'สยามพิวรรธน์' ชงสร้าง 'ทีมไทยแลนด์' หนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  

'สยามพิวรรธน์' ชงสร้าง 'ทีมไทยแลนด์' หนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  

'ภาคการท่องเที่ยวและบริการ' ของไทยจะเป็นแชมป์ รักษาความเป็น Top of mind of Tourism จำเป็นต้องมีเป้าหมายและแนวทางขับเคลื่อนด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนตามท้องถิ่นต่างๆ  ไปในทิศทางเดียวกัน (One Goal One Direction)

ไทยจึงต้องมี 'ทีมไทยแลนด์' ที่แข็งแกร่งพร้อมจะเดินหน้า Rebranding Thailand ให้มีจุดยืนที่แตกต่างและชัดเจนขึ้น สร้างเรื่องราวและประสบการณ์ใหม่ๆ สื่อสารไปถึงคนทั่วโลกซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสร้างกลยุทธ์เพื่อครองแชมป์ไปตลอด

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ บนเวทีตอบข้อซักถาม  'มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ'  การส่งเสริมภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ จัดขึ้นโดยหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย และอิทธิพลของการท่องเที่ยวยังส่งผลกระทบครอบคลุมกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะคนที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวโดยตรงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ต่างก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ด่วน! ปิดตำนาน 'หลินฮุ่ย' เสียชีวิต ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน

เช็กปม บัตรสวัสดิการแห่งรัฐล่าสุด 1000 แจกเงินพิเศษช่วงสงกรานต์ 2566 จริงหรือ?

‘สงกรานต์’ ปีนี้ ขับรถอุ่นใจไปกับ ‘ศาลาค็อกพิท’ SALA COCKPIT

 

รากฐาน 5 Superpowers ปัจจัยไทยได้รับโหวตอันดับต้นท่องเที่ยว

ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ไทยรับนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 40 ล้านคน   ในปี 2565 นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยถึง 11.5 ล้านคน  ส่งผลให้การท่องเที่ยวต้องปรับเป้าในปี 2566 จาก 25 เป็น 30 ล้านคน เหล่านี้สะท้อนชัดว่า การรุกหนักท่องเที่ยวไทยด้วยกลยุทธ์และทิศทางที่แข็งแกร่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างมากมายมหาศาล 

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ วิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ไทยยังคงได้รับการโหวตให้เป็นสถานที่ที่คนอยากมาเยี่ยมเยือนมากที่สุด เป็นหมุดหมายอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลกมาได้อย่างยาวนาน และไม่ว่าจะใครพูดเรื่อง Soft Power อย่างไร ก็ล้วนขึ้นอยู่กับรากฐานของ 5 Superpowers ดังนี้  

1. เราเป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ตาม เพราะจุดแข็งของไทยเริ่มต้นวางฐานรากที่มั่นคง ผ่านการเซ็ตบริบทต่างๆ และจัดการเน็ตเวิร์คให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากว่า 50 ปีแล้ว

2. วัฒนธรรมไทยคือเรื่องราวที่สามารถบอกเล่าและขายได้ตลอดกาล เป็นสิ่งที่ประทับใจไปทั่วโลก และเป็นจุดขายที่ไม่มีวันล้าสมัย

3.ไทยตั้งอยู่ใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แวดล้อมด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่กําลังเติบโตทางด้านการท่องเที่ยว จึงสามารถต่อยอดการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทยได้

\'สยามพิวรรธน์\' ชงสร้าง \'ทีมไทยแลนด์\' หนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  

4. ภาคเอกชนไทยในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแข็งแรงที่สุด มี Network ที่กว้างไกล ทำงานแบบร่วมมือซึ่งกันและกันในทุกภาคส่วน และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเต็มที่ เห็นผลลัพธ์ชัดเจนจาก GDP 20% มาจากการท่องเที่ยว สร้างเงินได้ถึง1.93 ล้านล้านบาท และมีคนทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากหลายล้านคน  

5. คนไทยเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุด ซึ่งทั่วโลกประทับใจในความอบอุ่น และความเป็น Land of Smile ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลังในหลากหลายมิติ ได้รับการกล่าวขานไปทั่วโลก

 

การสื่อสารแบรนด์ประเทศไทยต้องมีเป้าหมายแนวทางเดียวกัน

แต่เมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทย จึงควรชูประเด็นการ Rebranding Thailand ขึ้นมาให้เป็น 'เข็มทิศ'

"วันนี้เราอยากให้คนทั้งโลกเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ถึงเวลาที่ต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะมีนโยบาย กลยุทธ์อะไรที่จะทำให้เราครองความเป็นแชมป์ให้ได้ การสื่อสารแบรนด์ประเทศไทยที่มีเป้าหมายและแนวทางเดียวกันในทุกสื่อ ที่ไม่ได้พูดแค่เรื่อง Thainess อย่างเดียว แต่ต้องเป็นการรวบรวมทั้งอัตลักษณ์ความเป็นไทย และความเป็น world class destination ที่แท้จริงเข้ามาอยู่รวมกัน อีกทั้งต้องจับเทรนด์ของการท่องเที่ยวมาสร้างกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” ชฎาทิพ กล่าว

สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งมือทำอย่างเร่งด่วน คือการสร้าง "ทีมไทยแลนด์" ร่วมมือรวมพลังกันตั้งทีมทํางานเป็นองค์รวม ระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เพื่อปรับใช้กลยุทธ์ไปในทิศทางเดียวกัน สร้างเป้าหมายและ Action Plan ในทิศทางเดียวกัน จัดสรรและบริหารงบประมาณเรื่องการท่องเที่ยวให้คุ้มค่าที่สุด ควบคู่ไปกับการทํางานแบบ Agile แลกเปลี่ยน สื่อสาร ร่วมแก้ปัญหา และปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว ทํางานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างกลยุทธ์ครองแชมป์ไปตลอด

ชฎาทิพ กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้ไทยคว้าชัยชนะไปตลอด ก็คือมิติใหม่ๆ ของการท่องเที่ยว ซึ่งระยะสั้นควรพุ่งเป้าไปที่ Hub of Art of Asia ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปินไทยมี Creativity อยู่แล้ว สามารถดึงอาร์ตแฟร์ของโลกให้มาอยู่ในเมืองไทย และยกระดับศิลปินไทยให้ทัดเทียมได้ สร้าง Cultural Destination เช่น สร้างพิพิธภัณฑ์ที่มีมาตรฐานระดับโลกเพื่อรองรับการแสดงงานศิลปะจากต่างประเทศ เหล่านี้สามารถสร้างได้เร็วที่สุดและใช้ต้นทุนน้อย 

สำหรับแผนระยะกลางต้องเร่งผลักดันให้ไทยเป็น Hub of World-class Events มีงานระดับโลกเข้ามาจัดในไทยมากขึ้น เพราะแนวทางนี้สามารถดึง Quality Tourists เข้ามาได้กว่าแสนคนต่องาน ยิ่งมีอีเว้นต์ระดับโลกในไทยมากเท่าไรก็ยิ่งดึงเม็ดเงินเข้าประเทศได้มากเท่านั้น

ที่เหนือไปกว่านั้น คือต้องคว้าเป้าหมายในการเป็น Hub of Headquarter ทำให้ต่างชาติย้ายมาตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย โดยกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ กลยุทธ์ และเป้าหมายการสร้าง Headquarter Hub ให้เกิดขึ้น สร้างศูนย์กลางการให้บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน และ ปรับแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป้าหมายนี้จะสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ ด้วยรายได้จากหลายมิติในทันที

การสนับสนุนการท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ได้ บนพื้นฐานของการสร้างเรื่องราวใหม่ การท่องเที่ยวรักษ์โลก ความเท่าเทียม เสริมสร้างเครือข่ายที่กว้างไกล พร้อมตอกย้ำการจัดทีมไทยแลนด์ให้สำเร็จ ปรับการทำงานเป็น Smart Tourism ใช้ดิจิทัลเข้ามาบอกเล่าสื่อสารทำให้ถูกต้อง ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่าง ท่าอากาศยานและสายการบินแห่งชาติ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว และจัดระบบแรงงานที่มาจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นระบบและเพียงพอ

"เพราะประเทศไทยต้องครองความเป็นที่หนึ่งในใจนักท่องเที่ยวทั่วโลก ต้องสร้างการเติบโตที่แข็งแรงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ให้เราเป็นที่หนึ่งได้ตลอดกาล 'Win The World for Thailand" ชฎาทิพ กล่าวทิ้งท้าย