'บิ๊ก 4' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน

'บิ๊ก 4' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย  FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน

บรรยากาศกีฬา “ซีเกมส์” ครั้งที่ 32 อาจดูกร่อย ไม่คึกคัก จากแฟนๆเหมือนในอดีต แต่นี่คือนาทีทองของแบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติไทย ได้อวดศักดา สร้างการรับรู้ เจาะใจผู้บริโภค แล้วบนสังเวียนตลาดหมื่นล้าน "FBT-Grand Sport-Ari-Warrix" ใครเป็นใคร ใหญ่แค่ไหน เจาะเส้นทางธุรกิจบิ๊ก 4

ซีเกมส์ครั้งที่ 32 เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยมี “กัมพูชา” เป็นเจ้าภาพ พิธีเปิดเริ่มขึ้นเมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีการแข่งขันกีฬาหลายประเภท นักกีฬาทุ่มเทกันสุดชีวิตเพื่อคว้าเหรียญทองมาครองให้ได้

บรรยากาศโดยรวมของกีฬาระดับภูมิภาคอย่าง “ซีเกมส์” ไม่ได้คึกคัก หรือได้รับความสนใจจากแฟนๆเหมือนในอดีต เพราะในโลกยุคปัจจุบันมี “คอนเทนท์” มากมายที่ “ชิงเวลา” ดึงดูดคนดู

ทว่า ซีเกมส์กร่อย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ตลาดเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาภายใต้ “แบรนด์ไทย” ที่ต่างพากันยึดพื้นที่บนอกเสื้อทีมชาติต่างๆ ทำหน้าที่สนับสนุนหรือเป็นสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติไทย กัมพูชา เมียนมา ลาว ฯ ต่างใส่เสื้อผ้าแบรนด์กีฬาสัญชาติไทยให้เห็น 

กรุงเทพธุรกิจ ชวนสำรวจวิเคราะห์ตลาดแบรนด์กีฬาสัญชาติไทย ซึ่งปัจจุบันมี “บิ๊ก 4” ที่โดดเด่น และทำเงินระดับ “พันล้านบาท” กันเกือบถ้วนหน้า

เอฟบีทียืนหนึ่งกว่า 70 ปี

“เอฟบีที”(FBT) ถือว่ายืนหนึ่งและเป็นตำนานของแบรนด์สินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาของไทย ที่มีต้นกำเนิดจาก “กมล โชคไพบูลย์กิจ” ที่เดินทางจากเมืองจีน มาตั้งรกรากในประเทศไทย และเริ่มทำธุรกิจซ่อมรองเท้า กระทั่งปี 2493 มีโอกาสได้ซ่อมลูกฟุตบอลของชาวต่างชาติ นำไปสู่การเรียนรู้เย็บลูกฟุตบอล

2 ปีหลังจากนั้น กิจการเริ่มขยับขยายสู่การตั้งบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด หรือ FBT ขึ้น ปัจจุบันสร้างอาณาจักรสินค้ากีฬาจนเติบใหญ่ยั่งยืนกว่า 70 ปีแล้ว ถือเป็นองค์กรธุรกิจที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย

\'บิ๊ก 4\' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย  FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน

แบรนด์เก่าไม่ทำตัวแก่ X Guardians of the Galaxy เอาใจสาวก

กลยุทธ์การทำตลาดสำคัญของ “เอฟบีที” คือปี 2509 ที่เข้าเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 เพราะถือเป็นการประกาศศักดาแบรนด์ไทยให้ผู้บริโภคและตลาดระดับ “ภูมิภาคเอเชีย” ได้เห็นในวงกว้าง

ปัจจุบันเอฟบีที ขยายตลาดจำหน่ายสินค้าไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ณ ประเทศกัมพูชา ชาวอาเซียนได้เห็นแบรนด์ดังกล่าวอยู่บนเสื้อนักกีฬาหลายประเทศ และหลายชาติด้วย

นอกจากอิง “กีฬา” เพื่อทำตลาด แต่เอฟบีทีมุ่งสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์ ด้วยการนำลิขสิทธิ์หรือไลเซ่นส์ภาพยนตร์ดัง ซึ่งล่าสุดคือ การ Collaboration หรือ X กับ Guardians of the Galaxy สร้างสรรค์เสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ๆ เอาใจสาวกแบรนด์และคอหนัง เป็นการขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้น

การเป็นองค์กรเก่าแก่ของ “เอฟบีที” สร้างแบรนด์ให้โด่งดัง อีกด้านคือ “รายได้” ที่ขยายตัว และเผชิญความท้าทายแตกต่างกันไป แต่ภาพรวมที่เคยมั่งคั่ง สามารถโกยเงินมากกว่า “พันล้านบาท” ต่อปี

แกรนด์สปอร์ต ในมือทายาทรุ่น 2

อีกแบรนด์สัญชาติไทย ยกให้ “แกรนด์สปอร์ต”(Grand Sport) ของตระกูล “พฤกษ์ชะอุ่ม” โดย “กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” อดีตนักบาสเกตบอล ที่ผันตัวเข้าสู่วงการธุรกิจ และปลุกปั้นแบรนด์ขึ้นมา

\'บิ๊ก 4\' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย  FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน แกรนด์สปอร์ตกับชุดสนับสนุนนักกีฬาไทยแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32

แม้บาสเกตบอล จะเป็นกีฬาที่ “กิจ” คร่ำหวอด แต่เมื่อสร้างสรรค์แบรนด์สินค้ากีฬา จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งของบริษัทคือการเป็นผู้สนับสนุน สมาคมวอลเลย์บอล และผลักดันจนผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของโลก

ปัจจุบัน “ทายาทรุ่น 2” ของตระกูลพฤกษ์ชะอุ่ม เข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว หลังจากสิ้น “กิจ” ไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

กลยุทธ์การตลาดของแกรนด์สปอร์ต ที่โดดเด่น หนีไม่พ้นการเป็นผู้สนับสนุนทีมชาติไทย ในกีฬาประเภทต่างๆ รวมถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ด้วย ซึ่งมีการออกคอลเล็กชั่นสุดสวยให้กับนักกีฬาได้สวมใส่ พร้อมสร้างการรับรู้แบรนด์ไปในตัวด้วย

ปัจจุบัน “แกรนด์สปอร์ต” ถือเป็นอีกแบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติไทยที่อายุเก่าแก่เกินครึ่งศตวรรษ(62 ปี) และการทำรายได้ของบริษัทอยู่ระดับ “พันล้านบาท” เช่นกัน อย่างปี 2562 ทำเงินกว่า 1,113 ล้านบาท นอกจากฝั่งผลิต ยังมีการตั้งบริษัทเพื่อทำการตลาดอย่าง “แกรนด์ มาร์เก็ตติ้ง” ทำเงินไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาทต่อปีด้วย

นอกจากแบรนด์ระดับตำนาน ที่อยู่คู่กับผู้บริโภคชาวไทยมาตั้งแต่เด็ก ทั้ง “เอฟบีที” และ “แกรนด์สปอร์ต” ที่เชื่อว่าทุกคนเคยสวมใส่มาแล้ว ยังมีแบรนด์ไทย “น้องใหม่” ที่แจ้งเกิด และทำผลงานอย่างโดดเด่นด้วย

\'บิ๊ก 4\' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย  FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน ตลาดสินค้าชุดกีฬา ที่มา : วอริกซ์

ร้านอาริ แตกไลน์การเติบโต

“อาริ”(Ari) ที่เกิดจาก Passion ของ “ศิวัช วสันต์สิงห์” ซึ่งต้องการเปิดร้านขายรองเท้าสตั๊ด เอาใจคนรักฟุตบอลจริงๆ จากร้านแรกที่เปิดให้บริการที่ อาริน่า 10 ทองหล่อ ปัจจุบันการเดินทางของแบรนด์เติบโตสู่ปีที่ 16 แล้ว

การเปิดร้านของ “อาริ” ขยับขยายอาณาจักรร้านสินค้ากีฬาทีละสเต็ป มีจำนวนสาขามากขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 สาขาแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังแตกไลน์บริการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาริบาเบอร์ อาริรันนิ่ง เป็นต้น โดยแยกบริษัทย่อย และมีทุนจดทะเบียนมากน้อยแตกต่างกันไป

หนึ่งในการสร้างแบรนด์ของ “อาริ” ที่โดดเด่น ต้องยกให้การใช้สื่อโฆษณานอกบ้าน พร้อมกับนักฟุตบอลดังระดับโลก ไม่ว่าจเป็นคริสเตียโน โรนัลโด ลีโอเนลเมสซี่ ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ ปลุกกระแสความนิยมให้แบรนด์ “แจ้งเกิด” ได้อย่างงดงาม

“อาริ” นอกจากมีร้านจำหน่ายสินค้ากีฬา มีบาร์เบอร์ ฯ ทำให้รายได้รวมของกลุ่มบริษัท บูทรูม จำกัด ทะยานสู่ระดับ “พันล้านบาท” ไม่น้อยหน้าแบรนด์รุ่นใหญ่ของพี่ๆในวงการด้วย

"วอริกซ์" ผู้ท้าชิงใหม่ ขอเปลี่ยนเกมตลาด

มีน้องใหม่เดินทางในวงการสินค้ากีฬาเกิน 1 ทศวรรษอย่าง “อาริ” แต่ที่เพิ่งครบ 10 ปีหมาดๆ ยกให้ “วอริกซ์”(Warrix) ที่ก่อตั้งโดย วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด(มหาชน) ผู้มีความมุ่งมั่นในการทลายข้อจำกัดการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของเมืองไทย

\'บิ๊ก 4\' แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย  FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน ข้อมูลย้อนหลัง บิ๊ก 4 แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย ที่มา : วอริกซ์

การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งไทย(ตลท.) เป็นหนึ่งในหนทาง “ปลดล็อก” หาเงินทุนด้วยการระดมทุน เพื่อขยายธุรกิจ

เส้นทางธุรกิจสินค้ากีฬาของ “วอริกซ์” คือต้องการเป็น “ผู้นำเทรนด์” และต้องการเป็นผู้เปลี่ยนเกมการแข่งขันหรือ Game Changer สร้างความแตกต่าง สร้างแบรนด์ให้แกร่ง ไม่แค่ในประเทศไทย แต่มองไกลถึง “อาเซียน” และระดับสากล เช่น ตลาดยุโรป

“วอริกซ์” รายงานภาพรวมตลาดกีฬาในประเทศไทยไว้น่าสนใจหลายด้าน อย่างแรก กลุ่มเป้าหมาย “คนเล่นกีฬา” มากกว่า 16 ล้านคน จากประชากรเกือบ 70 ล้านคน ซึ่งถือว่าใหญ่ไม่น้อย ทำให้มีความต้องการใช้สินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาฯ ที่หลากหลาย

ตัวเลขผู้เล่นกีฬา ยังไม่รวมถึงผู้บริโภคทั่วไป ที่ชื่นชอบ ชมกีฬา สวมใส่เสื้อกีฬา ในฐานะ “กองเชียร์” อีกมหาศาล

การเล่นกีฬา กระแสรักสุขภาพ รวมถึงการเชียร์ ต่างช่วยปลุกตลาดสินค้ากีฬามูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

สำหรับอาวุธ(ไม่)ลับในการทำตลาดของ “วอริกซ์” คือการเป็นเข้าไปเป็น “สปอนเซอร์” ให้กับกีฬาประเภทต่างๆ ภายใต้ระยะเวลาแตกต่างกัน แต่การมีแผนชัดเจนดังกล่าวไม่ว่าจะ 3 ปี 6 ปี ทำให้บริษัทเห็น “เป้าหมาย” การเติบโตได้ชัดเจนขึ้น และวางกลยุทธ์เพื่อผลักดันยอดขายสินค้าต่างๆด้วย และการที่ “วอริกซ์” เข้าไปสนับสนุน มีทั้งในส่วนของ “เงิน” และ “ผลิตภัณฑ์” ให้แก่สมาคม กลุ่มองค์กร สโมสร ฯ กีฬาทั้งในและต่างประเทศ

“ฟุตบอล” ถือเป็นกีฬายอดฮิตของคนทั้งโลกรวมถึงไทย และ “วอริกซ์” ไม่พลาดโอกาสเข้าไปสนับสนุนสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย(ผ่านแพลนบี มีเดีย ในฐานะผู้บริหารสิทธิ) และช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ รวมถึงสร้างยอดขายได้ เพราะแฟนบอลสโมสรไหน ย่อมซื้อเสื้อสโมสรนั้นไปเชียร์ทีมโปรดของตัวเอง และซื้อคอลเล็กชั่นแต่ละฤดูกาลเพื่อสะสมด้วย

นอกจาก “วอริกซ์” จะยืนแกร่งโตเร็วในตลาดสินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา ฯ บริษัทยังขยายตลาดสู่สินค้า “ไลฟ์สไตล์” เพื่อให้ผู้บริโภคสวมใส่ทุกวันด้วย และยังมีการลุยตลาดศูนย์วิทยาศาสตร์กีฬา และคลินิกกายภาพด้วย เป็นการทำให้ธุรกิจด้านกีฬามีความครบวงจรอย่างแท้จริง

“วอริกซ์” ทำตลาดมา 10 ปี แต่การเติบโตแรง ไม่ด้อยกว่าใคร เพราะปี 2565 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 1,075 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 128 ล้านบาท

และนี่คือ “บิ๊ก 4” แบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติไทยที่ขับเคี่ยวในตลาดสร้างการเติบโต