LVMH ที่ไม่ได้ขายแค่ Louis Vuitton | พสุ เดชะรินทร์

LVMH ที่ไม่ได้ขายแค่ Louis Vuitton | พสุ เดชะรินทร์

สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการจัดอันดับ บุคคลที่รวยที่สุดในโลกของค่าย Bloomberg ที่ประกาศให้ Bernard Arnault ขึ้นมาเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลก สามารถแซงชนะ Elon Musk แชมป์เก่าลงไปได้

หลายคนอาจจะสงสัยว่า Bernard Arnault คือใคร และทำไมถึงร่ำรวย ข่าวในสื่อส่วนใหญ่ก็บอกเพียงว่าคุณ Arnault เป็นประธานกรรมการและซีอีโอ LVMH (Moet Hennessy Louis Vuitton) เจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton 

    ประวัติคุณ Arnault และ LVMH สามารถเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาทางธุรกิจของบริษัท ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

คุณ Arnault เป็นชาวฝรั่งเศส เริ่มต้นจากทำธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว จากนั้นในปี 1984-1985 ได้เข้าไปซื้อบริษัท Boussac ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Christian Dior ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจสินค้าหรู (Luxury Business)

ในปี 1987 มีการควบรวมของยักษ์ใหญ่ในวงการสินค้าหรูสองเจ้าคือ Louis Vuitton กับ Moet Hennessy (ซึ่งบริษัทหลังก็เกิดจากการรวมตัวระหว่างผู้ผลิตแชมเปญ Moet & Chandon กับ ผู้ผลิตคอนยัค Hennessy) ในปี 1989 คุณ  Arnault ก็ได้เข้าไปซื้อกิจการของ LVMH และเป็นทั้งประธานกรรมการและซีอีโอจนถึงทุกวันนี้

เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารแล้ว LVMH แล้วก็ใช้กลยุทธ์การเติบโตโดยการเข้าซื้อกิจการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วก็ได้เข้าไปซื้อ Tiffany ผู้ผลิตเพชรและเครื่องประดับชั้นนำของอเมริกา จนคุณ Arnault ได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า The Wolf in Cashmere หรือ จิ้งจอกที่สวมแคชเมียร์

    ปัจจุบันถือว่า LVMH เป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าหรู ในปี 2021 มีรายได้กว่า 64,000 ล้านยูโร มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 175,000 คน มีร้านค้าปลีกมากกว่า 5,500 ร้านทั่วโลก ถือเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจสินค้าหรู มีแบรนด์ดังๆ มากกว่า 75 แบรนด์ (ทาง LVMH จะเรียกว่า House หรือบ้าน)

LVMH แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

1. Wines & Spirits แบรนด์ที่คุ้นเคยทั่วไปก็เช่น Dom Perignon, Moet, Hennessy

2. แฟชั่นและเครื่องหนัง แบรนด์ที่คุ้นเคย นอกจาก Louis Vuitton ยังมี Loewe, Rimowa, Fendi, Celine, Dior, Pucci, Givenchy, Kenzo, Marc Jacobs เป็นต้น

3. น้ำหอมและเครื่องสำอาง เช่น Stella, Guerlain, Benefit

4. นาฬิกาและเครื่องประดับ เช่น Tiffany, Tag Heuer, Zenith, Bulgari, Hublot

5. ค้าปลีก เช่น Sephora นอกจากนี้ยังไม่รวมบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าหรู เช่น เรือสำราญ โรงแรม เป็นต้น

LVMH ที่ไม่ได้ขายแค่ Louis Vuitton | พสุ เดชะรินทร์

    การเติบโตของ LVMH ที่ผ่านมาจะเน้นการขยายกิจการโดยการเข้าซื้อธุรกิจอื่น ซึ่งความท้าทายสำคัญ คือ เมื่อมีแบรนด์ (หรือบ้าน ตามที่ LVMH เรียก) จากการเข้าซื้อกิจการจำนวนมาก ผนวกกับเป็นธุรกิจที่อาศัยการออกแบบ การคิดสร้างสรรค์เป็นแนวทางในการสร้างความสำเร็จ

คุณ Arnault จะสร้างความสามารถบริหารแบรนด์ต่างๆ ที่แตกต่าง (และยังเป็นคู่แข่งขันกันบ้าง) ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร รวมทั้งจะสร้างความสมดุลระหว่างการออกแบบ การคิดสร้างสรรค์กับการรักษามาตรฐานและการเติบโตทางธุรกิจ อีกทั้งความเป็นบริษัทจดทะเบียน ก็ต้องปฎิบัติตามเกณฑ์และความต้องการของนักลงทุนพร้อมๆ กันอีกด้วย 

    เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น LVMH ได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานของตนไว้เลยว่าประกอบด้วย 6 แนวทาง ประกอบด้วย

1) มีการกระจายอำนาจ (Decentralized) เพื่อให้แต่ละบ้าน หรือ แบรนด์นั้นมีอิสระ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้เร็วกว่า อีกทั้งเพื่อให้พนักงานแต่ละบ้านได้มีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ

2) มีการเติบโตจากภายใน ทุ่มทรัพยากรในการพัฒนาแต่ละบ้านเพื่อให้เติบโต

3) การดำเนินงานที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ (Vertical Integration)  เพื่อให้มั่นใจได้ถึงคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าจากแต่ละบ้าน

4) สร้าง Synergy ของทั้งเครือ แต่ก็ยังรักษาความอิสระของแต่ละบ้าน

5) รักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์และความโดดเด่นของแต่ละบ้านจากรุ่นสู่รุ่น

6) สร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตในแต่ละธุรกิจและภูมิภาค
    ต้องถือว่า LVMH เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่น่าติดตาม และเป็นบริษัทที่เติบโตและยิ่งใหญ่แบบเงียบๆ (ตามสไตล์ซีอีโอ)เมื่อเทียบกับบริษัทชั้นนำอื่นๆ    

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]