เบอร์หนึ่งโลกก็มีกงสี! วิธีจัดการมรดกของ ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ แห่ง ‘LVMH’

เบอร์หนึ่งโลกก็มีกงสี! วิธีจัดการมรดกของ ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ แห่ง ‘LVMH’

ส่องวิธีการบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สินมูลค่าแสนล้านดอลลาร์ของ “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” เจ้าพ่ออาณาจักรลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก “LVMH”

Key Points:

  • “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” (Bernard Arnault) มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก ใช้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อส่งต่อให้กับทายาททั้งห้า ด้วยวิธีคิดแบบ “กงสี”
  • อาร์โนลต์ฝึกลูกๆ ตั้งแต่เด็ก ต้องแม่นยำเรื่องตัวเลข ไม่แสดงออกให้สาธารณชนเห็นถึงความขัดแย้ง และมีบริษัทเป็นหัวใจสำคัญเสมอ
  • จนถึงตอนนี้ อาร์โนลต์ก็ยังไม่ได้วางตัวทายาทที่จะขึ้นรับตำแหน่งประธานบริหาร “LVMH” ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ที่เหมาะสมในช่วงเวลาและสถานการณ์ ณ ขณะนั้น

ปลายปี 2022 นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) และสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานการจัดอันดับ “Billionaires Index” หรือดัชนีมหาเศรษฐีโลก โดยระบุว่า “เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์” (Bernard Arnault) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งอาณาจักรลักชัวรีแอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี หลุยส์ วิตตอง (LVMH) ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีรวยอันดับ 1 ของโลก ด้วยทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 16 ล้านล้านบาท

“LVMH” ภายใต้การกุมบังเหียนของอาร์โนลต์วัย 74 ปี มีธุรกิจในเครือเกือบร้อยแบรนด์ ประกอบด้วยธุรกิจแฟชัน น้ำหอม เครื่องสำอางค์ เครื่องหนัง จิลเวอรี นาฬิกา ไปจนถึงธุรกิจอาหารและไวน์ ฯลฯ ท่ามกลางความมั่งคั่งและเซกเมนต์ธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้เป็นที่จับตามองว่า ในอนาคต อาร์โนลต์จะส่งไม้ต่อการบริหารธุรกิจให้กับทายาทคนไหน ด้วยวิธีการใดบ้าง

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนอ่านวิธีการบริหารอาณาจักรแสนล้านของมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก โดยปัจจุบัน อาร์โนลต์วางแผนกระจายธุรกิจหลายๆ ส่วนให้ทายาทแต่ละคนเข้ามาดูแล เรียนรู้งานระยะหนึ่งแล้ว ด้วยจำนวนธุรกิจและมูลค่าของทรัพย์สินที่ถือครอง อาจเรียกได้ว่า นี่คือการจัดสรร-แบ่งงานแบบ “กงสี” เลยก็ว่าได้

เบอร์หนึ่งโลกก็มีกงสี! วิธีจัดการมรดกของ ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ แห่ง ‘LVMH’

  • พื้นฐานต้องเก่งคณิตศาสตร์ โตแล้วต้องดูแล-ให้คำปรึกษาได้

อาร์โนลต์เริ่มต้นปูพื้นฐานทายาทอาณาจักร “LVMH” ทุกคนด้วยการฝึกฝนลูกๆ ให้เชี่ยวชาญในวิขาคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เพราะรู้ว่าความเจนจัดเรื่องตัวเลขสำคัญอย่างยิ่งกับการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้ โดยเฉพาะในเรื่องของ “Negotiation” หรือทักษะการเจรจาต่อรอง ที่จำเป็นแก่ผู้บริหารทุกคน

เมื่อลูกๆ โตขึ้น อาร์โนลต์จะนัดกินข้าวมื้อกลางวันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัวเดือนละครั้ง ที่สำนักงานใหญ่ “LVMH” แน่นอนว่า คงไม่ใช่นัดรับประทานอาหารธรรมดาๆ จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด อาร์โนลต์จะเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการอ่านหัวข้อที่เตรียมมาให้ลูกๆ ทุกคนรับฟังพร้อมกัน จากนั้น เขาจะเริ่มเดินไปรอบๆ โต๊ะเพื่อขอคำแนะนำจากทั้งห้าคน โดยเน้นไปยังบริษัทและธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบและการบริหารของแต่ละคน ทั้งคำถามที่เกี่ยวกับธุรกิจ รวมถึงการบริหารงานบุคคลด้วย

ปัจจุบัน เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แบ่งสัดส่วนการบริหารธุรกิจในเครือให้กับลูกๆ อย่างชัดเจน ทว่า สำหรับคำถามที่เป็นที่จับตามองมาโดยตลอด คือ ในอนาคต เขาวางตัวใครเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารใหญ่นั้น จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปิดเผยรายชื่อออกมา อีกทั้งตัวอาร์โนลต์เองก็ได้ขยายอายุเกษียณตำแหน่งซีอีโอซึ่งเป็นตำแหน่งปัจจุบันของตนไปจนถึงอายุ 80 ปีด้วย นั่นแปลว่า อาร์โนลต์จะยังคงกุมเก้าอี้สูงสุดต่อไป และในขณะเดียวกันก็ได้ฝึกฝนลูกๆ ไปพลาง ด้วยการแจกจ่ายเก้าอี้บริหารของแบรนด์ในเครือด้วยวิธีคิดแบบ “กงสี”

เบอร์หนึ่งโลกก็มีกงสี! วิธีจัดการมรดกของ ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ แห่ง ‘LVMH’ photo credits: WSJ

  • แบ่งสันปันส่วน นั่ง “หัวเรือใหญ่” คนละแบรนด์ชัดเจน

ปัจจุบัน อาร์โนลต์มอบหมายบทบาทสำคัญในการบริหารธุรกิจให้แก่ลูกๆ ทั้ง 5 คน ในตำแหน่ง และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • “เดลฟีน อาร์โนลต์” (Delphine Arnault) ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “Dior” แบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มธุรกิจ “LVMH”
  • “อองตวน อาร์โนลต์” (Antoine Arnault) ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “Christian DIOR SE” บริษัทโฮลดิงที่ครอบครัวใช้ในการควบคุม “LVMH” ด้วยการถือหุ้น
  • “อเล็กซานเดร อาร์โนลต์” (Alexandre Arnault) ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “Tiffany & Co.” 
  • “เฟรเดริก อาร์โนลต์” (Frederic Arnault) ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “Tag Heuer” 
  • “ฌอน อาร์โนลต์” (Jean Arnault) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาแผนกนาฬิกา “Louis Vuitton”

ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร อาร์โนลต์จะใช้วิธีการจับคู่ลูกๆ กับผู้บริหารระดับสูงที่ไว้ใจได้ เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประกบก่อนลงสนามจริง โดยผู้บริหารคู่บุญที่อาร์โนลต์ทำงานมาด้วยกันหลายสิบปี คือ ซิดนีย์ ทอเลดาโน (Sidney Toledano) อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารดิออร์ และไมเคิล เบิร์ก (Michael Burke) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหลุยส์ วิตตอง

ทั้งสองทำงานร่วมกับอาร์โนลต์มาหลายทศวรรษ และยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพี่เลี้ยงของลูกๆ อย่างเดลฟีนลูกสาวคนโตที่มีความคล้ายพ่อมากที่สุด ก่อนจะขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอ เธอเคยทำงานร่วมกับเบิร์กมาแล้วเมื่อปีค.ศ. 2013 อาร์โนลต์จะคอยถามฟีดแบ็กเกี่ยวกับลักษณะนิสัย รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเก็บไปปรับปรุงแก้ไขลูกๆ ของตนต่อไป

ทอเลดาโนเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับลูกสาวคนโตของอาร์โนลต์ไว้ว่า “ตอนนี้เธอได้รับวัคซีนแล้ว และยังได้รับครบทั้งสองโดสด้วย” กล่าวคือ เดลฟีนได้ฝึกงานร่วมกับสองคนสำคัญ ทั้งตัวทอเลดาโน และไมเคิล เบิร์ก แม้ทอเลดาโนจะภาคภูมิใจในตัวเดลฟีนมาก และถูกสื่อหลายสำนักคาดการณ์ไว้ว่า น่าจะเป็นตัวเต็งผู้รับมอบตำแหน่งสำคัญต่อจากอาร์โนลต์ผู้พ่อต่อไป กระนั้น ทอเลดาโนก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ตลอดหลายปีมานี้ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ รู้ดีว่าตนถูกจับตาในประเด็นดังกล่าวมาตลอด แต่เขาก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องการสืบทอดอำนาจในที่สาธารณะเลย แม้คนใกล้ชิดจะบอกว่า เรื่องนี้อยู่ในใจของอาร์โนลต์มาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม

เบอร์หนึ่งโลกก็มีกงสี! วิธีจัดการมรดกของ ‘เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์’ แห่ง ‘LVMH’

เจ้าพ่อ “LVMH” ไม่เพียงแต่วางตัวลูกๆ ในการบริหารงาน แต่ยังดำเนินการ-วางแผนองค์กรภายในให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่า หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อาณาจักรหรูหราที่ใหญ่ที่สุดแห่งนี้จะยังคงอยู่ต่อไป โดยไม่นานมานี้ เขาได้เปลี่ยน “Agache” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิงเอกชน ให้กลายเป็นหน่วยบัญชาการภายในของ “LVMH” รวมถึงหน่วยงานที่มีลักษณะคล้ายๆ กันอย่าง “Agache Commandite SAS” ก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ถือหุ้นโดยลูกๆ ทั้งห้าคน แต่ละคนมีสัดส่วนถือหุ้นคนละ 20 เปอร์เซ็นต์ การตัดสินใจสำคัญๆ ทั้งหมด เช่น การเลิกกิจการ “Agache” ต้องได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์จากลูกๆ เสียก่อน

โดยบริษัทใหม่นี้ จะมีการหมุนเวียนตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในกลุ่มลูกๆ ทั้งห้าคน คนละ 2 ปี และมีข้อกำหนดว่า ไม่สามารถขายหุ้นได้เป็นเวลา 30 ปี หากไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ อย่างเป็นเอกฉันท์ และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว จะมีเฉพาะทายาทสายตรงของอาร์โนลต์เท่านั้นที่สามารถถือหุ้นได้

ในมุมของอาร์โนลต์ การวางหมากลักษณะนี้ เป็นเพราะต้องการให้ทรัพย์สินทั้งหมดผูกโยงโดยตรงกับต้นตระกูลเท่านั้น ป้องกันการสูญสลายของอาณาจักร “LVMH” แต่ในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดต่างๆ ทั้งการถือหุ้น การขายทอดทรัพย์สินก็อาจทำหน้าที่เป็น “กรงขังชั่วนิรันดร์” ให้กับทายาทของเขาได้เหมือนกัน ตามคำบอกเล่าของนักธุรกิจผู้ใกล้ชิดกับอาร์โนลต์

  • อนาคตของ “LVMH” และผู้กุมบังเหียนคนต่อไป

ทอเลดาโนเปิดเผยกับสำนักข่าวเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ว่า ตนเชื่อมั่นว่าลูกๆ ของอาร์โนลต์จะทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะพ่อของพวกเขาสอนมาตั้งแต่เด็กว่า ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทมาเป็นอันดับแรก ซึ่งตอนนี้ทั้งห้าคนก็ทำได้ดีมาก และทั้งห้าพี่น้องยังระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่สร้างภาพลักษณ์ที่ทำให้เกิดภาพของความขัดแย้ง หรือดูเป็นคู่แข่งกันมากจนเกินไป มีเรื่องเล่าว่า อาร์โนลต์เน้นย้ำเรื่องนี้ให้กับทั้งห้าพี่น้องตั้งแต่ยังเด็ก จะไม่มีการพูดคุยหยอกล้อกระทั่งในวงพี่น้องกันเองว่า ใครเล่นเปียโนเก่งที่สุด ใครเล่นเทนนิสเก่งที่สุด ฯลฯ เพราะพ่อของพวกเขาจะไม่สนับสนุนให้ทำสิ่งนั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวจากคนใกล้ชิดของอาร์โนลต์ระบุว่า ผู้เป็นพ่อได้ติดต่อไปยังลูกๆ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาละเอียดอ่อนที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ โดยมีการเปิดเผยในภายหลังว่า ในสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อกำลังกัดเซาะประชาชน ทำให้สังคมเกิดความโกรธแค้น และพุ่งเป้ามายังมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของโลก ทำให้อาร์โนลต์เกิดความกังวลว่า ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นจะสร้างแรงกระเพื่อมเชิงลบให้กับทายาทหรือไม่

โดยหลังจากนั้น ลูกๆ ได้แนะนำให้อาร์โนลต์เปิดเผยการดำเนินงานของเครือ “LVMH” ต่อสาธารณชนมากขึ้น เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่า บริษัทมีวิธีการทำงานอย่างไร และภายใต้ความมั่งคั่งที่ทุกคนเห็นนั้น บริษัทต้องจ่ายภาษีให้กับฝรั่งเศสด้วยจำนวนมหาศาลเป็นจำนวนเท่าไรบ้าง ซึ่งอาร์โนลต์ก็น้อมรับคำแนะนำดังกล่าว แม้หลังจากนั้นบริษัทยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ เผชิญกับแรงเสียดทานจากผู้คนไปสักระยะ

จนถึงตอนนี้ เจ้าพ่อ “LVMH” ก็ยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสื่อสาธารณะว่า เขาได้วางตัวทายาทคนไหนเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งโดยตรง ทอเลดาโนมองว่า ในมุมของอาร์โนลต์แล้ว คนที่รับตำแหน่งต่อไม่ได้ถูกวางไว้ว่า ต้องเป็นทายาทโดยตรงเท่านั้น แต่ต้องเป็นใครก็ตามที่เก่งที่สุด ด้วยเวลาที่เหมาะสม และความท้าทาย ณ ขณะนั้น จะเป็นเครื่องชี้วัดเองว่า ใครจะเป็นประธานบริหาร “LVMH” คนต่อไป

 

อ้างอิง: The Wall Street JournalBangkokbiznewsThansettakij