ไขข้อข้องใจ รัฐเคาะขึ้นราคา “ยำยำช้างน้อย” 3.30 บาทต่อซอง

ไขข้อข้องใจ รัฐเคาะขึ้นราคา  “ยำยำช้างน้อย” 3.30 บาทต่อซอง

เหรียญกษาปณ์ที่คนไทยใช้ซื้อสินค้ามีเพียงเศษ 25 สตางค์ 50 สตางค์ แต่ทำไมรัฐเคาะขึ้นราคา "ยำยำช้างน้อย" เป็นซองละ 3.30 บาท ผู้ผลิตงง ร้านค้าปลีกติง ซื้อขายปลีกยังไง เพราะทุกหน่วยคือ "กำไร" นักการตลาดมอง 2 ฝ่ายมีเกณฑ์ดีดต้นทุนต่างกัน

วิกฤติสินค้าแพง เป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามต่อ เพราะภายใน 2 เดือนแรก ข้าวของจำเป็น ของกินใช้หลายรายการ ทยอยขยับขึ้น เช่น กระทิงแดงสูตรคลาสสิค จากขายขวดละ 10 บาท ขึ้นเป็น 12 บาท นมถั่วเหลืองแลคตาซอยขึ้นทุกขนาด ทั้ง 125 มิลลิลิตร(มล.) จาก 5 บาท เป็น 6 บาท ขนาด 300 มล.จาก 10 บาท เป็น 12 บาท ยาคูลท์ขยับขึ้น 1 บาท มีผล 1 มี.ค.66 เป็นต้น

อีกสินค้าที่ขึ้นราคาคือ “ยำยำช้างน้อย” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขวัญใจเด็ก และเป็นเหมือนนขนมขมเคี้ยวหรือสแน็กสำหรับสาวกของแบรนด์ ที่ขยับจาก 3 บาท เป็น 3.30 บาทต่อซอง

แหล่งข่าววงการสินค้าอุปโภคบริโภค เผยว่า บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ในฐานะผู้ผลิตบะหมี่ฯ ยี่ห้อดังกล่าว ได้ยื่นขอขยับราคาไปยังกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุนการผลิตพุ่งขึ้นถ้วนหน้า ทุกรายได้รับผลกระทบหมด แต่สินค้าหลักแบบซอง “ราคา 6 บาท” มีสัดส่วนมากสุดในตลาด เมื่อแบกภาระไม่ไหว ทำให้ต้องอ้อนรัฐขั้นสุด แม้ผู้ผลิตอยากได้ 8 บาทต่อซอง แต่รัฐให้ขยับขายเพียง 7 บาทต่อซองเท่านั้น

ขณะที่ “ยำยำช้างน้อย” ขอขึ้นราคาอีก 1 บาท จากซองละ 3 บาท เป็นซองละ 4 บาท ทว่า รัฐเคาะให้จริงเพียง 3.30 บาทต่อซอง

แล้วจะขายปลีกอย่างไร ในเมื่อหน่วยค่าเงินบาทของไทย และเหรียญกษาปณ์ที่ซื้อขายสินค้าในชีวิตจริง มีเพียง 25 สตางค์ 50 สตางค์ ที่เหลือเป็นเหรียญบาท ส่วนหน่วยสตางค์อื่นๆ เช่น 1 2 และ 5 สตางค์ ฯ ใช้ภายในธนาคารเท่านั้น

“ผู้ผลิตขอไป 1 บาท แต่รัฐให้ 30 สตางค์ จึงเป็นซองละ 3.30 บาท เวลาขายจริงทำยังไง เพราะเราไม่มีเหรียญ 30 สตางค์ แบบนี้ผู้ผลิตไม่เคยเจอมาก่อนเลย แต่ผู้ผลิตก็ไม่อยากมีปัญหากับภาครัฐ”

แหล่งข่าววงการค้าปลีก ให้ความเห็นค่อนข้างดุเดือดว่า การที่รัฐให้ยำยำช้างน้อยขึ้นราคา 30 สตางค์ เป็นการคิดแบบระบบราชการ และไม่มีใครทำ เพราะหน่วยเงินในตลาดไม่มีใครที่ใช้หน่วยดังกล่าว

“นี่คือความฉลาดน้อย เพราะสมัยนี้เศษเหรียญมีเพียง 25 และ 50 สตางค์ การให้ขึ้นราคา 30 สตางค์ ความจริงของเศษเงินนี้ไม่มี ขณะที่การขายสินค้าทุกอย่าง มีการคิดหมดนะ กำไร 50 สตางค์ หรือ 25 สตางค์”

อีกมิติการไฟเขียวให้ขึ้นราคายำยำช้างน้อยซองละ 3.30 สตางค์ ยังสะท้อนให้เห็นว่า “รัฐ” อนุญาตให้ขึ้นราคาตามที่ขอแล้ว แม้จะไม่ได้ตามที่ยื่นไป 1 บาทก็ตาม ส่วนการขายจริงเป็นการ “กดดัน” และ “ห้ามขายเกินราคา”

“เป็นการให้ขึ้นราคาและขายได้ต่ำกว่าที่ผู้ผลิตเรียกร้องค่อนข้างมาก และการขึ้นราคาสินค้าเป็นเรื่องอ่อนไหวของมวลมนุษยคนไทย บะหมี่ฯ ยังเป็นสินค้าการเมือง กลายเป็นสัญลักษณ์ทางเศรษฐกิจด้วย”

ด้านความเห็นของนักการตลาดอย่าง ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ MI Group ระบุถึงหลักการตั้งราคาสินค้า พื้นฐานคือคำนวณจากต้นทุนการผลิต บรรจุภัณฑ์ ค่าการตลาด ซึ่งมีทั้งโปรโมชั่น การขาย โฆษณา รวมถึงภาษี ฯ

นอกจากนี้ ยังมี “กำไร” เพื่ออยู่รอด ทั้งบริษัท พนักงาน เพราะการทำทุกธุรกิจ ไม่มีใครสร้างมาเพื่อเผชิญภาวะ “ขาดทุน”

เมื่อฝั่งผู้ผลิตมีการคำนวณต้นทุนสินค้า เช่น บะหมี่ฯ ทั้งวัตถุดิบแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม แพ็คเกจจิ้ง ฯ เมื่อขอขึ้นราคากับภาครัฐ ต้องทำให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด ส่วนเกณฑ์คำนวณหรือ Module ของภาครัฐมีมุมคิดอีกมุม และราคาวัตถุดิบที่มีดัชนีคำนวณต่างออกไป ซึ่งมองว่า “ฉลาด” และมีเหตุผลทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ราคายำยำช้างน้อยเคาะออกมาซองละ 3.30 บาท ที่เป็นหลักการของตัวเลข แต่ไม่ใช่หลักราคาซื้อขายปลีกจริง

หนึ่งในการตั้งราคาสินค้าที่น่าสนใจ เพื่อทำให้ผู้บริโภคบริโภคจับจ่ายง่ายคือ Magic Price แต่ละหมวดสินค้ามีแตกต่างกัน เช่น เครื่องดื่มชูกำลังขวดละ 10 บาท การตั้งราคาดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากค่าเฉลี่ยของตลาด และ “ผู้นำ” เป็นฝ่ายกำหนด Magic Number หากแบรนด์จะตั้งราคาขาย “แพงกว่า” ต้องมั่นใจว่ามีคุณประโยชน์อะไรที่ “บวกเพิ่ม” หรือมอบความ “คุ้มค่า” ให้ลูกค้ามากกว่าอีกแบรนด์ เพราะไม่เช่นนั้น ผู้บริโภคจะ Switching Brand แทน

“Magic Number จะถูกเคาะด้วยลีดเดอร์และเบอร์ 2 และยังเป็นฝ่ายที่มีโอกาสขยับราคาสินค้าขึ้นได้ด้วย เพราะแบรนด์มีคุณค่าที่ผู้บริโภครับรู้ หรือ Perceived Value อยู่แล้ว”