'อีวาย' ชี้ 6 ปัจจัยท้าทายธุรกิจค้าปลีก ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่

'อีวาย' ชี้ 6 ปัจจัยท้าทายธุรกิจค้าปลีก ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่

ค้าปลีกยังเจอสารพัดปัจจัยกระทบ 'บริษัท อีวาย' เผยผลการสำรวจภาคธุรกิจค้าปลีกไทย ได้รับผลกระทบหนักจากเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ การปรับแผนครั้งใหญ่ ต้องให้สอดคล้องกับผู้บริโภค พึ่งเทคโนโลยีคือ ทางออกที่สำคัญ

ภาคธุรกิจที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศกับ ภาคค้าปลีก โดยมีการประเมินจาก “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” กับธุรกิจค้าปลีกในปี 2566 จะมีการเติบโต 6-8% เป็นไปตามการฟื้นตัวของผู้บริโภคและการท่องเที่ยว แต่ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคคือความท้าทายสำคัญสำหรับบริษัทค้าปลีกอย่างมาก

นริศรา พัตนพิบูล” หัวหน้าสายงานบริการที่ปรึกษาธุรกิจ EY ประเทศไทย กล่าวว่า รายงานการวิเคราะห์ของ อีวาย (EY) ต่อผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกในช่วงนี้ ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น แต่เป็นการเติบโตจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

\'อีวาย\' ชี้ 6 ปัจจัยท้าทายธุรกิจค้าปลีก ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่

จากการวิเคราะห์โดยมีปัจจัยสำคัญที่สร้างโอกาสและความท้าทายทางธุรกิจมี 6 ด้านได้แก่ 

1. การจัดลำดับความสำคัญของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป: โดยผู้บริโภคต้องการสินค้าและบริการเปลี่ยนจาก "มากกว่า" เป็น "ดีขึ้น" เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่เข้าถึงความต้องการอย่างแท้จริง และมีคาดหวังในสินค้าและบริการมากขึ้น รวมถึงการสื่อสารที่ตรงใจ

2. เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว: จากการพัฒนาประสบการณ์ของผู้บริโภคผ่านการใช้และวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ช่องทางดิจิทัลใหม่และเมตาเวิร์ส ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นตลอดเวลา ส่งผลให้มีสินค้าและบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น 

3. ภาษีและกฎระเบียบซับซ้อนมากขึ้น: การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ความหลากหลายของกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ ส่งผลให้ข้อกำหนดด้านธรรมาภิบาลมีความซับซ้อนมากขึ้น

4. ความสนใจต่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว: ผู้บริโภคตระหนักถึงการบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงปรับพฤติกรรม เช่น การรีไซเคิล การใช้ซ้ำ และการขายต่อ รวมถึงการตรวจสอบกิจกรรมต่างๆ ของแบรนด์เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจซื้อสินค้า

5. ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ: เกิดความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจเผชิญกับความท้าทายระดับโลกเพิ่มขึ้น จึงต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่

 6. การผสานของทุกภาคส่วน: ความต้องการของผู้บริโภคและความต้องการของธุรกิจที่เปลี่ยนไป และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ การขยายประเภทของสินค้า การเจาะลึกกลุ่มเป้าหมาย การกระจายธุรกิจไปยังอุตสาหกรรมอื่น และเพิ่มบริการที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์คือกลยุทธ์ที่สามารถสร้างการเติบโตและส่งมอบคุณค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในธุรกิจ

ทั้งนี้ บริษัทค้าปลีกต้องให้ความสำคัญกับ 4 เรื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้แก่

  • ผู้บริโภคให้ค่ากับประสบการณ์ของการซื้อและการช้อปปิ้งที่แตกต่างกัน: “การซื้อ” สินค้าในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องธรรมดา และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือซื้อสินค้ามากขึ้น ส่วน “การช้อปปิ้ง” จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาสินค้าหรือบริการแบบเฉพาะเจาะจง และให้ความสนใจไปในแบรนด์ที่นำเสนอสินค้า บริการ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแบบเสมือนจริงผ่านช่องทางออนไลน์หรือที่ร้านค้า
  • ผู้บริโภคเลือกเป็นเจ้าของน้อยลง โดยเปลี่ยนไปเลือกบริการที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์แทน: ผู้บริโภคพร้อมจ่ายเงินเพื่อใช้งานหรือเข้าถึงสิ่งที่ต้องการในทันที ไลฟ์สไตล์และบริการจะเข้ามาแทนที่สินค้ามากขึ้น จึงต้องเสนอสินค้าบริการแบบครบวงจรแทนการเสนอสินค้าเพียงอย่างเดียว
  • ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับที่มาและการจัดส่งสินค้า: ผู้บริโภคต้องการรู้ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้า เส้นทางการขนส่งและผลกระทบของสินค้าต่อชุมชนและโลก ความโปร่งใสมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ
  • ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพแต่ยังไม่ชัด: โดยผู้บริโภคสนใจดูแลสุขภาพด้วยความพยายามน้อยที่สุด ตั้งแต่ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย ไปจนถึงความเป็นอยู่ที่ดี โดยใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนซึ่งติดตามไลฟ์สไตล์และมีการแจ้งเตือนปรับรูปแบบการทำกิจกรรมให้ดีขึ้น

ทั้งนี้บทสรุปที่สำคัญคือผู้ประกอบการในภาคค้าปลีกที่ต้องการแข่งขันและสร้างการเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบองค์รวม โดยการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจและกลไกของตลาดที่ท้าทาย จำเป็นต้องติดตามกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าจะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

ขณะเดียวกันเพื่อรับมือและตอบสนองต่อพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องใช้ประโยชน์และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้มากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้ลูกค้าไว้วางใจ ผ่านการมอบประสบการณ์ที่มีคุณค่าร่วมกัน