ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน

ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน

ครบรอบ 15 ปี สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าตลาดกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ก้าวสู่ทศวรรษต่อไป ได้ประกาศยุทธศาสตร์ผลักดันการเติบโตสู่ความยั่งยืน เจาะเทรนด์ใหญ่เขย่าโลก 5 ปีข้างหน้า พลิกธุรกิจปรับตัวให้สอดคล้องความต้องการผู้บริโภค

  • Key Points :
  • ครบรอบ 15 ปี สถาปนาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ผู้ผลิตและบริษัทเกี่ยวเนื่อง เป็นเครื่องยนต์สำคัญ เคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

  • อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สร้างมูลค่าตลาดให้กับประเทศไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาทต่อปี 

  • ทิศทางการบริโภคเครื่องดื่ม เผชิญตัวแปรสำคัญ เมื่อผู้บริโภคมองหาสินค้าตอบโจทย์ความคุ้มค่า ส่งผลบวกต่อสุขภาพ และความแปลกใหม่ของลิตภัณฑ์สร้างประสบการณ์ให้กลุ่มเป้าหมาย 

  • 5 ปีข้างหน้า “ความยั่งยืน” กลายเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ ที่ผู้ผลิตต้องนำมาบรรจุแผน เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ ตอบสนองผู้บริโภค ควบคู่ดูแลโลก

สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย จัดงานใหญ่ในโอกาสที่ “ครบรอบวาระการสถาปนาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย 15 ปี” พร้อมบอกเล่ายุทธศาสตร์ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรม ที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้งเทรนด์เครื่องดื่มที่มีอิทธิพลต่อการบริโภค พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญ การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ “ความยั่งยืน” เป็นตัวแปรใหญ่ สำหรับองค์กรในการบรรจุเข้าไปอยู่ในแผนงานด้วย

ในโอกาสนี้ สมาคมฯ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตซะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สื่อมวลชนเข้าร่วมงาน ที่สำคัญภายในงานยังมีปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินไทยสู่ความยั่งยืน” โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”  โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

นายประธาน ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย (TBA) เปิดเผยว่า สมาคมฯเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในประเทศไทยยาวนานถึง 15 ปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นการก่อตั้งมี 11 บริษัทร่วมปลุกปั้น โดยครอบคลุมบริษัทเครื่องดื่ม 9 บริษัท และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 2 บริษัท ปัจจุบันสร้างการเติบใหญ่ มีจำนวนสมาชิกเพิ่มเป็น 46 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ชั้นนำของประเทศ 26 บริษัท และบริษัทในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก 20 บริษัท

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 15 ปี อุตสาหกรรมเครื่องดื่มยังมุ่งมั่นผลิตสินค้าคุณภาพตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมาย และรวมพลังสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ละปีมีมูลค่าตลาดมากกว่าปีละ 2.6 แสนล้านบาท

ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน โดยก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย สมาคมฯยังคงรวมพลังกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม รวมถึงการประสานความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศอย่างต่อเนื่อง

3 ตัวแปรทรงอิทธิพล ให้ผู้ผลิตปรับกระบวนท่า

นายประธาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยยังเผชิญการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัทวิจัยระดับโลกมิลเทล(Mitel) ระบุภาพรวมตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มี 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ 1.ความคุ้มค่าของผลิตภัณฑ์ สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคคำนึงถึงงบประมาณการใช้จ่าย จึงเลือกสินค้าที่ราคาถูกกว่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก

2. สุขภาพของผู้บริโภค นับวันผู้บริโภคตระหนักในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ไม่เฉพาะสุขภาพกาย แต่รวมถึงสุขภาพใจที่ดีด้วย จึงส่งผลต่อการเลือกอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบริโภค ซึ่งงานวิจัยพบ 67% ของผู้บริโภคเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม ตอบโจทย์คุณประโยชน์ทางร่างกาย ทำให้ผู้ผลิตต้องนำไปต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการกลุ่มเป้าหมายแบบองค์รวม

 และ3. ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ เทรนด์การนำเครื่องดื่มเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น นำดอกไม้และพืชพรรณท้องถิ่นมารังสรรค์เป็นเครื่องดื่มรสชาติใหม่ๆ นอกจากเป็นการเปิดประสบการณ์จากรสสัมผัสใหม่ๆ แล้ว ยังช่วยสร้างภาพจำต่อผู้บริโภคด้วย

ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน “เครื่องดื่มเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น แต่ละปีจะมีปริมาณการบริโภคในประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของปริมาณการผลิตเครื่องดื่มทั้งหมดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยเผชิญโจทย์ท้าทายครั้งใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทตลาดด้วย”

เจาะเทรนด์เขย่าโลกเครื่องดื่ม

การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มให้เติบโตต่อได้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าใจแนวโน้มตลาดหรือเทรนด์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดย 5 ปีข้างหน้า สมาคมฯ วิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก จะเผชิญโจทย์ใหญ่หลากมิติ ดังนี้

1.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยผู้บริโภคมีความต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยให้ทนต่อสภาพอากาศอันแปรปรวนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น คลื่นความร้อน อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ และสภาพอากาศเลวร้ายต่างๆ

“ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจึงต้องคิดค้นพัฒนานวัตกรรมการบริโภคเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แย่ลงได้”

2.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและสุขภาพใจที่ดี บริโภคต้องการอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างสภาวะทางจิตที่ดีในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ขณะทำงาน พักผ่อนอยู่ที่บ้าน หรือเล่นสนุกกับกิจกรรมบางอย่าง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการคิด การจัดการความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง เป็นต้น

3.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกับการสื่อสารที่เรียบง่ายและชัดเจน การสื่อสารที่ชัดเจนและเรียบง่ายเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคที่กำลังเหนื่อยล้า ให้สามารถเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคกำลังมองหาและตอบสนองความต้องการได้ โดยผ่านทางช่องทางการสื่อสารอย่างโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ หรือบนจุดขายที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช หรือร้านค้าบนโลกเสมือนจริง(Metaverse) เป็นต้น

ความยั่งยืนโจทย์ใหญ่ผู้ผลิต

นอกจาก 3 เทรนด์ข้างต้น มิติ “ความยั่งยืน” หรือ Sustainability เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย ดังนั้นการที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ หรือ Sustainable Business จะไม่ใช่กระแสอีกต่อไป แต่จะเป็นวิถี ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ทุกคนทั่วโลกต้องเริ่มหันมาใส่ใจและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง

การสำรวจของ IDC พบว่า ผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มเกือบ 30% มองว่าความต้องการของลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีข้อเสนอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ปี 2566 องค์กรธุรกิจการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ฯ มุมของผู้บริโภคกว่า 60-70% ยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อความยั่งยืนของโลก การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติที่นำมาใช้แล้วปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม การเน้นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ การใช้กระดาษแข็ง และบรรจุภัณฑ์แบบปิดถาด เพื่อลดการใช้พลาสติก และลดพลังงานในการผลิต เป็นต้น

“การดำเนินธุรกิจนอกจากตระหนักถึงการสร้างการดำเนินงานที่ดี ผลกำไรแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันจากนี้ไป คือมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในขณะเดียวกันต้องลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainable Business”

 ยุทธศาสตร์เคลื่อน TBA โตอย่างยั่งยืน

จากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้น การก้าวสู่ทศวรรษต่อไปของสมาคมอุตสหากรรมเครื่องดื่มไทย ให้ความสำคัญกับแนวทาง Sustainable Business มากยิ่งขึ้น พร้อมวางแผนและกำหนดเป้าหมายในอนาคตสำหรับการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน “Growing Sustainably Together” โดยมีภารกิจสำคัญ ดังนี้

ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน 1.การขยายความร่วมมือ ระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และแผนงานต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ นำไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

2.การยกระดับวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

“เราจะยกระดับวิสัยทัศน์ดังกล่าวให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะอย่างกว้างขวาง และนำไปปรับใช้กับการดำเนินงานของสมาคมฯ อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง”

3.การสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในฐานะของอุตสาหกรรมที่มูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศปีละกว่า 260,000 ล้านบาท รวมถึงมูลค่าการส่งออกกว่า 90,000 ล้านบาททั่วโลก มีการจ้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 130,000 ครัวเรือน และมีการขยายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามิน ผลิตภัณฑ์ลดน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรไทย

4.การร่วมผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ใน 2 มิติ คือ 1.ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ริเริ่มการยกเลิกการใช้ Cap seal ในบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มพลาสติกเนื่องจากเป็นพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็น แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและย่อยสลายได้ยาก การลงนามความร่วมมือ(MOU) ผ่านโครงการ ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ผ่ายุทธศาสตร์ ส.อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เคลื่อนตลาด 2.5 แสนล้าน โตยั่งยืน

MOU “การส่งเสริมการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ การดำเนินงานในพื้นที่นำร่องจังหวัดชลบุรี และการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่นหรือชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลก

2.การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น การมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนผู้ขาดโอกาสทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “TBA รวมพลังแบ่งปันความสุขให้น้อง” ร่วมให้ความรู้ด้านอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโดยผู้บริหารและสมาชิกของสมาคมฯ จากองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ผ่านการสัมมนา “TBA Executive Talk” ร่วมกับพันธมิตรของสมาคม ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นต้น

“ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว สมาคมฯ ยังคงมุ่งยกระดับการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยทั้งระบบให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ และสิ่งสำคัญคือการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจโดยรวม ที่สำคัญคือการสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของประเทศไทย ต้องยืนอยู่บนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม”