เจาะแผน “อินเด็กซ์” จัดทัพธุรกิจ สร้างเสถียรภาพรายได้ ก่อนเข้าตลาดฯ

เจาะแผน “อินเด็กซ์” จัดทัพธุรกิจ  สร้างเสถียรภาพรายได้ ก่อนเข้าตลาดฯ

ตามแผน “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2567 แม้จะเกิดการเลื่อน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด แต่หลังจากสถานการณ์ทุกอย่างคลี่คลาย ธุรกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง อีเวนท์เข้าคิวจัดกันอย่างคึกคัก ชิงกำลังซื้อผู้บริโภคไม่หวาดไมไหว

ระหว่างทาง “อินเด็กซ์” จึงปรับตัว จัดทัพธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง กระจายความเสี่ยงรอบด้าน ที่สำคัญคือการลุยอีเวนท์ งานแฟร์ต่างๆ งานโครงการที่บริษัทสร้างสรรค์เอง ปักหมุดในสถานที่ท่องเที่ยวดึงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงบุกต่างประเทศ ฯ เพื่อทำให้ “รายได้” มีเสถียรภาพ

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นิยามที่บ่งบอกภาพรวมธุรกิจอีเวนท์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย อยู่ในภาวะ “โผล่พ้นน้ำแล้ว” หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเหมือน “จมน้ำ” มาโดยตลอด

 ปัจจัยที่สะท้อนธุรกิจพ้นน้ำ ต่อลมหายใจได้ เพราะโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนอีเวนท์ในประเทศไทย ทยอยปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 3 และฟื้นจริงเต็มๆคือไตรมาส 4 หลายคอนเสิร์ตจัดงานโดยไม่ต้องใส่หน้ากาก แต่ต่างมีความระมัดระวังมากสุด แม้ไหล่กระทบใกล้ชิดกัน

ภาพใหญ่อินเด็กซ์ เป็นผู้จัดอีเวนท์ แต่ภายใต้บริษัทยังมีบริการด้านการตลาด(Service Marketing) เช่น วิจัยการตลาด งานอีเวนท์การตลาด และแคมเปญสื่อสารการตลาด งานครีเอทีฟ หรือสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยว ธีมปาร์ค เอ็กซ์ซิบิชั่นระดับโลก ฯ และการจัดอีเวนท์ของตัวเอง(Own Projects) เช่น ไลฟ์สไตล์อีเวนท์ งานเทรดแฟร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไตรมาส 3 อินเด็กซ์สร้างผลประกอบการรวม 642.48 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากบริการด้านการตลาด 262.84 ล้านบาท งานสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ 239.48 ล้านบาท และอีเวนท์โปรเจคบริษัท 140.16 ล้านบาท โดยโค้งสุดท้ายมีสัญญาณบวก คาดว่าจะผลักดันปี 2565 มีรายได้แตะ 954 ล้านบาท แม้จะยังไม่ฟื้นตัวเท่าก่อนโควิดที่มีรายได้ 1380 ล้านบาท แต่อัตราดังกล่าวถือว่าโตขึ้น 60% จากปี 2564 ที่ยังได้รับผลกระทบจากไวรัสร้าย

ส่วนแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้ไป และเตรียมพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพยฯ บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้มี “เสถียรภาพ” อย่างมาก จึงวาง 4 หมากรบรุกตลาด ประกอบด้วย 1.สร้างประสบการณ์ไฮบริด ขับเคลื่อนสู่ “ฐานธุรกิจใหม่” ทั้งเทคโนโลยี ดิจิทัล สร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่และจินตนาการไร้ขีดจำกัด(Immersive Experience) เช่น การจัดคอนเสิร์ตนำ NFT ดึงคนดู ลงเข้าไปลงทุนโลกเมตาเวิร์ส รวมถึงบุกตลาดเอเชีย และจับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่คาดปีหน้าจะมาเยือนไทย 20 ล้านราย เป็นต้น

“เราทำทุกอย่างที่เชื่อมโยงโลกอนาคต นำ NFT มาทำกิจกรรม 3-4 คอนเสิร์ตแล้ว การซื้อตั๋วต่างๆพยายามดึงดิจิทัลมาร่วม”

2.จัดเต็มไลฟ์สไตล์อีเวนท์ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย โดยปี 2566 จะมีทั้งกิโลกรันใน 5 ประเทศ เทศกาลต่างๆที่เมืองโบราณ งานไฟที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย และงานประดับไฟธีมสนูปี้ ที่คีรีมายา เขาใหญ่ 3.งานเทรดแฟร์ ซึ่งจะเห็นการขยายตลาดใหม่ ในประเทศซาอุดีอาระเบีย และคาซัคสถาน ภายใต้ “ไทยแลนด์ เมกะ แฟร์ แอนด์ เฟสติวัล” ยกทัพประเทศไทยไปโชว์ศักยภาพรอบด้าน เป็นต้น

4.สร้างสรรค์อีเวนท์ของตัวเองหรือ Own Projects ที่จะเห็นทั้งสิ้น 18 งาน ปูพรม 7 ประเทศ

การเปิดแนวรบเต็มรูป บริษัทคาดการณ์ปี 2566 จะสร้างรายได้ 1,295 ล้านบาท มีกำไร 116 ล้านบาท จากปี 2565 คาดกำไรอยู่ที่ 98 ล้านบาท นอกจากนี้ สัดส่วนรายได้อนาคตจะเปลี่ยน ปีหน้า บริการด้านการตลาดจะมีสัดส่วน 51% Own Projects 28% และสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ 21% จากปีนี้ บริการด้านการตลาดอยู่ที่ 52% Own Projects 17% และสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ 31%

“ปีหน้ารายได้ฟื้นตัว อาจยังไม่เท่าปี 2562 ที่ผ่านมาเราโฟกัสธุรกิจที่ทำกำไรอย่างมาก และเตรียมความพร้อมเข้าตลาดฯ เพื่อระดมทุน ซึ่งเงินที่ได้จะนำไปพัฒนา Own Projects เพราะจะเป็นรายได้ประจำ สร้างเสถียรภาพให้บริษัท”