มีเงิน แต่ซื้อไม่ได้! กรณีศึกษา 'ไทยเบฟ' สน KFC เจอ ‘ยัม’ ยำ และอดซื้อ “เบียร์”

มีเงิน แต่ซื้อไม่ได้! กรณีศึกษา 'ไทยเบฟ' สน KFC เจอ ‘ยัม’ ยำ และอดซื้อ “เบียร์”

'เงิน' อาจซื้อได้ทุกอย่างหากมากพอ แต่ในเกมธุรกิจบางทีเงินอาจไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง ขนาดยักษ์ใหญ่รายได้แสนล้าน กำไร "หมื่นล้าน" ติด Top 10 บิ๊กเครื่องดื่มเอเชีย "ไทยเบฟเวอเรจ" พลาดพลั้งมาหลายดีล ส่องกรณีศึกษา เมื่ออยากได้ 'KFC' แต่เจอยัมฯ ยำ และผิดหวังจากฮุบเบียร์ในตลาด

ในการเจรจาธุรกิจการค้า “ข้อเสนอ” หรือดีลที่อยู่บนโต๊ะเจรจา ย่อมมีผู้สร้างความได้เปรียบในการต่อรอง และอีกฝั่งย่อมเป็นฝ่าย “เสียเปรียบ” แต่ที่สุด นักลงทุนต้องหาข้อสรุปที่ “win-win” สร้างความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย

หากเทียบช่วงที่ผ่านมา หนึ่งใน “บิ๊กดีล” ที่น่าติดตาม ต้องยกให้การรับช่วงต่อบริหารธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน(Quick Service Restaurant : QSR) แบรนด์ระดับโลก “เคเอฟซี” (KFC) หลังจากแฟรนไชส์ซีอย่างบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ต้องการขายกิจการสาขาในประเทศไทย เป็นวงเงินถึง “หมื่นล้านบาท”

สาเหตุการขายเป็นที่ทราบว่าตลอดระยะเวลาหลายปี “อาร์ดี” ต้องเผชิญขาดทุนบักโกรกตั้งแต่ปี 2559-2564 คิดเป็นเม็ดเงินเกือบ 900 ล้านบาท หากทำธุรกิจแล้ว “เลือดไหล” ไม่หยุด ที่สุดก็ต้อง “ตัดทิ้ง” กิจการ

ท่ามกลางความต้องการขยายกิจการกว่า 230 สาขา มูลค่าร่วม “หมื่นล้านบาท” มองศักยภาพองค์กรที่จะเข้ามารับไม้ต่อ มีไม่กี่ราย ยิ่งตีวงให้แคบลงเป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร พอจะเห็นภาพ ซึ่งเดิมที่คาดการณ์มีทั้ง เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัล หนึ่งในแฟรนไชส์ซีที่มีร้านเคเอฟซีกว่า 300 สาขา ไทยเบฟ ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย และเพิ่งเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ซีตั้งแต่ปี 2561 สร้างการเติบโตเปิดร้านได้มากถึง 430 สาขา จำนวนมากเป็น “อันดับ 1” เทียบแฟรนไชส์ซีทั้งหมด

ก่อนหน้านี้วงการร้านอาหารให้ข้อมูลว่า การเปิดศึกดีลชิง “เคเอฟซี” ของอาร์ดี มี “ตาอยู่” ที่น่าจับตามองคือ บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” เพราะศักยภาพเงินทุนเพียบพร้อม กระทั่งบิ๊กเชนร้านอาหารอีกรายระบุว่า “โออาร์” ไม่เข้าเงื่อนไขเข้าชิง เพราะมีร้านไก่ทอด “เท็กซัส ชิคเก้น” อยู่แล้ว ถือเป็น “Conflict” กัน

ล่าสุด เป็นคิวของ “ไทยเบฟ” ที่จะให้เหตุผลเกี่ยวกับ “ดีลเคเอฟซี” กันบ้าง ในงานแถลงประจำปีของยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มครบวงจรที่มีรายได้ “หลายแสนล้านบาท” อย่าง บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่มี “เจ้าสัวน้อยฐาปน สิริวัฒนภักดี” นำทัพแถลง โดยมีขุนพลธุรกิจเหล้า เบียร์ อาหาร ความยั่งยืน และทรัพยากรมนุษย์ขนาบข้างเหมือนทุกปี มาร่วมให้ข้อมูลแต่ละธุรกิจ

มีเงิน แต่ซื้อไม่ได้! กรณีศึกษา 'ไทยเบฟ' สน KFC เจอ ‘ยัม’ ยำ และอดซื้อ “เบียร์” ตามยุทธศาสตร์ PASSION 2025 บริษัทยังคงสร้างการเติบโตด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น สร้าง(Build) และพยายาม “ปลดล็อก” (Unlock Value) ศักยภาพธุรกิจ สร้างคุณค่า ผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น มีกลยุทธ์การควบรวม และซื้อกิจการ(M&A) อยู่ในแผนกลยุทธ์

เมื่อถามถึงความสนใจซื้อร้าน “เคเอฟซี” จาก อาร์ดี “ฐาปน” ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า บริษัทเปิดกว้างการลงทุน และสนใจรับบริหารร้านเคเอฟซีต่อ แต่ “ยัม เรสเทอรองตส์ ” ในฐานะเจ้าของแบรนด์ ไม่ต้องการให้มีคู่ค้าพันธมิตรหรือแค่แฟรนไชส์ซีรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพราะต้องการให้การแข่งขันกระจายตัว เพื่อไม่ให้ติดกับเกมธุรกิจที่จะไม่เติบโต

ดังนั้น หากไทยเบฟ ได้ร้านเคเอฟซี ที่เหลือมาครอบครอง จะทำให้ธุรกิจใหญ่เกินไป

“กับกิจการเคเอฟซีของอาร์ดี จริงๆ เราเปิดกว้าง อยู่ที่ทางด้านยัมฯ ซึ่งแปลว่า Yummy แต่เขาอยากให้เกิดการกระจายตัวในการแข่งขัน เพื่อไม่ติดกับเกมไม่เติบโต ดังนั้นเขา(ยัมฯ)จึงยำเรา เพราะหากไทยเบฟซื้อร้านเคเอฟซีจากอาร์ดีมา เราจะใหญ่เกินไปแล้ว”

แม้จะโดนตั้งกำแพงดีลธุรกิจ แต่การทำงานร่วมเป็นพันธมิตรกับ “ยัมฯ” ได้ให้ความสนใจกลุ่มไทยเบฟอย่างมาก ในการสร้างร้าน เปิดสาขาเคเอฟซี ทั้งการเลือก “ทำเล” ทำอย่างไรในการสร้างธุรกิจให้โตอย่าง “แข็งแกร่ง” บริหารจัดการร้านได้ดีท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

มีเงิน แต่ซื้อไม่ได้! กรณีศึกษา 'ไทยเบฟ' สน KFC เจอ ‘ยัม’ ยำ และอดซื้อ “เบียร์”

ด้าน นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจอาหาร ประเทศไทย ซึ่งเป็นขุนพลธุรกิจอาหารของไทยเบฟ กล่าว มองกิจการเคเอฟซี 2 ส่วน ส่วนแรกนโยบายของยัมฯ ต้องการบาลานซ์ “3 แฟรนไชส์ซี” ในประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจสร้างการเติบโต อีกมิติ “ไทยเบฟ” มีศักยภาพพอที่จะสร้างการเติบโตให้เคเอฟซี โดยไม่ต้องซื้อกิจการมาเสริมแกร่ง

ทั้งนี้ ช่วง 1-2 เดือนก่อน แม่ทัพใหญ่ของยัมฯ ยังเดินทางมาเยือนประเทศไทย และพอใจกับผลงานของร้านเคเอฟซี ภายใต้การบริหารของไทยเบฟอย่างมาก เนื่องจากสามารถเปิดสาขาได้ สวนทางกับทั้งโลกที่แทบไม่เปิดร้านใหม่เลย

สิ่งที่ทำให้การเปิดร้านเคเอฟซีมีต่อเนื่อง เพราะบริษัท “ซินเนอร์ยี” กับธุรกิจในเครือ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ทั้งห้างค้าปลีก อาคารสำนักงาน รวมถึงผนึกพันธมิตรสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) จนทำให้ปัจจุบันการเปิดร้านนอกห้างค้าปลีกมีสัดส่วน 40% แล้ว

“เราเติบโตดี มีการยืดหยุ่นชั่วโมงการทำงาน และมีโมเดลธุรกิจร้านเคเอฟซีที่ชัดเจน”

นอกจากนี้ บริษัท และยัมฯ ยังร่วมมือกัน(Collaboration)นำ “จุดแข็ง” ทั้ง 2 ฝ่าย มาสร้างการเติบโต win-win ทั้งคู่ โดยกลุ่มไทยเบฟซื้อกิจการร้านเคเอฟซีมา 4 ปี สร้างการเติบโตร้านถึง 160 สาขา หรือปัจจุบันมีร้านกว่า 430 สาขา

มีเงิน แต่ซื้อไม่ได้! กรณีศึกษา 'ไทยเบฟ' สน KFC เจอ ‘ยัม’ ยำ และอดซื้อ “เบียร์”

“Commitment เราไม่เคยหลุด เปิดสาขาได้มาก ทำให้ยัมฯ พึงพอใจ อีกด้านคือ การดูแลพนักงาน สวนทางกับหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านเคเอฟซี บริษัทมองศักยภาพสร้างการเติบโตเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อกิจการร้านมา โดยปีนี้บริษัทวางงบลงทุนราว 1,100 ล้านเพื่อขยายร้านอาหารเพิ่มเติม”

“ไทยเบฟ” อยู่ในสังเวียนธุรกิจมากว่า 20 ปี ธุรกิจ “สุรา” เป็นหัวใจสำคัญที่ทำรายได้ และ “กำไร” สูงสุดถึง 75% ในครึ่งปีแรก 2565(ปีบัญชี ต.ค.2564 - ก.ย.2565) และอยู่ในระดับ “หมื่นล้านบาท” ซึ่งกำไรสะสม ยังเป็นแต้มต่อในการขยายกิจการ

มรรควิธี “ทางลัด” โดยเฉพาะ “M&A” เป็นสิ่งที่ไทยเบฟถนัด ในการซื้อกิจการแบรนด์ใหญ่มาครอบครอง กรุงเทพธุรกิจ ชวนย้อนเส้นทางของยักษ์ใหญ่มีทุนหนาแล้วซื้อทุกอย่างมาครอง เช่น

-ปี 2551 ซื้อโออิชิ กรุ๊ป มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท

-ปี 2554 ซื้อเสริมสุข(อดีตผู้ผลิตเป๊ปซี่ ปัจจุบันผลิต เอส โคล่า)มูลค่าราว 15,000 ล้านบาท

-ปี 2556 ซื้อเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น) มูลค่าราว 300,000 ล้านบาท

-ปี 2560 ซื้อเคเอฟซี  11,400 ล้านบาท

-ปี 2560 ซื้อ SABECO มูลค่า 156,000 ล้านบาท

-ปี 2561 ซื้อสตาร์บัคส์ คาดการณ์มูลค่า 16,000 ล้านบาท  เป็นต้น

แต่ใช่ว่ามีเงินหมื่นแสนล้าน จะซื้อกิจการได้ทุกอย่าง เพราะเงื่อนไขของแต่ละ “ดีล” ทำให้อดเป็นเจ้าของได้เช่นกัน

อย่างปี 2559 ไทยเบฟ มีความสนใจเข้าสู่ธุรกิจเบียร์พรีเมียม และมีชื่อเข้าท้าชิงดีลซื้อ “Peroni และ Grolsch” ซึ่งเป็นแบรนด์ในยุโรป มูลค่าดีลราว 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือปี 2556 การเข้าซื้อกิจการเอฟแอนด์เอ็น ที่เป็นดีลใหญ่ประวัติศาสตร์ในอาเซียนยุคนั้น “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” อย่าง “ไทเกอร์เบียร์” คือ เป้าหมายที่บริษัทอยากได้ แต่บิ๊กเบียร์โลกอย่าง “ไฮเนเก้น” ที่มีหุ้นในเอฟแอนด์เอ็นไม่ยอม! ทำให้การต่อสู้ซื้อกิจการดังกล่าวดุเดือดมากที่สุด ไทยเบฟได้มาเพียง “ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์” ของเอฟแอนด์เอ็นเท่านั้น

ศึกเอฟแอนด์เอ็น ยังลามถึงตลาด “เบียร์” ในประเทศเมียนมาด้วย ที่ไทยเบฟ ควรจะได้แบรนด์ MYANMAR ของ เมียนมาร์ บริวเวอรี มาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ แต่ต้องเจอกระดูกชิ้นโต เมื่อรัฐวิสาหกิจของเมียนเข้าขวางเต็มที่ พร้อมมีการฟ้องร้องกัน จนที่สุด ไทยเบฟต้องยอมถอย ซื้อหุ้นคืน แต่การไม่ลดละลุยตลาดเบียร์ ทำให้บริษัทรุกลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบียร์ในเมียนมาเองเรียบร้อยแล้ว

เหล่านี้เป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่งของธุรกิจที่มี "เงิน" แต่ซื้อไม่ได้ทุกอย่างของยักษ์ใหญ่ “ไทยเบฟ”  

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์