ท่องเที่ยว 'ภูเก็ต' ขาขึ้น! พลิกโฉมโรงแรมครั้งใหญ่ พาเหรด แฟรนไชส์-รีแบรนด์

ท่องเที่ยว 'ภูเก็ต' ขาขึ้น! พลิกโฉมโรงแรมครั้งใหญ่  พาเหรด แฟรนไชส์-รีแบรนด์

'ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส' (C9 Hotelworks) ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และบริการระดับเอเชีย เปิดรายงาน 'อัพเดตตลาดโรงแรมภูเก็ต ประจำปี 2566' ฉายภาพความก้าวหน้าของการท่องเที่ยว 'ภูเก็ต' จุดหมายปลายทางระดับโลกของนักเดินทาง กลับมาบูมอีกครั้งอย่างรวดเร็ว!

รายงานของซีไนน์ ตอกย้ำว่าการท่องเที่ยวภูเก็ตกลับเข้าสู่ช่วง “ขาขึ้น” อีกครั้ง! หลังจากประเทศไทยยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2565 ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาจากทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย รวมถึงอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ผลักดันให้โรงแรมและภาคบริการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ด้วยอัตราการเข้าพักทั้งตลาดที่เพิ่มขึ้นถึง 48% จากปี 2564 ที่มีอัตราเข้าพักต่ำสุด 8% จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19

กราฟการท่องเที่ยวภูเก็ตเริ่มทะยานสูงขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 ถึง มี.ค.2566 โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในภูเก็ตเป็นกลุ่ม “Snowbird” หนีหนาวมาจาก “รัสเซีย” เป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันออก และสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักดั้งเดิมของภูเก็ต นอกจากนี้ยังมีอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ตัวเลขลดลงเมื่อเทียบจำนวนเกือบ 1 ล้านคนในปี 2562 เป็นผลมาจากการจำกัดการขนส่งทางอากาศโดยตรง เนื่องจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารที่พุ่งสูงขึ้น 200-300% ในหลายกรณี แต่จำนวนวันเข้าพักจากค่าเฉลี่ย 11 วัน กลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50%

บิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส กล่าวว่า การมาของนักท่องเที่ยวรัสเซีย ไม่เพียงแต่สร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสำหรับธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวให้กับเกาะภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังแผ่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก การขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

“ปัจจุบันตลาดอสังหาฯ เป็นกลุ่มผู้นำด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Direct Foreign Investment: FDI) ที่เฟื่องฟูที่สุดของภูเก็ต จะเห็นได้จากราคาที่ดินทั่วเกาะมีอัตราที่สูงขึ้นในรอบกว่า 2 ทศวรรษ”

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขและแนวโน้มสำคัญในอุตสาหกรรมการบริการของภูเก็ต ยังเห็นถึงการเคลื่อนไหวของธุรกิจโรงแรมจำนวนมากที่พลิกโฉมจากการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ โดยเปลี่ยนจากข้อตกลงการจัดการแบบเดิมเป็น “แฟรนไชส์” รวมทั้ง “เปลี่ยนแบรนด์บริหาร” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดระดับโลก อาทิ “เดสทิเนชั่น กรุ๊ป” ผู้พัฒนาโรงแรมและรีสอร์ตเจ้าใหญ่ในภูเก็ต ได้บรรลุข้อตกลงกับ “อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเทลส์ กรุ๊ป” เพื่อเปิดตัวโรงแรม “ฮอลิเดย์ อินน์” แห่งใหม่ในภูเก็ต และได้ร่วมมือกับ “กลุ่มเรดิสัน” เตรียมเปิดโรงแรมอีก 2 แห่ง

“อาเคเดีย” หนึ่งในกลุ่มโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของเกาะยังเปลี่ยนสถานะเป็น “พูลแมน” แบรนด์ในเครือ "แอคคอร์" ขณะที่ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” (AWC) ยักษ์ใหญ่ด้านการบริการของไทย ได้ยกระดับ “เวสทิน สิเหร่ เบย์” ให้เป็นรีสอร์ตหรูภายใต้แบรนด์ “ริทซ์-คาร์ลตัน”

แม้จะมีตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เป็นบวก แต่รายงานฉบับบี้ยังได้เผยข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของภูเก็ตที่สวนทางกับการเติบโตของเมือง จำนวนประชากร การพัฒนาที่แพร่กระจายยังพื้นที่ภายใน และความต้องการด้านการท่องเที่ยวที่พุ่งสูงขึ้นได้สร้างปัญหาการจราจรขนาดใหญ่

ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ เมื่อดินถล่มปิดทางสัญจรที่สำคัญระหว่างแหล่งท่องเที่ยวป่าตองยอดนิยมกับถนนสายหลัก และความล่าช้าในการซ่อมแซมทำให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในการเข้าถึงโรงแรมชายฝั่งตะวันตกในช่วงฤดูท่องเที่ยว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายการขนส่งของเกาะนั้นเปราะบางเพียงใด!

“การขาดแผนแม่บทการท่องเที่ยวเฉพาะสำหรับเกาะนี้เป็นปัญหาสำคัญในระยะยาวที่ต้องแก้ไขอย่างมาก ด้วยเที่ยวบินของสนามบินและการไหลเวียนของผู้โดยสารทำให้เห็นชัดเจนว่า สนามบินพังงาแห่งใหม่มีความสำคัญเพียงใด รวมถึงโครงการทางด่วนและอุโมงค์ป่าตอง เส้นชีวิตที่สำคัญสำหรับการเติบโตของเกาะในอนาคต เราได้ขยายตัวเมืองแล้ว มีห้องพักโรงแรมที่ลงทะเบียนแล้วเกือบ 100,000 ห้องบนเกาะ เรามาไกลเกินกว่าจะกลับไปแล้ว”