เปลี่ยนก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน | บวร ปภัสราทร

เปลี่ยนก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน | บวร ปภัสราทร

นักปราชญ์ด้านการจัดการท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่พบวิกฤติใด ๆ ให้เสาะหาวิกฤติที่เป็นโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้

  หลายคนอาจเชื่อมั่นว่าการงานที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่โดยตลอด มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การงานของฉันมีวงจรคุณภาพ PDCA ตลอดมา วางแผนรอบคอบก่อนทำ ลงมือทำตามแผนอย่างรัดกุม

ติดตามตรวจสอบตลอดว่าเดินหน้าได้ตามแผนหรือไม่ ถ้ามีอะไรคลาดเคลื่อนไปก็รีบปรับปรุงแก้ไข  ดังนั้นไม่น่าจะมีวิกฤติใด ๆที่จะมาบังคับให้ฉันต้องปรับเปลี่ยนได้อีกแล้ว ฉันปรับเปลี่ยนของฉันเป็นประจำอยู่แล้ว

ถ้าเชื่อแบบนี้ขอให้ลองนึกว่าจะทำ    PDCA  กันอย่างไรที่จะทำให้หลอดไฟฟ้าแบบมีลวดไส้หลอด กลายไปเป็นหลอดไฟแอลอีดีที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หรือนึกดูว่า PDCA จะทำให้กล้องฟิล์มพัฒนาไปเป็นกล้องดิจิทัลในทุกวันนี้ได้อย่างไร

สรรพสิ่งมีพัฒนาการค่อยเป็นค่อยไปได้ถึงจุดหนึ่ง หลังจากจุดนั้นแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ที่ฝรั่งเรียกว่า Disruption หรือบางทีก็เรียกว่า Strategic Infection Point โดยที่หากไม่ยกเครื่องกันขนานใหญ่ แต่ทุ่มเทพัฒนาตามแนวทางเดิมกันต่อไป

ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ดีดั่งเดิม ถึงจุดยอดของการงานตามแนวทางเดิมนั้นแล้ว จะปรับปรุงอย่างไรก็ไม่ทำให้เติบโตต่อไปได้ ยักษ์ใหญ่ในวงการกล้องฟิล์มพยายามอยู่กับฟิล์มต่อไปโดยพยายามใช้วงจรคุณภาพ PDCA ในการผนวกดิจิทัลเข้ากับฟิล์ม

ผลจากการทุ่มเทไปนั้นทำให้เจ้าตลาดดั่งเดิมนั้นกลายเป็นเจ้าเล็กเจ้าน้อยในวงการไปแล้วในวันนี้ ไม่มีประโยชน์ใด ๆที่จะปักหลักพัฒนาลวดไส้หลอดไฟโดยหวังให้ได้ลวดไส้หลอดที่ส่องสว่างโดยใช้พลังงานน้อย ๆเหมือนกับแอลอีดี

สรรพสิ่งมีจุดสูงสุดที่ไปต่อตามแนวทางเดิมไม่ได้เสมอ บ้านเรากล่าวถึง New S-Curve กันอยู่เป็นประจำ แต่น่าเสียดายที่พูดกันบ่อยโดยไม่ได้ตระหนักอย่างแท้จริงถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตนเองกันอย่างขนานใหญ่ พูดกันแค่ให้ดูทันสมัยกับเทคโนโลยีใหม่ ๆเท่านั้น

จะรู้ตัวว่าได้อย่างไรว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนตนเองได้แล้ว ให้มองรอบตัวดูว่าการงานของเราในวันนี้เราสามารถสนองความต้องการของลูกค้า ผู้รับบริการได้มากน้อยแค่ไหน 

ยังมีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่เกินกว่าความคาดหมายของลูกค้าที่เราสามารถส่งมอบให้ได้ โดยที่คนอื่นยังทำตามเราไม่ได้ ถ้าเจอเรื่องที่ทำแล้วยกระดับคุณค่าให้ลูกค้าได้ ก็รีบปรับเปลี่ยนการงานของเราได้เลย

แต่ต้องมั่นใจว่าที่จะปรับเปลี่ยนไปนั้น เป็นสิ่งที่ลูกค้า ผู้รับบริการจะต้องการจริง ๆ ต้องมั่นใจว่ารู้จักและเข้าใจลูกค้า ผู้รับบริการอย่างแท้จริง ต้องมีข้อมูลสารสนเทศจากลูกค้ามายืนยันให้มั่นใจยิ่งขึ้น อย่ามโนขึ้นมาเองเด็ดขาด

ลองพยายามมองให้ตลอดห่วงโซ่การงานของเราว่า งานของเรานั้นอยู่ในส่วนใดของห่วงโซ่นี้  เราอยู่ต้นทาง กลางทาง หรือปลายทาง ใครบ้างที่อยู่ในห่วงโซ่การงานของเรา เราอยู่ในช่วงที่มูลค่าเพิ่มของคุณค่ามากน้อยแค่ไหน

ถ้างานของเราของในช่วงที่มูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก ให้พยายามปรับเปลี่ยนการงานขยับไปอยู่ในช่วงที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อาจช่วยให้ทำงานเท่าเดิมแต่ผลตอบแทนสูงขึ้นได้

ถ้าทำงานอยู่ในช่วงที่มีมูลค่าเพิ่มตำ่ ๆ มีโอกาสสูงมากที่จะมีแรงกดดันจากคนที่ทำงานอยู่ในช่วงที่มีคุณค่าสูงกว่าจะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง

คนออกแบบแฟชั่นสักวันหนึ่งก็จะมากดดันให้คนทอผ้าต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้ได้ผลตามที่คนออกแบบแฟชั่นอยากได้ และในวงการนี้คนออกแบบก็เสียงดังกว่าคนทอผ้าเสมอ

ถ้าอยากกำหนดการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ต้องรู้ตัวก่อนว่าความเก่งของเราที่เหนือกว่าคนอื่นคืออะไร ความเก่งนั้นสามารถใช้สร้างคุณค่าใดที่เหนือกว่าคนอื่น  แล้วใช้วงจร PDCA ยกระดับความเก่งนั้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงวันที่ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นมานั้น เราพร้อมที่จะทำได้จริง ๆ  อย่ามัวแต่ฝันว่าจะสร้างเปลี่ยนแปลงโดยไม่พัฒนาความเก่งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น มัวแต่อยู่สบายไปจนถึงวันที่กลายเป็นผู้รับชะตากรรมที่คนอื่นสร้างขึ้น

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]