หนังฟอร์มยักษ์แกร่งจ่อคิวเข้าฉาย หนุนธุรกิจโรงหนังภาพยนตร์ฟื้น

หนังฟอร์มยักษ์แกร่งจ่อคิวเข้าฉาย  หนุนธุรกิจโรงหนังภาพยนตร์ฟื้น

ตลาดโรงภาพยตร์ทยอยฟื้นตัวแกร่ง ขานรับหนังฟอร์มยักษ์ตัวแปรสำคัญดึงคนดูเข้าโรงต่อเนื่อง “เอสเอฟ ซีเนม่า” เดินหน้าสร้างรายได้ ผนึกพันธมิตรสู่ Naming Sponsor สร้างแบรนด์เจาะสาวกเสพความบันเทิงนอกบ้าน

นายสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ปี 2566 อาจยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่ากับช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในปี 2562 แต่แนวโน้มตลาดปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะมีภาพยนตร์หรือหนังฟอร์มยักษ์จ่อคิวเข้าฉายอย่างคึกคัก

ขณะที่ไตรมาส 1 มีหนังไทย หนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวู้ดทำเงินมหาศาล โดยเฉพาะอวตาร ภาค 2 ที่ฉายปลายปีก่อน สร้างโมเมนตัมเชิงบวก และสร้างประวัตศาสตร์ความสำเร็จด้วยการทุบสถิติทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 3 เรียบร้อยแล้ว

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 หนังฟอร์มยักษ์เดินหน้าเข้าฉายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม มีทั้งรวมพันธุ์นักสู่พิทักษ์จักรวาลหรือ Guardians of the Galaxy ผลตอบรับจากผู้ชมดีมาก ตามด้วย Fast and Furious X หนังแฟรนไชส์ความเร็วภาค 10 เงือกน้อยผจญภัย หรือ The little mermaid และกำเนิดจักรกลอสูร ภาค 7 (Transformers: Rise of the Beasts) เป็นต้น หากนับไลน์อัพตลอดทั้งปีมีนับ 10 เรื่อง

“ธุรกิจโรงภาพยนตร์ไม่ซับซ้อน หนังดีจะดึงคนดู คนเข้าโรงหนังแน่น ซึ่งปีนี้เราเห็นภาพการเติบโตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเทียบปีก่อน โดยเฉพาะไลน์อัพหนังฟอร์มยักษ์ปี 2566 ถือว่าจัดเต็มมาก หนังมีความแข็งแกร่ง แต่หากเทียบกับปี 2562 ถือว่ายังไม่แกร่งเท่า และการฟื้นตัวยังไม่กลับมาเท่าก่อนเกิดโรคระบาด”

นอกจากหนังฟอร์มยักษ์ปัจจัยทำเงิน บริษัทยังเดินหน้าสร้างการเติบโตรายได้ ผนึกพันธมิตรขับเคลื่อนการสร้างแบรนด์ผ่านกลยุทธ์ Naming Sponsor ล่าสุด แบรนด์น้ำดื่มซีทรู(C2) มาอยู่ในโรงภาพยนตร์ Zigma Cinestadium presented by C2 ของเอสเอฟ ซีเนม่าจำนน 8 สาขาทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์คนดู รวมถึงการนำน้ำดื่มซีทรู มาจำหน่ายที่โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่าทั้ง 66 สาขาทั่วประเทศ

การร่วมมือครั้งนี้ ยังทำให้เอสเอฟฯ มีพันธมิตรรวม 4 ราย มาสร้างแบรนด์ผ่านโรงภาพยนตร์ จากเดิมมี NT First Class Cinema Mastercard Cinema และ The Bed Cinema by Omazz

“การมีแบรนด์ทำตลาดในโรงภาพยนตร์เป็น Naming Sponsor ทำให้ลูกค้าคอหนังได้ประสบการณ์แตกต่างกันกลับไป อย่างที่นอนโอมาซ ลูกค้าได้สัมผัสการนอนที่นอนตัวท็อปซึ่งมีราคาระดับ 600,000-1,000,000 บาทต่อคู่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นทีมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้บริการลูกค้า มาสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านโรงภาพยนตร์ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมโรงหนังปรับตัวดีขึ้น แต่ยังเผชิญความท้าทายธุรกิจด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 10% จากต่อปีจ่ายค่าไฟหลักร้อยล้านบาท