'GRAMMY-RS' คอนเสิร์ตไฟลุก! จากคู่แข่งสู่พันธมิตร ฟื้นธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

'GRAMMY-RS' คอนเสิร์ตไฟลุก! จากคู่แข่งสู่พันธมิตร ฟื้นธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

ประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อสร้าง “ปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์” ให้กับอุตสาหกรรมเพลง เมื่อ “อาร์เอส” อาณาจักรธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ เตรียมจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่เป็นการรวมตัวศิลปินข้ามค่าย “GRAMMY & RS” มาไว้ด้วยกัน

แค่การเอาชื่อค่ายเพลงฝั่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และอาร์เอสมารวมพลัง ก็น่าสนใจอย่างมาก แต่ที่ต้องติดตามต่อคือ “ศิลปิน” ที่จะมาขึ้นเวที จะเป็นนักร้องเดี่ยว วงดังในอดีตที่หมดสัญญาหรือไม่อย่างไร

ในการประกาศแผนขับเคลื่อนธุรกิจปี 2566 ของ "อาร์เอส" ได้เล่าถึงการปรับหมากรบใหญ่ขององค์กรด้วยการสร้าง Brand Purpose มุ่งสู่การยกระดับทุกมิติของการใช้ชีวิต หรือ Life Enriching จากเดิมคือ Passion to Win

นอกจากนี้ ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ภายใน 3 ปี เพื่อผลักดันความอู้ฟู่ทั้งเครือให้สร้างมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปให้แตะ 1 แสนล้านบาท จากระดับ “หมื่นล้านบาท”

ทว่า ที่สร้างสีสันให้อุตสาหกรรมบันเทิงคือ ภารกิจนำทัพ “อาร์เอส” กลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้งรอบ 15 ปี! ซึ่งขณะนั้นได้แง้มแผนจะมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นในวงการเพลง ซึ่งผู้สื่อข่าวต่างเดาว่าอาจมีการดึงศิลปินข้ามค่ายมาร่วมงาน นอกเหนือจากการพาศิลปินดังของค่ายอาร์เอสในอดีต กลับมารังสรรค์งานเพลงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เต๋า สมชาย, ดัง พันกร, เกิร์ลลี เบอร์รี, ปาน ธนพร, แร็พเตอร์, ลิฟท์-ออย ฯ ซึ่งล้วนสร้างความสำเร็จ “ล้านตลับ” (ในอดีตจำหน่าย Physical)มาแล้วทั้งสิ้น

'GRAMMY-RS' คอนเสิร์ตไฟลุก! จากคู่แข่งสู่พันธมิตร ฟื้นธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

ศิลปินล้านตลับ ยอดขายที่การันตีความดังในยุค Physical เบ่งบาน

ย้อนการแข่งขันในวงการเพลง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ “อาร์เอส-แกรมมี่” ขับเคี่ยวกันดุเดือดและมีเส้นทางการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน ด้านศิลปิน เมื่อค่ายแกรมมี่ ส่งเพลงแนวไหนออกมา ค่ายลาดพร้าว(เดิม)อย่างอาร์เอส ก็พร้อมแข่งขัน หรือค่ายลาดพร้าว สร้างความปังแนวเพลงนี้ ศิลปินนี้ ฝั่งอโศกอย่างแกรมมี่ ก็แลกหมัดกันอย่างสนุกสนาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเพลงเข้าสู่ภาวะ “ขาลง” เจอเทปผีซีดีเถื่อน เล่นงานจนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีต้นทุนตั้งแต่ปั้นศิลปิน โปรโมท หรือศิลปินกว่าจะแต่งเพลงออกมาได้ แค่ข้ามคืน ผลงานก็จะถูกก๊อปปี้ไปหาเงินอย่างง่ายดาย

ซ้ำร้าย “ดิจิทัล” ดิสรัปธุรกิจเพลงแบบเดิมๆที่ขายเทป ซีดี ฯ แม้ปรับตัวสู่ MP3 การดาวน์โหลด ก็ไม่พอให้อยู่อย่างแข็งแกร่ง ที่สุด “อาร์เอส” ปรับตัวสู่ “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ” ขายสินค้าต่อยอดจากธุรกิจบันเทิง เพื่อทำเงิน

ขณะที่ค่ายอโศก ยังยืนหยัดทำเพลงอย่างแข็งแกร่ง พร้อมปรับตัวด้านอื่นๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อ

สำหรับ 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาดเพลงทั่วโลก กลับเข้าสู่ภาวะขาขึ้น มีการเติบโตอีกครั้งในรอบประมาณ 20 ปี และ “ดิจิทัล” กลายเป็นช่องทางทำเงินให้เติบโต เพราะเพลงอยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีวันตาย ยิ่งผู้บริโภคสตรีมผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เปิดยูทูป ฟังเพลงมากเท่าไหร่ ยอดรับชมรับฟัง จะทำเงินให้ค่ายเพลง

เฮียฮ้อ รุกธุรกิจเพลงรอบ 15 ปี

แผน "อาร์เอส" โกยมาร์เก็ตแคปมั่งคั่งแสนล้าน

'อากู๋-เฮียฮ้อ' บนสังเวียนบันเทิง

อย่างไรก็ตาม คอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ Grammy & RS ไม่เพียงรวมศิลปินต่างค่ายมาอยู่เวทีเดียวกัน จะเห็นว่าการประกาศอีเวนท์ใหญ่ อาร์เอส ให้ แกรมมี่นำ ซึ่งเป็นการให้เกียรติคู่แข่งที่น่ารัก

ด้าน “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงานโชว์บิซ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ อยากบอกมานาน ได้บอกสักที

Concerts ที่จะหยุดทุก Concert พร้อมแนะให้โปรดสังเกตว่ามี S ท้าย Concert เตรียมเปลี่ยนแผนทุกแผนที่คุณเตรียมไว้ปีนี้ เตรียมซ้อมร้องเพลงแกรมมี่อาร์เอสไว้ให้พร้อม 28 เดือนมีนาคมนี้ เฉลยทุกเรื่อง!

นี่คือการ Across the Universe 

'GRAMMY-RS' คอนเสิร์ตไฟลุก! จากคู่แข่งสู่พันธมิตร ฟื้นธุรกิจเพลงครั้งใหญ่

มิติด้านการแข่งขัน จะเห็นว่าการแปร "คู่แข่ง" เป็นพันธมิตรคู่ค้าเสริมแกร่งให้แก่กัน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะต่างฝ่ายมี "จุดแข็ง" ที่ต่อยอดไปสู่การเติบโตได้ ยิ่งกว่านั้น "ฐานแฟนคลับ" มหาศาลทั้งคู่ และเติบโตมากับอาร์เอส-แกรมมี่ มีมากมาย ซึ่งสร้างอำนาจซื้อมหาศาล 

เมื่อสังเวียนธุรกิจไม่ต้องมีศัตรูถาวร การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังสะท้อนการประกาศศักดา Soft Power ของไทยที่น่าติดตาม เพราะปัจจุบันวงการเพลง คอนเสิร์ต ล้วนถูกอิทธิพลเกาหลีใต้หรือคลื่น K-Pop เข้ามาแย่งขุมทรัพย์ ดึงเงินคนไทยกลับประเทศเป็นกอบเป็นกำ