เศรษฐี "บลูมเบิร์ก" จ่อซื้อ "WSJ-วอชิงตันโพสต์" เสริมอำนาจสื่อ

เศรษฐี "บลูมเบิร์ก" จ่อซื้อ "WSJ-วอชิงตันโพสต์" เสริมอำนาจสื่อ

เว็บไซต์ข่าว แอ็กซิโอส (Axios) อ้างอิงแหล่งข่าววงในเมื่อวันศุกร์(23 ธ.ค.) เผยว่า มหาเศรษฐี ‘ไมเคิล บลูมเบิร์ก’ เจ้าของบริษัทบลูมเบิร์กแอลพี สนใจซื้อหนังสือพิมพ์วอล์สตรีทเจอร์นัล (ดับเบิลยูเอสเจ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ดาวโจนส์และสนใจซื้อวอชิงตันโพสต์

สำนักข่าวอัลจาซีราห์ระบุว่า หากเกิดการควบรวมบริษัทดังกล่าว อาจสร้างสื่อข้อมูลทางการเงินและข่าวสารขนาดใหญ่ เสริมอำนาจความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของชายที่รวยที่สุดในโลกอันดับที่ 12 และช่วยให้บริษัทสามารถขายบลูมเบิร์กเทอร์มินอล ซึ่งเป็นชุดคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกับเครือข่ายของบลูมเบิร์กเพื่อดึงข้อมูลทางการเงินทั่วโลก และเป็นรายได้หลักของบริษัท

จากรายงานของแอ็กซิโอส เผยว่า บลูมเบิร์กเห็นว่าดาวโจนส์บริษัทในเครือนิวส์คอร์ป ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของแบร์รอนส์และมาเก็ตวอตช์นั้น เหมาะสมที่จะซื้ออย่างยิ่ง แต่อาจจะซื้อวอชิงตันโพสต์หาก ‘เจฟฟ์ เบซอส’ ผู้ก่อตั้งอเมซอนดอทคอม อิงค์ สนใจขาย

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กแอลพีและดาวโจนส์ยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ทันที เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์ติดต่อไป ด้านโฆษกวอชิงตันโพสต์ระบุว่า ยังไม่มีการตัดสินใจขายบริษัท

แหล่งข่าววงในรอยเตอร์กล่าวว่า บลูมเบิร์กยังไม่สามารถติดต่อ ‘รูเพิร์ต เมอร์ด็อก’ เพื่อหารือความเป็นไปได้ของการเข้าซื้อกิจการ ยังไม่มีการเจรจาอย่างจริงจังกับเมอร์ด็อกในขณะนี้ และยังไม่มีความชัดเจนว่าเมอร์ด็อกจะเปิดพิจารณาข้อเสนอหรือไม่

แหล่งข่าวอื่น ๆ ระบุว่า จากการพูดคุยกับที่ปรึกษามาหลายปี บลูมเบิร์กแสดงถึงความปราถนาที่จะเป็นเจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ซึ่งอาจช่วยให้เขามีอิทธิพลต่อการพูดคุยปัญหาสาธารณะในเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงขยายขอบเขตอาณาจักรธุรกิจข่าวสาร

โจนาธาน รูบิน ทนายความต่อต้านการผูกขาด มีความคิดเห็นว่า การควบรวมกิจการใด ๆ อาจถูกตรวจสอบอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งจะตรวจสอบผลกระทบต่อผู้ใช้บริการข้อมูลการเงินและตลาดแรงงานของนักข่าวธุรกิจ

“การเข้าซื้อกิจการอาจสร้างความท้าทาย ก็ต่อเมื่อผลลัพธ์ของการเลือกซื้อกิจการทำให้การแข่งขันในตลาดไม่เพียงพอสำหรับผู้ใช้บริการและซัพพลายเออร์ ดังนั้น ผลเสียจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ในตลาด” โจนาธานกล่าว

คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางปฏิเสธแสดงความคิดเห็น ส่วนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ

ทั้งนี้ หุ้นนิวส์คอร์ปเพิ่มขึ้น 3% ในตลาดที่อ่อนแอเป็นวงกว้าง และเมื่อเดือน ต.ค. เมอร์ด็อกเริ่มดำเนินการที่อาจรวบร่วมอาณาจักรสื่อนิวส์คอร์ปและฟ็อกซ์คอร์ปเข้าด้วยกันอีกครั้ง ในรอบเกือบสิบปีหลังแยกบริษัท

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอรวมกิจการของนิวส์คริป ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากบรรดาผู้ถือหุ้นซึ่งกล่าวว่า การรวมกิจการกันเอง ทำให้ไม่สามารถทราบมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนิวส์คอร์ป และแนะนำให้แยกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลหรือดาวโจนส์ออกแทนการควบรวมกิจการ

นักลงทุน Activist จากบริษัทจัดการเงินทุนไอเรนิก ซึ่งถือหุ้นแบบมีสิทธิออกเสียงคลาสบีของนิวส์คอร์ป 2% เขียนจดหมายถึงเมอร์ด็อกเมื่อเดือน พ.ย. และคณะกรรมการนิวส์คอร์ปว่า ดาวโจนส์อาจมีมูลค่าสูง หากแยกบริษัทออกมาเพื่อซื้อขายหุ้นได้เอง

เคร็ก ฮิวเบอร์ นักวิเคราะห์สื่อจากฮิวเบอร์รีเสิร์ชพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า เขาจะตกใจมาก หากเมอร์ด็อกขายวอลล์สตรีทเจอร์นัล และเชื่อว่าเมอร์ด็อกอาจบอกครอบครัวไม่ให้ขายเช่นกัน

“ดับเบิลยูเอสเจเป็นสมบัติล้ำค่าของครอบครัวเมอร์ด็อก การพิจาณาขายดับเบิลยูเอสเจอาจเป็นผลมาจากแผนควบรวมอาณาจักรสื่อของเขา” ฮิวเบอร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงใน 2 แห่งของรอยเตอร์เผยว่า บลูมเบิร์ก วัย 80 ปี ยังไม่ได้ติดต่อเมอร์ด็อกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัทสื่อ เคยเป็นผู้ว่ารัฐนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2545-2556 และเคยเป็นผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2563 และในปี 2565 บลูมเบิร์กมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 76,800 ล้านดอลลาร์

ส่วนบริษัทบลูมเบิร์กแอลพีประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อในปี 2563 ซึ่งมีรายได้สูงถึง 11,800 ล้านดอลลาร์ และในปีนี้มีผู้สมัครสมาชิกใช้บริการเว็บไซต์กว่า 330,000 บัญชีทั่วโลก

ข้อมูลจากเว็บไซต์เบอร์ตัน เทย์เลอร์ ระบุว่า แม้บลูมเบิร์กเทอร์มินอลมีราคาแพง ยอดขายซบเซา และโลกการเงินส่วนใหญ่ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านต้นทุน แต่บลูมเบิร์กสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น 5.2% สู่ระดับ 11,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2564