‘บิ๊กซี รีเทล’ ชี้ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น หนุนธุรกิจค้าปลีกแข็งแกร่ง

‘บิ๊กซี รีเทล’ ชี้ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น หนุนธุรกิจค้าปลีกแข็งแกร่ง

'บิ๊กซี รีเทล' เร่งปรับกลยุทธ์ครั้งสำคัญ การขายสินค้า การเปิดสาขา หนุนรายได้ไตรมาสแรกสุดแข็งแกร่ง ธุรกิจหนังสือ 'ร้านเอเชียบุ๊คส' ฟื้นตัว จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าไทย เดินหน้าผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งของอาเซียน  

บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "BRC" เตรียมแผนกลับมาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งภายในปี 2566 นี้ หลังจากการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เป็นระยะเวลารวม 6 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน(แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อ IPO

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ "BRC" กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกบิ๊กซีในไตรมาสแรกของปีนี้มีการขยายตัวดีต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกในเครือ

ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทได้เดินหน้าขยายธุรกิจ ทั้งขยายเครือข่ายร้านค้า จำนวน 180 แห่ง ในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งร้านค้าขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยเฉพาะเครือข่ายร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก ได้ขยายตัวให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชนให้ครอบคลุมมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบัน บิ๊กซี รีเทล มีเครือข่ายร้านค้ากว่า 3,184 แห่ง ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายสร้างการเติบโตในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมค้าปลีกและค้าส่งของภูมิภาคอาเซียนอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืนต่อไป

หากมาประเมินช่วงไตรมาสแรก บริษัทสร้างรายได้ที่ 2.74 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากปีก่อน และมีผลกำไร รวม 931.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139.4 ล้านบาท หรือ 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการฟื้นตัวของร้านค้าต่างๆ และรายได้ค่าเช่าและบริการที่เพิ่มขึ้น

 

‘บิ๊กซี รีเทล’ ชี้ท่องเที่ยว-เศรษฐกิจฟื้น หนุนธุรกิจค้าปลีกแข็งแกร่ง

รวมถึงมาจากการปรับกลยุทธ์การขายและการตลาด ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงสำหรับการขายสินค้าแบบ B2B และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าให้แก่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมภายใต้โมเดลร้านค้าโดนใจ เนื่องจากการขยายเครือข่ายร้านค้ามากขึ้น ทำให้ยอดขายสินค้าให้แก่สมาชิกที่เติบโต 

อีกทั้งได้รับแรงหนุนจากธุรกิจอื่นๆ ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส (Asia Books) มียอดขายขยายตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และมาจากการขายหนังสือภาษาต่างประเทศให้แก่สถาบันต่างๆ ส่วนธุรกิจร้านขายยา สิริฟาร์มา มีการปรับกลยุทธ์มุ่งขายปริมาณมาก และปรับการขายหน้าร้านเต็มรูปแบบ 

ขณะที่รายได้จากค่าเช่าและบริการก็สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ในร้านค้าขนาดใหญ่ ร้านค้าขนาดเล็ก และตลาด Open-Air หลังจากทยอยยกเลิกยกเว้นและส่วนลดค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายไป อีกทั้งจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ค่าเช่าต่อตารางเมตรต่อเดือน (ROS) ในร้านค้าในรูปแบบร้านค้าขนาดใหญ่และตลาด Open-Air เพิ่มขึ้นเป็น 872 บาท ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่ 846 บาท