ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

ในวันที่ไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลก KFC มีร้านทะลุ 1,000 สาขา แต่ 'ซีอาร์จี-ไทยเบฟ-อาร์ดี' มีแผนเบ่งอาณาจักรต่างกัน ผู้แข็งแกร่งสปีดเปิดร้านแข่งกันทำเงิน ที่อ่อนแอต้องแพ้ไป ส่องศักยภาพบิ๊กคอร์ป และเส้นทางใครอยู่ใครไป ใครแกร่งเกินต้านบนสนามไก่ทอด

โควิดคลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และหนึ่งในหมวดที่มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของประชาชนคือ “ธุรกิจร้านอาหาร” ได้ต้อนรับผู้คนออกมากินข้าวนอกบ้าน สังสรรค์กับครอบครัว เพื่อนฝูงมากขึ้น

มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในไทยถูกประเมินตัวเลขราว 4 แสนล้านบาท ช่วงวิกฤติโรคระบาด หดตัวไปบ้าง แต่ปี 2565-2566 ผู้ประกอบการมอง Die-in หรือการกลับมานั่งทานที่ร้านจะเป็น “เครื่องยนต์” สร้างการเติบโต

ร้านอาหารบริการด่วน หรือ Quick Service Restaurant : QSR เป็นอีกหมวดที่กลับมาคึกคัก ในไทยมูลค่าตลาดอยู่ระดับ 40,000 ล้านบาท ครอบคลุมไก่ทอด เบอร์เกอร์ ฯ

 

38 ปีในไทย ไก่ทอด KFC มีร้านทะลุ 1,000 สาขาแล้ว

โดย “ไก่ทอด” มูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เพราะลำพังรายได้ของ ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ผู้บริหารแบรนด์ไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลกอย่าง “KFC-เคเอฟซี” ก็ทำเงินราวๆ 20,000 ล้านบาท จากแฟรนไชส์ 3 ราย ไม่ว่าจะเป็น คิวเอสเอ ของไทยเบฟ ซีอาร์จี กลุ่มเซ็นทรัล และอาร์ดี ทีมลูกหม้อยัมบริหาร

ยัมฯ เพิ่งฉลองการมีร้าน KFC ครบ 1,000 สาขาในประเทศไทย หลังจากทำตลาดมากว่า 38 ปี ยิ่งกว่านั้น ถือเป็น “แบรนด์แรก” ที่บุกเบิกร้านอาหาร QSR ในไทยด้วย

แต่ละเดือน KFC เสิร์ฟเมนูไก่ทอดให้ผู้บริโภคชาวไทยกว่า 25 ล้านชิ้นให้คนไทย ผ่านสาขาของร้านทั่วประเทศ

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

การเติบโตของ KFC ผ่านทั้งรูปแบบการลงทุนเปิดร้านด้วยตัวเอง ทว่า ภายหลังมีการเปลี่ยนนโยบายสู่ Asset ligth Model ไม่ต้องควักเงินก้อนโตลงทุนเปิดร้าน ถือครองสินทรัพย์ไว้ในมือ แต่มุ่งเปิดทางให้พันธมิตรทางธุรกิจมารับบทเป็น “แฟรนไชส์” แทน

3C Franchisees เป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโต จากกลุ่มเซ็นทรัล ที่มี “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” พันธมิตรยาวนานกว่า 30 ปี ได้ขยายสู่กลุ่มใหม่ อย่างบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) ที่มีทีมงาน “ลูกหม้อยัมฯ” มาขับเคลื่อนธุรกิจ ครองทำเลเด่นพื้นที่ภาคใต้ หรือล่าสุดเป็นบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ภายใต้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ของเจ้าสัว “หนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ที่มาแรงทั้งการเปิดสาขาและทำรายได้ “แซง” แฟรนไชส์ทุกราย

 

ซีอาร์จี-ไทยเบฟ เร่งเปิดสาขาแข่งโต!

การมีร้าน KFC 1,000 สาขาในประเทศไทย อาจดูเหมือนมาก แต่เทียบระยะเวลาที่ใช้สร้างการเติบโต ถือว่ายาวนานไม่น้อย แต่ “ไทย” ถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ KFC จากฐานทัพธุรกิจใน 149 ประเทศทั่วโลก มีร้านกว่า 27,000 สาขา

สถานการณ์ KFC ในไทย ยังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพยายามสร้างการเติบโตของ “3 แฟรนไชส์ซี” อย่างซีอาร์จี ไทยเบฟ และอาร์ดี

 2 รายแรก เห็นชัดว่าพยายามโชว์ศักยภาพ ในการขยับขยายธุรกิจไก่ทอด ทั้งเปิดสาขา ผลักดันรายได้ อย่าง “ซีอาร์จี” พาร์ทเนอร์เก่าแก่แต่ต้น ปี 2565 ได้วางหมากรบเปิดร้านใหม่ถึง 30 สาขา ส่งผลให้สิ้นปีจะมีร้าน KFC ทั้งสิ้น 320 สาขา

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์

 

ปี 2566 ยังเป็นปีที่ 2 บริษัทเปิดร้านใหม่อีก 30 สาขา และปรับปรุงร้านเดิมอีก 30 สาขา ภายใต้งบลงทุนรวมราว 400 ล้านบาท ซึ่งโมเดลที่จะเห็นเชิงรุกคือ “ช็อป เฮ้าส์” สาขาขนาดเล็กอาจมีที่นั่ง 30-50 ที่ หรือ “ไม่มี” ก็ได้ แต่พร้อมรองรับบริการ “เดลิเวอรี” ร้านแบบช็อป เฮ้าส์ ยังลดงบลงทุนง 40% เมื่อเทียบสาขาปกติ

“ปี 2566 เป็นปีที่ 2 ที่ซีอาร์จีเปิดเคเอฟซีเชิงรุก 30 สาขา จากปกติเราเปิดร้านใหม่ราว 10-15 สาขาต่อปีเท่านั้น ส่วนการเปิดร้านช็อป เฮ้าส์ เมนไอเดียคือเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และยังช่วยสปีดการขยายสาขาได้เร็วขึ้น” ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ให้เหตุผล

ภาพดังกล่าวยังสะท้อนการฮึดแข่งขันกันเองของ แฟรนไชส์ซี สร้างการเติบโตด้วย แม้ “ปิยะพงศ์” จะบอกว่า ทุกรายต่างขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการโตร่วมก็ตาม

“ไทยเบฟ” เข้ามารับไม้ต่อบริการร้าน KFC ด้วยการทุ่มเงินหลัก “หมื่นล้านบาท” เพื่อให้บริษัทลูกอย่าง QSA เคลื่อนธุรกิจ

ระยะเวลาเพียง 5 ปี จากออกสตาร์ทธุรกิจในปี 2561 ด้วยมีร้าน KFC กว่า 240 สาขา กลางปี 2565 สปีดการขยายร้านจนทะลุ 430 สาขา หรือเติบโตกว่า 60% และเป้าหมายปีนี้บริษัทต้องการผลักดันยอดขายให้เติบโต 20% ด้วย

เมื่อการบริหารร้านส่วนหนึ่งของ KFC ภายใต้ไทยเบฟ ที่ “เงินทุนแกร่ง” ยังมีห้างร้าน อาคารสำนักงานที่ตอบโจทย์การขยายสาขาด้วย และช่วงโควิด บริษัทยังปิ๊งไอเดียใหม่ๆ เพื่อทำให้ไก่ทอดยังเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น KFC ฟู้ดทรัค ยังมีการสร้างความต่างเสิร์ฟ “เบียร์” ซึ่งซีนเนอร์ยีผลิตภัณฑ์ของเครือ จับกลุ่มเป้าหมายด้วย

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

“อาร์ดี” ยกธงขาว เร่ขายสาขา “หมื่นล้าน”

ฟาก 2 บิ๊กคอร์ป “ซีอาร์จี-ไทยเบฟ” เร่งแข่งโต แต่อีกแฟรนไชส์ซีอย่าง “อาร์ดี” กลับอยู่ในอาการ “น่าห่วง” เพราะธุรกิจร้าน KFC ในมือ 240 สาขา ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” บักโกรกมาหลายปี เฉพาะ 5 ปีย้อนหลัง บริษัทขาดทุนสะสมกว่า 900 ล้านบาท

ภาวะที่แบก “ภาระ” ทางการเงินดังกล่าวทำให้บริษัทต้องหาทาง “ขายกิจการ” ร้านที่มีในมือให้กับแฟรนไชส์ซีรายใหม่รับไม้ต่อ

ความพยายามของ “อาร์ดี” เกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิด-19 มาเยือน แต่ยังไม่สามารถหาทางออกหรือมีผู้มาซื้อ แม้ “ไทยเบฟ” จะแสดงเจตจำนงค์แจ่มแจ้ง ว่าพร้อมมากที่เข้าไปซื้อกิจการร้าน “หมื่นล้านบาท”

ทว่า “ยัมฯ” ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ มีนโยบายชัดเจน ไม่ให้แฟรนไชส์ซี “น้อยราย” หรือรายใดรายหนึ่งเป็นใหญ่ เพราะอาจมาสร้าง “อำนาจต่อรอง” ในภายหลัง ทั้งค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ต่างๆ (Franchise Fee) อีกด้านการมีแฟรนไชส์ซีหลายราย ทำให้การแข่งขันกระจายตัว ป้องกันไม่ให้ติดกับเกมธุรกิจที่จะไม่เติบโตด้วย

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย! ฐาปน สิริวัฒนภักดี

 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ “ฐาปน” ถึงกับแสดงความในใจพร้อมยิ้มแย้มอย่างอารมณ์ดีว่า…“กับกิจการเคเอฟซีของอาร์ดี จริงๆ เราเปิดกว้าง แต่อยู่ที่ยัมฯ ซึ่งแปลว่า Yummy แต่เขาอยากให้เกิดการกระจายตัวในการแข่งขัน เพื่อไม่ติดกับเกมไม่เติบโต ดังนั้นเขา(ยัมฯ)จึงยำเรา เพราะหากไทยเบฟซื้อร้านเคเอฟซีจากอาร์ดีมา เราจะใหญ่เกินไปแล้ว”

 

เทียบฟอร์ม 3 บิ๊กคอร์ปเปิดสาขา-ทำเงิน

1.บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือ “ไทยเบฟเวอเรจ”

  • ณ ก.ค. 65 มีร้าน KFC กว่า 430 สาขา
  • ปี 2564 ทำรายได้กว่า 7,136 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 47 ล้านบาท
  • ปี 2563 ทำรายได้กว่า 7,588 ล้านบาท กำไรกว่า 120 ล้านบาท

2.บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด(CRG) ในกลุ่มเซ็นทรัล

  • สิ้นปี 2565 มีร้าน KFC 320 สาขา
  • ปี 2565 คาดปิดรายได้ 6,300 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ราว 5,000 ล้านบาท

3.บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(RD)

  • มีร้าน KFC 230 สาขา
  • ปี 2564 มีรายได้กว่า 3,856 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 232 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้กว่า 4,113 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 280 ล้านบาท

 

ในสนามการแข่งขันทางธุรกิจ เมื่อ “อ่อนแอก็แพ้ไป” การที่ “อาร์ดี” ยกธงขาวขอโบกมือบ๊ายบายการเป็นพันธมิตรในฐานะแฟรนไชส์ซี สิ่งที่ต้องตามต่อคือ “ใคร” จะเป็นผู้เข้ามาซื้อกิจการร้าน KFC ล็อตที่เหลือมูลค่า “หมื่นล้าน” ซื้อแล้วโมเดลการโตในอนาคตจะช่วยเบ่งอาณาจักรไก่ทอดเบอร์ 1 ของโลกในประเทศไทยอย่างไร ลุ้น!

ใต้เงา ‘KFC’ ทะลุ 1,000 สาขา ‘ซีอาร์จี-ไทยเบฟ’ แข่งโต “อาร์ดี” โบกมือบ๊ายบาย!

แผนโต KFC ผ่านทัพ "ซีอาร์จี"

ยัมฯ เบรก "ไทยเบฟ" ซื้อ KFC จาก "อาร์ดี"