ทุกธุรกิจมียุครุ่งเรืองและซบเซาได้เสมอ จึงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดและพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเสมอ พร้อมมุ่งในการปรับตัว ต้องเตรียมแผนสำรองไว้รับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไว้! เพื่อสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ 

ต้องติดตามต่อไป จากแรงอานิสงค์ของค้าปลีกในฝั่งธนบุรีกำลังมาแรง จะมีเอกชนกลุ่มใด จะเข้ามาชิงพื้นที่ค้าปลีกแห่งนี้ และปลุกย่านวงเวียนใหญ่ให้กลับมาสร้างปฐมบทใหม่อีกครั้ง จากปัจจัยหนุนของทำเลที่มีรถไฟฟ้าหลายสายให้บริการ จากในปัจจุบันมีรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเปิดให้บริการ รวมถึงเส้นทางที่กำลังก่อสร้างทั้งรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงใต้ มีแผนเปิดให้บริการในปี 2570 ส่วนในระยะยาวจะมีสายสีแดงมาเชื่อมต่อพื้นที่แห่งนี้ เป็นทำเลทองที่น่าจับตามองอย่างมาก !

ธุรกิจค้าปลีกปรับสู่โมเดลแบบผสมไฮบริด

หากไปสำรวจธุรกิจห้างไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้ทยอยพลิกโฉมไปสู่การเปิดธุรกิจในรูปแบบศูนย์การค้ามากขึ้น ทั้งการมีห้าง การมีพื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ มาผสมผสานการให้บริการอย่างหลากหลาย สอดรับกับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนี้

แต่การเปิดศูนย์การค้า ต้องเป็นมากกว่าการเป็นพื้นที่ขายสินค้า หรือเปิดให้ทุกคนมาช้อปปิงเท่านั้น ต้องมุ่งตอบสนองการใช้ชีวิตมากขึ้น หรือเรียกว่า ไฮบริด รีเทล สโตร์ ที่มีพื้นที่ให้ทุกคนมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เพื่อทำให้ศูนย์การค้าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุกคน ทำให้เห็นการรีแบรนด์ ของบิ๊กเนมศูนย์การค้าไทยในช่วงที่ผ่านมาทั้ง

  • บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา ชูคอนเซ็ปต์การเป็น “Center of life” ศูนย์กลางการใช้ชีวิตของทุกคนและตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของทุกคน มาตั้งแต่ปี 2561 พร้อมปรับโฉมชื่อของศูนย์การค้าใหม่ อยู่ภายใต้ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ตามด้วยชื่อจังหวัดที่เปิด โดยตัดคำว่า เฟสติวัล และพลาซ่า ออกไป
  • บริษัท กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีการรีแบรนด์สู่ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ (THE MALL LIFESTORE) ใช้คอนเซ็ปต์ “A HAPPY PLACE TO LIVE LIFE : ชีวิตที่มีความสุขทุกครอบครัว” ทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกกลุ่ม เริ่มปรับมาตั้งแต่ปี 2563
  • ห้าง “โรบินสัน” แปลงโฉมสู่ศูนย์การค้า โรบินสันไลฟ์สไตล์แล้ว ภายใต้แนวคิด “Lifestyle and Experiential Community” ที่มุ่งการมอบประสบการณ์การช้อปปิงที่แตกกต่าง สำหรับการใช้ชีวิตในทุกวันใกล้บ้าน มาตั้งแต่ปี 2565

นอกจากนี้ การเปิดพื้นที่รีเทลแห่งใหม่ ได้มุ่งสู่ มิกซ์ยูส มีทั้งศูนย์การค้า เปิดออฟฟิศ ให้บริษัทต่างๆ มาเช่าพื้นที่ ไปจนถึง การมีธุรกิจโรงแรม และคอนโดมิเนียม อยู่ในบริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ของคนใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่มากขึ้น กระตุ้นธุรกิจที่อยู่ในย่านนี้ รวมถึงในปีนี้ได้เห็นการดึงกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาอยู่ในศูนย์การค้าเช่นกัน เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และสอดคล้องกับสังคมสูงวัยของไทยด้วย 

ประเมินค้าปลีกย่านฝั่งธนบุรีในอนาคต 

ทำเลค้าปลีกย่านฝั่งธนบุรีในอนาคต ยังมีโครงการทั้งคอนโดมิเนียมใหม่ๆ เตรียมจ่อคิวเปิดให้บริการต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ประกอบกับการมีศูนย์ราชการ ของกระทรวงมหาดไทย เตรียมเข้ามาเปิด เป็นอีกแม่เหล็กดึงคนเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก รวมถึงการมีสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหาร ในตำนานมากมาย ช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวให้เข้ามาเช็คอิน เป็นแรงขับเคลื่อนให้ค้าปลีกในพื้นที่นี้ขยายตัวแข็งแกร่งในระยะยาว