"คิวช่าง" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker

"คิวช่าง" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker

ช่างซ่อมบ้านไม่ถูกใจ, ราคาแพงไปไหม, ทำอย่างไรให้เขากลับมาแก้งาน และอีก ฯลฯ คือสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย และทั้งหมดจึงเป็นที่มาของ “คิวช่าง” (Q-Chang) แพลตฟอร์มส่งเสริมอาชีพ “ช่างซ่อมบ้าน” ให้เป็น Gig Worker อย่างเต็มตัว

ทุกวันนี้ หากเราคิดจะเรียกรถแท็กซี่ แว่บหนึ่งเราจะคิดถึงการหารถในแอพพลิเคชั่น ด้วยคุณสมบัติสะดวก รวดเร็ว ควบคุมเวลาได้ และที่สำคัญคือไม่ต้องไปเสี่ยงยืนรอถูกปฏิเสธบนถนน

หลักการนี้ คือแนวคิดเดียวกับการมี “คิวช่าง(Q-CHANG) ซึ่งพวกเขานิยามตัวเองว่าเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มที่จับคู่ความต้องการระหว่าง "'ช่าง" กับ "เจ้าของบ้าน" ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาที่เจ้าของบ้านมักบ่นว่า หาช่างทำงานไม่ได้ เจอกับช่างทิ้งงาน ราคาแพงเกินไป ฯลฯ

“วิธีการดั้งเดิมของการหาช่างนี่คือปากต่อปากนะ คนไหนทำดีก็จะได้งานต่อ และปัจจุบันนี้ก็จริงอยู่ที่ว่า มีช่างที่ใช้ช่องทางออนไลน์หาลูกค้าเอง โพสต์จ้างงานในเฟสบุ๊ค แต่ก็มีไม่น้อยที่คุยๆแล้วก็หาย บางคนทิ้งงาน หรือกว่าจะตอบก็ใช้เวลานาน ซึ่งแพลตฟอร์ม คิวช่าง จะลบ Pain Point (จุดอ่อน) ตรงนั้น เป็นตัวกลางให้ทั้งฝ่ายผู้จ้างและช่าง คุยกันง่ายขึ้น สามารถจองได้ทุกที่ ทุกเวลา ขณะที่ฝ่ายผู้ให้บริการถึงจะมีงานประจำอยู่แล้ว หากเวลาไหนต้องการทำงานก็เพียงกดเปิด เป็นหลักการเดียวกับ Grab หรือ Uber ซึ่งก็ช่วยเปลี่ยนมุมมองว่าอาชีพช่างก็สามารถทำงานแบบ Gig Worker ได้” บอย-ศรัณย์วิศว์ ภักดีนอก ผู้บริหารคิวช่าง (Head of Q-CHANG Business) อธิบาย

  • จุดเริ่มต้นของ “คิวช่าง”

คิวช่าง ต่างจากสตาร์ทอัพทั่วไปตรงที่พวกเขาคือผลผลิตของ เน็กซเตอร์ อินคิวเบเตอร์ (Nexter Incubator) ซึ่งเป็นองค์กรที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพและเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศทางธุรกิจ  ของ SCG HOME

โปรเจคนี้ ค้นหาพนักงานของ SCG ที่มีไอเดียก่อตั้งสตาร์ทอัพ ซึ่งหากไอเดียไหนมีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ บริษัทจะสนับสนุนทรัพยากรในการเริ่มลงทุน อย่างไรก็ตามพนักงานที่ออกมาทำสตาร์ทอัพก็จำเป็นต้องลาออกจากพนักงานประจำเพื่อลงแรงปลุกปั้นธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

ศรัณย์วิศว์ เล่าว่า จากไอเดียหลายสิบ เมื่อปฏิบัติจริงก็ ค่อยๆลดลงเหลือในปริมาณที่ไม่มากนัก และในฐานะอดีตพนักงานประจำ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องออกมามีธุรกิจของตัวเอง แต่อีกด้านก็คือความท้าทาย และการทดสอบสมมติฐานของโอกาสที่เขามองเห็นมาตั้งแต่ ขายผลิตภัณฑ์ของ SCG

“ตอนที่ขายผลิตภัณฑ์ของ SCG ลูกค้าที่ซื้อ มักถามเสมอว่ามีการติดตั้งให้หรือไม่ ซึ่ง ณ เวลานั้นบางประเภทสินค้าไม่ได้มีการให้บริการติดตั้ง หรือสำหรับสินค้าที่มีช่างติดตั้งให้ ก็จะเป็นช่างแบบ Out-Source ซึ่งทำงานให้เราเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งเอกสาร ทำเรื่องขั้นตอนกว่าจะได้เงิน บางทีต้องรอ 1-2 เดือน เราจึงเห็นว่ามันเป็น Pain ของทั้งผู้จ้างและช่างในเวลาเดียวกัน เราจึงคิดว่าน่าจะมีธุรกิจที่ทำให้ช่างเองก็ได้เงินเร็วขึ้น รับงานได้ง่ายขึ้น เจ้าของบ้านก็ได้บริการที่ถูกใจ”

คิวช่าง” จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2018 และให้บริการจริงในปี 2019 ซึ่งแม้จะล้มลุกคลุกคลานบ้างในช่วงแรกๆ แต่เมื่อถึงปัจจุบันยอดขายก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดย จากปี 2019 ซึ่งมียอดขายรวม 6 ล้านบาท เขยิบขึ้นมาเป็น 30 และ 87 ล้านบาทในปีต่อมาตามลำดับ ก่อนที่ในปีปัจจุบัน 2022 ยอดขายรวมอยู่ที่ 250 ล้านบาท

\"คิวช่าง\" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker ศรัณย์วิศว์ ภักดีนอก  ผู้บริหารคิวช่าง

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตเร็วคือในช่วงที่มีโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่คนอยู่บ้าน และคิดจะซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และถ้าพูดกันตรงๆ ปัญหาจากการทำบ้านก็ไม่เคยจางหายไป ทั้งเรื่องราคา การพูดจาไม่เข้าใจกัน ซึ่งเป็นความเจ็บปวดทั้งฝั่งลูกค้าและคนเป็นช่าง เราจึงเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางที่ทำให้การจ้างงานง่ายขึ้น ขณะที่ช่างก็จะได้เงินง่ายขึ้น ตรงไปตรงมา และช่วยอุดช่องว่างในสิ่งที่เขาอาจไม่ถนัด เช่น ทักษะที่เกี่ยวข้อง การทำเอกสารสัญญาต่างๆ การมีระยะเวลารับประกันซึ่งเป็นธรรมทั้ง 2ฝ่าย

  • โมเดลธุรกิจของคิวช่าง

ผู้บริหารคิวช่าง บอกว่า กลุ่มลูกค้าหลักของคิวช่างคือกลุ่มคนช่วงอายุอยู่ที่ 25-40 ปี ซึ่งต้องเริ่มรับผิดชอบที่อยู่อาศัยของตัวเอง มีความคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มมาบ้าง แบบเดียวกับที่เคยสั่งฟู้ดเดลิเวอรี, การเรียกบริการรถแท็กซี่ ซึ่งที่ผ่านมาบริการของคิวช่างที่ตอบโจทย์กลุ่มคนดังกล่าวนี้ มี 3 กลุ่มใหญ่คือ 1. Home service เช่น การทำความสะอาดบ้าน ล้างห้องน้ำ ล้างแอร์ ทำความสะอาดผ้าม่าน 2. กลุ่ม Home Repair ซึ่งเป็นการซ่อมแซมซึ่งเริ่มตั้งแต่งานเล็กๆจนถึงการซ่อมหลังคา 3.กลุ่ม Home Installation ซึ่งเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น  ติดตั้งแอร์ ติดตั้งกันสาด

แน่ว่า ถึงตรงนี้ ถ้านับในจำนวนครั้งที่มีการซื้อขายกลุ่ม Home Service มีสัดส่วนมากที่สุดในระดับ 60-70% ของยอดขายทั้งหมดเพราะการล้างแอร์ ทำความสะอาดบ้าน สามารถทำได้บ่อยซ้ำๆ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของคอนโด ส่วนกลุ่ม Home Repair ก็กินสัดส่วนรายได้มากที่สุดจากราคาการใช้บริการ ซึ่งคิวช่างก็สร้างความชัดเจนระหว่างผู้ให้และผู้ซื้อบริการ ด้วยราคาที่เป็นธรรม มาตรฐานการส่งมอบงาน ที่เคยเป็นปัญหาหลักๆของการจ้างงานมาตั้งแต่อดีต

\"คิวช่าง\" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker บริการของคิวช่างที่แสดงในแพลตฟอร์ม

ศรัณย์วิศว์ กล่าวว่า กลยุทธ์ของคิวช่าง จากนี้คือการยึดกลุ่มลูกค้าเพื่อให้เกิดประสบการณ์อันดีกับแบรนด์มากที่สุด ขณะเดียวกันก็จะมุ่งไปที่ การเชื่อมธุรกิจทั้งในแบบ B2B และ B2C  การเข้าสู่อีคอมเมิร์ซผ่านทาง Marketplace เช่น ร้านค้าและผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าใน  Shopee ที่ไม่มีช่างติดตั้ง

\"คิวช่าง\" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker

  • เพราะ "ช่าง" คือ "เพื่อน"

โจทย์ของคิวช่าง จึงไม่ต่างกับการหาพันธมิตรมาร่วมแพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันคิวช่างมีทีมงานในเครือข่าย 1,300-1,400 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด

“เราอยากให้คิวช่าง เป็นเหมือนบริการ Grab หรือ Uber ของช่าง ซึ่งสามารถทำทั้งงานประจำได้ และมีอาชีพอิสระไปพร้อมกัน มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ถึงเช่นนั้นมาตรฐานของช่าง จะไม่ใช่แค่มีรถ มีใบขับขี่ เหมือนโชเฟอร์รถ แต่ช่างของคิวช่างต้องมีฝีมือ มีข้อควรระวัง ซึ่งเราจะดูแล การอบรมทีมช่าง ให้มีมาตรฐานมากขึ้น ลูกค้าที่จองกับคิวช่างไม่ต้องลุ้นว่าช่างจะแต่งตัวแบบไหน มาเมื่อไร ทำแล้วสบายใจไหม เพราะคิวช่างจะมีรับประกันให้ขณะที่ฝั่งของช่างก็จะได้ผลบวกในด้านการทำการตลาด การช่วยหาลูกค้า"

\"คิวช่าง\" ธุรกิจแพลตฟอร์มที่เพิ่มโอกาสให้ “ช่างซ่อมบ้าน” เป็น Gig Worker

“ช่างหลายคนต้องพัฒนา Soft Skill เราจะช่วยการเจรจาเนื้องานที่ตกลงกับลูกค้า เจรจาราคา หาทางออกเมื่อลูกค้าถูกร้องเรียน มีมาตรฐานและตกลงราคากันไว้อย่างชัดเจน ช่างบางรายทำอาชีพอิสระแต่เมื่อถึงคราวต้องกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ คิวช่างก็จะดึงหลักฐานทางการเงินเพื่อนำไปแสดง เคยมีช่างบางรายที่กู้ซื้อบ้านผ่าน แล้ววันนั้นเขาใส่เสื้อคิวช่างไป แล้วบอกว่าขอบคุณที่ทำวันนี้ มันเป็นภาพที่เราซึ้งใจมาก”

ช่างที่ดีจึงเป็น "เพื่อนแท้" ของคิวช่าง ซึ่งกลยุทธ์ของคิวช่างในการดูแลช่างจะมี  3 ขั้นตอน คือ 1.นำช่างที่มีทักษะเข้าสู่ระบบ (onboarding) 2.พัฒนาทักษะช่าง (development) ที่เกี่ยวเนื่องกับทักษะที่มีอยู่เดิม เช่น นอกจากติดตั้ง ต้องรู้ระบบไฟพื้นฐาน รู้โครงสร้างอาคาร  3.ทำให้ช่างอยากเป็นทีมงานเรา อยากหางานผ่านเรามากที่สุด  (Retention) ทำให้เห็นว่า “คิวช่าง”คือ แพลตฟอร์มที่เป็นเพื่อนเขาจริงๆ เพราะช่วยให้เขามีรายได้ที่มากขึ้น สามารถทำได้ทั้งงานประจำและงานอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแบบ Gig Economy ที่ยืดหยุ่นในการทำงาน

ทำให้การจ้างและรับงาน ของคนในอาชีพ "ช่าง" มีมาตรฐาน ให้ความรู้สึกง่ายๆ สบายๆ เหมือนที่ในตอนนี้เราคุ้นเคยกับการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแพลตฟอร์มและแอพพลิเคชั่นไปแล้ว