Social Business เพื่อโลก 3 ศูนย์ | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

Social Business เพื่อโลก 3 ศูนย์ | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

ในศตวรรษที่ 21 ที่หลายประเทศเผชิญความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ช่องว่างของความมั่งคั่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนยากจน ได้นำเสนอทางออกผ่านธุรกิจรูปแบบใหม่ “Social Business” หรือ “ธุรกิจเชิงสังคม” ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างโลกแห่งความหวังที่ความยากจนเป็นศูนย์ ภาวะว่างงานเป็นศูนย์ และมลภาวะเป็นศูนย์ 

ธุรกิจเชิงสังคมมีจุดเริ่มต้นจากปัญหาความยากจนในบังกลาเทศ ซึ่งติดอันดับหนึ่งในสิบประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และประชากรมากกว่าร้อยละ 30 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน มูฮัมหมัด ยูนุส เปรียบคนจนเสมือนต้นบอนไซ ซึ่งถูกเลี้ยงในกระถางและทรัพยากรที่จำกัด ทำให้เติบโตได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น 

Social Business เพื่อโลก 3 ศูนย์ | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

จึงได้เสนอ 3 องค์ประกอบพื้นฐานที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่พึงมี เพื่อช่วยให้บรรดาคนยากจนสามารถเติบโต สูงใหญ่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ได้แก่ 

  1. การเปิดรับแนวคิดธุรกิจเชิงสังคม ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ปราศจากแรงจูงใจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยกำไรจากการดำเนินกิจการจะถูกจัดสรรในการทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม 
  2. การแทนที่สมมุติฐานเดิมเกี่ยวกับการจ้างงาน โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ประกอบกิจการของตนเองได้ 
  3. การออกแบบระบบการเงินให้เป็นระบบที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับประชากรที่อยู่ด้านล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ 

มูฮัมหมัด ยูนุส ลงมือทดลองแนวคิดดังกล่าวให้เห็นจริง ผ่านการก่อตั้งธนาคารหมู่บ้าน Grameen Bank ในปี พ.ศ. 2519 เพื่อช่วยปลดปล่อยศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนยากจนผ่านสินเชื่อระดับจุลภาค ธนาคารกรามีนถูกพัฒนาขึ้นอย่างเข้าใจคนยากจน และสวนกระแสธนาคารทั่วไป 

เจ้าของธนาคารกรามีนส่วนใหญ่เป็นบรรดาผู้หญิงยากจน ปล่อยกู้โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ปล่อยกู้บนพื้นฐานความไว้วางใจ โดยผู้กู้ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนรวมกลุ่มกัน มอบหมายหัวหน้ากลุ่มคอยดูแล และสมาชิกในกลุ่มค้ำประกันซึ่งกันและกัน 

Social Business เพื่อโลก 3 ศูนย์ | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

รวมทั้งการมีนโยบายและกระบวนการพัฒนาคน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนสามารถก้าวพ้นความยากจนได้อย่างยั่งยืน ความสำเร็จของธนาคารกรามีนแสดงให้เห็นว่า คนยากจนเป็นลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถชำระคืนเงินกู้ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 98.96 (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2559) 

นอกจากนั้น มูฮัมหมัด ยูนุส ยังมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของคนจน และธุรกิจเชิงสังคมมากมาย อาทิ โครงการโนบิน อูดิยอกทา (Nobin Udyokta) โครงการที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพ และสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใหม่

ควบคู่ไปกับการจัดห้องปฏิบัติการออกแบบธุรกิจเชิงสังคมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการใหม่ได้นำเสนอไอเดียธุรกิจต่อสาธารณะชน รวมถึงผู้บริหารธุรกิจ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ และนักกิจกรรมเพื่อสังคม 

ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการโนบิน อูดิยอกทา จะได้รับการอบรมทักษะที่จำเป็น การสนับสนุนเงินทุนสำหรับดำเนินธุรกิจ การแนะนำช่องทางในการเข้าถึงตลาดผู้บริโภค รวมทั้งการขัดเกลาไอเดียธุรกิจเพื่อความพร้อมรับการลงทุน

ในปี พ.ศ. 2560 โครงการโนบิน อูดิยอกทาสร้างผู้ประกอบการใหม่เกือบ 1,600 คน พร้อมเงินทุนเพื่อการลงทุนในธุรกิจเชิงสังคมรวม 21 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง กรามีนศักติ (Grameen Shakti) ธุรกิจเชิงสังคมที่ให้บริการพลังงานสะอาด ผ่านการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่เข้าถึงได้แก่ประชาชนในบังกลาเทศ ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านที่โครงข่ายพลังงานไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

ช่วยให้นักเรียนมีแสงสว่างในการอ่านหนังสือ ช่วยให้โรงพยาบาลในถิ่นทุรกันดารสามารถให้บริการได้ และช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอีกนับไม่ถ้วน โดยในปี พ.ศ. 2560 กรามีนศักติให้บริการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 1.8 ล้านหลังคาเรือน 

และยังนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่นที่จำเป็นต่อคนยากจน โดยมุ่งเน้นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนได้ เช่น การจำหน่ายเตาหุงต้มสำหรับใช้ในครัวเรือน ที่ลดมลภาวะและลดการสิ้นเปลืองพลังงานจากเตารูปแบบดั้งเดิม และการติดตั้งโรงผลิตก๊าซชีวภาพ ที่ช่วยเปลี่ยนของเสียจากธรรมชาติให้กลายเป็นก๊าซสำหรับการหุงต้ม

อีกกิจการที่น่าสนใจคือ การก่อตั้งบริษัทโกลเดนบีส์ (Golden Bees) ธุรกิจเชิงสังคมที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยตามหมู่บ้านในท้องถิ่น ได้เรียนรู้การเลี้ยงผึ้งซึ่งเป็นภาคเกษตรกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูงในยูกันดา

รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์และให้บริการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การฝึกอบรมเทคนิคการเลี้ยง การเก็บเกี่ยว การผลิต ไปจนถึงการตลาดเพื่อเข้าถึงตลาดผู้บริโภคทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ 

ในปี พ.ศ. 2559 โกลเดนบีส์สร้างเครือข่ายคนเลี้ยงผึ้งชาวยูกันดามากกว่า 1,200 ราย มีซูเปอร์มาร์เก็ต 80 แห่งในกรุงกัมปาลาที่ขายผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายเกษตรกรของโกลเดนบีส์ และยังขยายกิจการสู่ตลาดระดับนานาชาติ

เรื่องราวของดังกล่าวและอีกหลายธุรกิจเชิงสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของการเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่สามารถช่วยให้ชาวบ้านยากจนไปจนถึงระดับชุมชน สามารถหลุดพื้นจากความยากจนได้ ธุรกิจเชิงสังคมจึงเป็นมากกว่าทฤษฎีทางความคิด 

แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงปฏิบัติเพื่อบรรเทาผลกระทบของความยากจน ที่มูฮัมหมัด ยูนุส แสดงตัวอย่างให้เห็นจริงผ่านการลงมือทำในประเทศบ้านเกิด

ภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำนานาประเทศนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน และถูกขยายผลไปทั่วโลก เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ความยากจน การว่างงาน และการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

Social Business เพื่อโลก 3 ศูนย์ | อภิวรรณ ดวงภุมเมศ

คอลัมน์ คิดอนาคต
อภิวรรณ ดวงภุมเมศ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
Facebook.com/thailandfuturefoundation