10 เดือน เม็ดเงินโฆษณาสะพัด ขยับใกล้ 1 แสนล้าน! ลุ้นบอลโลก ดันยอดโค้งสุดท้าย

10 เดือน เม็ดเงินโฆษณาสะพัด ขยับใกล้ 1 แสนล้าน! ลุ้นบอลโลก ดันยอดโค้งสุดท้าย

ฟื้นช้าแต่ฟื้นนะ สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา เมื่อแบรนด์ต่างๆ ยังคงใช้จ่ายเงินสะพัด ดันการเติบโต 10 เดือน กว่า 10% เม็ดเงินรวมขยับใกล้ 1 แสนล้านบาท "ทีวี" โกยเงินสูงสุด แต่ตุลาคมอยู่ในแดน "ลบ" สิ่งพิมพ์ ต้องแก้โจทย์หาทางเข้าสู่​ "แดนบวก" ต่อไป

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นหนึ่งใน “วิกฤติ” ที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และ “โฆษณา” เป็นหมวดที่โดนหางเลขเช่นกัน การค้าขายทำเงินไม่ได้ หรือขายสินค้าและบริการได้แต่ค่อนข้างน้อย ทำให้แบรนด์ต่างๆต้อง “รัดเข็มขัด” ใช้จ่ายเงินโฆษณาอย่างระมัดระวังมากขึ้น

ทว่า ตั้งแต่กลางปี 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย มาตรการต่างๆถูกปลดล็อกมากขึ้น ทำให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อ โฆษณา ต่างฟันธงว่าปีนี้การใช้จ่าย Bounce Back เรียบร้อยและส่งผลให้ตลาด “เติบโต” แม้จะเป็นครั้งแรกที่ฟื้นตัวช้า เพราะใช้เวลาร่วม 2 ปีก็ตาม จากปกติหลังวิกฤติเพียงปีเดียวตลาดก็กลับมาแข็งแรงได้

สอดคล้องกับรายงานจาก “นีลเส็น” ที่ระบุภาพรวมการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในเดือนตุลาคม 2565 มีมูลค่ารวม 9,912 ล้านบาท เติบโต 6.09% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เกือบทุกสื่อเติบโต เว้นเพียงสื่อ “โทรทัศน์” หดตัวเล็กน้อย 4.94% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ ภาพรวม 10 เดือน หรือมกราคมถึงตุลาคมปี 2565 เม็ดเงินโฆษณามีมูลค่ารวม 98,025 ล้านบาทเติบโต 10.48% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ “สื่อทีวี” ยังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 54%

แยกตามประเภทสื่อ 10 เดือน ทีวี โกยเม็ดเงินโฆษณามูค่า 52,626 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.41% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 11,166 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.44% สื่อในโรงภาพยนตร์ 6,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 168.91% วิทยุ 2,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.78% สื่อสิ่งพิมพ์ 2,507 ล้านบาท ลดลง 1.72% สื่อโฆษณาในห้าง 727 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.39% และสื่ออินเตอร์เน็ตมูลค่า 22,085 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.15%

หมวดสินค้าและบริการพระเอกยืนหนึ่งใช้จ่ายเงินสูงสุด คืออาหารและเครื่องดื่ม มูลค่า15,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามด้วย สื่อและการตลาด 5,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% ยา 4,933 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% การเงิน 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% ภาครัฐ 3,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% และท่องเที่ยวมูลค่า 1,747 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% เป็นต้น ส่วนสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง ใช้เงินเป็นอันดับ 2 มูลค่า 12,158 ล้านบาท อยู่ระดับ “ทรงตัว”

ทั้งนี้ มี 6 หมวดที่ชะลอใช้จ่ายเงินอยู่ใน “แดนลบ” ได้แก่ ค้าปลีกและร้านอาหาร มูลค่า 9,751 ลดลง 3% ยานยนต์ 4,672 ล้านบาท ลดลง 2% สินค้าเครื่องใช้ภายในครัวเรือน 3,126 ล้านบาท ลดลง 14% การสื่อสารและโทรคมนาคม 2,820 ล้านบาท ลดลง 15% เครื่องใช้ไฟฟ้า 1,571 ล้านบาท ลดลง 9% และเสื้อผ้าและเครื่องประดับ 282 ล้านบาท ลดลง 35%

3 องค์กรธุรกิจที่ใช้เงินสูงสุด ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง 10 เดือนใช้จ่ายเงิน มูลค่า 3,154 ล้านบาท ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามด้วย เนสท์เล่(ไทย)มูลค่า 2,254 ล้านบาท ลดลง 10% และพรอคเตอร์แอนด์แกมเบิล(พีแอนด์จี) 2,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปิดท้ายอันดับ 10 คือ สำนักนายกรัฐมนตรี ใช้งบโฆษณากว่า 1,069 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ใช้กว่า 311 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการใช้จ่ายเงินโฆษณาที่เติบโต ยังมีอีกตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้เม็ดเงินสะพัด นั่นคือมหกรรมกีฬาใหญ่อย่าง "ฟุตบอลโลก 2022" ที่แม้จะมีสปอนเซอร์ ผู้ลงขันทุ่มเงินไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาให้แฟนๆชาวไทยได้ดู แต่ระหว่างการถ่ายทอด ยังเห็นแบรนด์สินค้าหลายรายการ ที่ร่วมเทงบโฆษณา เช่น เครื่องดื่มตราลีโอ ไข่ต้มซีพี หรือช่อง JKN ที่ถ่ายทอดสด จะเห็นการนำสินค้าในเครือของ แอน จักรพงษ์ มา Utilize เวลาอย่างเต็มที่ เป็นต้น 

ส่วนฟุตบอลโลก จะหนุนเงินโตมากน้อยแค่ไหน ต้องลุ้นตอนจบการฟาดแข้ง แต่ที่ได้อานิสงส์ไปก่อนแล้ว คือ "เรทติ้ง"​ ของทีวีช่องต่างๆ ที่ขยับขึ้น ภาพรวมฟุตบอลโลกจึงทำให้อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาคึกคัก แต่การรู้ผลว่าจะได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไหม คนไทยจะได้ดูหรือเปล่า ค่อนข้างช้า เลยทำให้แบรนด์ทำกิจกรรมตลาดได้ไม่สะใจ! เท่าที่ควร