‘บีเจซี บิ๊กซี’ ใส่เกียร์ลงทุน รุกตลาดใหม่สู่ “ตะวันออกกลาง”

‘บีเจซี บิ๊กซี’ ใส่เกียร์ลงทุน รุกตลาดใหม่สู่ “ตะวันออกกลาง”

ผ่ายุทธศาสตร์โต “บีเจซีบิ๊กซี” ใส่เกียร์เดินหน้าลงทุนในไทยและอาเซียน โดยเฉพาะค้าปลีกจิ๊กซอว์เสริมแกร่งอาณาจักร ปี 2566 บริษัทปักหมุดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ลุยตะวันออกกลาง หวังอำนาจซื้อมหาศาล สวนทางการบริโภคในประเทศแผ่ว จากเงินในกระเป๋าประชาชนลดลง

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน) และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2566 บริษัทยังคงวางแผนเชิงรุก ทัังขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่าง แม้ธุรกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านความไม่แน่นอน ต้องเผชิญ แต่มองเป็นภาวะปกติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ การลงทุนปี 2566 หมวดค้าปลีก ภายใต้ห้างบิ๊กซี หลายสาขาถึงรอบของการปรับปรุงโฉม พลิกร้านให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงเปิดร้านขนาดเล็กอย่างโมเดลสะดวกซื้อ “มินิบิ๊กซี” เพื่อมุ่งสู่การเป็นเบอร์ 2 ของตลาด และปักหมุดการลงทุนในอาเซียน ทั้งกัมพูชา ลาว และมีบิ๊กซี รูปแบบไฮเปอร์ มาร์เก็ต ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ รวมถึงตลาดเวียดนาม ภายใต้เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ตด้วย

“การลงทุนปีหน้าเราพยายามที่จะไม่แตะเบรก ยิ่งลงทุนในประเทศ ยิ่งสร้างความคึกคัก เศรษฐกิจขยายตัว ส่วนปัจจัยความไม่แน่นนอนเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องเจอเป็นปกติอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม แผน 5 ปี(2565-2569) ของบีเจซี บิ๊กซี ได้วางงบลงทุน 60,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจ โดยสัดส่วน 70% จะทุ่มให้กับการสร้างอาณาจักรค้าปลีกที่ปัจจุบันห้างบิ๊กซีทุกแพลตฟอร์มมีนับพันสาขาทั่วประเทศ และอาเซียน

นอกจากนี้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะเห็นคือการขยายตลาดใหม่ในต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทจะบุกคือ กลุ่มตะวันออกกลาง เบื้องต้น จะเห็นการนำสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG)เข้าไปจำหน่ายก่อน หากมีโอกาสสร้างการเติบโตเพิ่มเติม จะพิจารณาการไปตั้งฐานการผลิตสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งออกสินค้าไปจำหน่าย ส่วนหนึ่งมองกำลังซื้อในประเทศไทยที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะค่าแรง รายได้ หรือเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคไม่เพิ่มขึ้น แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่อำนาจซื้อ เงินสะพัดกระจุกตัวเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ขณะที่ภาคการเกษตร การผลิต เงินไม่เพิ่มขึ้น

“การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค เราต้องหาช่องทางใหม่ ตลาดใหม่เพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังซื้อในประเทศไม่เพียงพอ เงินในกระเป๋าผู้บริโภคไม่เพิ่ม ทำให้เราต้องหวังการใช้จ่ายเงินจากภายนอกประเทศมาช่วย ขณะที่การขยายตลาดส่งออกสินค้าจำเป็นไปตะวันออกกลาง ถือเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสำคัญ และบริษัทลองไปสำรวจ ศึกษามาแล้ว จึงวางแผนนำสินค้าไปจำหน่ายก่อน มีโอกาสค่อยพิจารณาตั้งฐานผลิต”

นอกจากตะวันออกกลาง บริษัทยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน รองรับโอกาสที่ประเทศต่างๆย้ายฐานการลงทุนจากจีนมายังอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องการให้ภาครัฐเตรียมความพร้อมคว้าโอกาสดังกล่าวเช่นกัน

“ปีหน้าจะเห็นฐานการผลิตโลกย้ายมาเพิ่มในประเทศอาเซียน แทนจีน เช่น การผลิตรถไฟฟ้าที่จะเข้ามาสร้างฐานในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ซึ่งสะท้อนการผลิตของต่างชาติไม่ได้ปิดฐานที่จีน แต่ไม่ขยายการลงทุนเพิ่ม ไทยควรแต่งตัวรอเพื่อต้อนรับการลงทุนดังกล่าว ระหว่างที่การท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

ด้านภาพรวมธุรกิจหมวดค้าปลีกปี 2566 มองว่าจะมีความคึกคักมากขึ้น จากตลาดนักท่องเที่ยวกลับมาเยือนประเทศไทย โดยที่ผ่านมา ห้างบิ๊กซีที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีจำนวนลูกค้านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และยอดขาย 25% มาจากจุดหมายหลายปลายทางหรือเดสทิเนชั่นดังกล่าว

“ปีหน้า หวังว่าตลาดนักท่องเที่ยวจะขยายตัวมากขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องดูแลคือสถานการณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นเร็วมาก ทำให้กระทบธุรกิจค่อนข้างหนัก เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าไฟฟ้าหลายพันล้านบาทต่อปี”

ส่วนภาพรวมธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2566 ผู้ประกอบการจะพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขยายตลาดสร้างการเติบโตดึงอำนาจซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมบีเจซี บิ๊กซี ปี 2565 ความสามารถในการทำกำไรปรับตัวดีขึ้นดีกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน และคาดหวังปี 2566 ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ จะไม่สูงขึ้นแบบที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์โลก และภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด