“ไทย-ญี่ปุ่น” ปรับยุทธศาสตร์ฟื้นทัวริสต์ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจยุคหลังโควิด

“ไทย-ญี่ปุ่น” ปรับยุทธศาสตร์ฟื้นทัวริสต์ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจยุคหลังโควิด

“ไทย-ญี่ปุ่น” ต่างเป็น “พันธมิตรทางการท่องเที่ยว” ที่สำคัญ แลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวสองฝั่งระหว่างกัน บรรลุสู่เป้าหมายการท่องเที่ยว 2 ทาง หรือ “Two Ways Tourism” อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวค่อนข้างใกล้เคียง

เมื่อปี 2562 ประเทศไทยส่งออกนักท่องเที่ยวไปญี่ปุ่นจำนวน 1.3 ล้านคน ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทย 1.8 ล้านคน รวมเป็นจำนวนมากถึง 3.1 ล้านคน

ยูอิจิ โอบะ อัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาที่ระลึกเนื่องในโอกาสจัดตั้งสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานประจำภูมิภาคอาเซียน-อินเดีย (JTTRI-AIRO) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “เมื่อการท่องเที่ยวเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังการระบาดของโควิด-19” ว่า น่าเสียดายที่วิกฤติโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต้องเสียหายเป็นเวลานานร่วม 3 ปี โดยพบว่าปี 2565 มีกระแสการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับญี่ปุ่นฟื้นตัวรวมเพียง 4 แสนคนเท่านั้น ยังเทียบไม่ได้เลยกับจำนวนรวมเมื่อปี 2562

“ปี 2566 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวของทั้งฝั่งไทยและญี่ปุ่น หลังจากประสบปัญหาความท้าทาย ทั้งราคาค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักปรับตัวสูงขึ้น จองได้ค่อนข้างยาก รวมถึงปัญหาคอขวดเรื่องขาดแคลนบุคลากรแรงงานท่องเที่ยว โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ”

ซาโตรุ มิซึชิมะ รองปลัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นพันธมิตรทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว ส่งออกไปยังอีกฝั่งมากเป็น “อันดับ 6” เหมือนกันในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด โดยมี “นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น” เดินทางไปไทย 1.79 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยทั้งหมด 39.92 ล้านคน ขณะที่ “นักท่องเที่ยวไทย” เดินทางไปญี่ปุ่น 1.32 ล้านคน คิดเป็น 4.1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาญี่ปุ่นทั้งหมด 31.88 ล้านคน

“ช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2562 พบว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันเติบโตมากถึง 2.6 เท่า เพิ่มเป็นจำนวนรวม 3.1 ล้านคน และเมื่อดูสถิติปี 2546 พบว่ามีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยในจำนวนที่มากกว่านักท่องเที่ยวไทยไปญี่ปุ่นถึง 13 เท่า แต่เมื่อปี 2562 ช่องว่างนั้นลดลง เหลือเพียง 1.3 เท่าเท่านั้น โดยในยุคหลังโควิดระบาด ผลการสำรวจต่างๆ ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว เช่น VISA ต่างชี้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ชาวไทยอยากไปท่องเที่ยวมากที่สุด”

สำหรับ “แผนแม่บท” ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น จะมุ่งสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยในปี 2568 เป็นทริปละ 200,000 เยนต่อคน เพิ่มขึ้น 25% จากเฉลี่ยทริปละ 159,000 เยนต่อคนเมื่อปี 2562 สนับสนุนให้ประเทศญี่ปุ่นกลับมามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านล้านเยน

พร้อมกันนี้จะขยายการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนมากเกือบ 80% ของกระแสการท่องเที่ยวทั้งหมดในญี่ปุ่น สู่เป้าหมายมีรายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศ 22 ล้านล้านเยน โดยหนึ่งในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด ต่างมองหาที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยว “กลางแจ้ง” (Outdoor) สังเกตเห็นได้จาก “คีย์เวิร์ด” หรือคำค้นหาในโลกออนไลน์ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในฟาร์ม, สถานที่ตั้งแคมป์, วิลล่าให้เช่า และโรงแรมริมทะเลสาบ ที่มีจำนวนมากขึ้น

“เรามองด้วยว่าญี่ปุ่นยังต้องเรียนรู้จากประเทศไทยอีกหลายเรื่อง ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนญี่ปุ่นมากขึ้น”

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้ภาคการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก และได้มอบ “บทเรียน” เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยสู่ “เวอร์ชั่นที่ดีกว่า” มุ่งให้ความสำคัญแก่การบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน รวมถึงการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG มาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยของนักท่องเที่ยว

มงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯวางตำแหน่งทางการตลาดของประเทศไทยในฐานะ “แม่เหล็ก” ของภาคท่องเที่ยวระดับโลก ด้วยเป้าหมายดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 80 ล้านคนในปี 2570 หรือภายใน 5 ปีข้างหน้า เติบโต 2 เท่าเมื่อเทียบกับจำนวน 39.9 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 18% ของจีดีพีประเทศ และสร้างงานได้มากถึง 4.3 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 11% เมื่อเทียบกับตำแหน่งงานทั้งหมดภายในประเทศ

“ภาคท่องเที่ยวไทยจะต้องรับมือกับความท้าทายและความเสี่ยงอีกมากมาย และต้องเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 เร่งสร้างสมดุลของภาคการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญแก่การสร้างประสบการณ์แก่นักท่องเที่ยว เช่น วิถีท้องถิ่น พร้อมยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐาน และการเชื่อมต่อของทุกระบบการเดินทางขนส่ง รวมถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ”