"บัดดี้มาร์ท" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า สู่การเป็นเพื่อนคู่ใจชุมชน

"บัดดี้มาร์ท" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า สู่การเป็นเพื่อนคู่ใจชุมชน

"บัดดี้มาร์ท" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า ภายใต้โมเดลธุรกิจที่มีแนวคิด "ครบ คุ้ม เพื่อนคู่ใจชุมชน" ก้าวสู่การเป็นสมาร์ทโชห่วย

ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยมีมูลค่า 3.6 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญคือ "ธุรกิจโชห่วย" ซึ่งครองสัดส่วนถึง 45-47% ทว่าปัจจุบัน มีสารพัด Pain Point หรืออุปสรรค ที่ส่งผลต่อการเติบโตของ โชห่วย ที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเรื่องสินค้าและบริการ ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้ "เสียโอกาส" ในการขาย

พฤติกรรมของลูกค้าที่นิยมเข้าร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ รวมถึงปัญหาด้านสภาพคล่องและความสามารถในการขอกู้เงินทุนเพื่อปรับปรุงร้าน การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการร้านค้าให้น่าสนใจ เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ เอกพล คูสุวรรณ ผู้จัดการโครงการบัดดี้มาร์ท บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สะท้อนภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ร้านค้าดั้งเดิมอย่างโชห่วย

ในฐานะที่ "แม็คโคร" คร่ำหวอดในวงการค้าส่งค้าปลีกถึง 33 ปี สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำ ธุรกิจ กับ โชห่วย ราว 500,000 ราย จนมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการร้านค้าปลีก จึงเกิดการต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจชุมชน ชื่อว่า "บัดดี้มาร์ท" ขึ้นมา ภายใต้แนวคิด "ครบ คุ้ม เพื่อนคู่ใจชุมชน"

โมเดลนี้มีความน่าสนใจในหลายจุด เริ่มตั้งแต่ชูจุดขายในการผนึกกำลังกับพันธมิตรผู้ผลิตสินค้า ประกอบด้วย ไทยน้ำทิพย์ ยูนิลีเวอร์ พีแอนด์จี เนสท์เล่ นำเสนอดีลพิเศษเฉพาะสำหรับร้านบัดดี้มาร์ท สร้างความแตกต่างจากร้านเครือข่ายธุรกิจอื่นที่เน้นขายเฮ้าสแบรนด์ของตนเอง รวมถึงการทำโปรโมชันอย่างต่อเนื่องผลักดันการเติบโตของยอดขาย นอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินอย่างธนาคารกรุงเทพเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญ ที่เข้ามาตอบโจทย์การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ สามารถผ่อนชำระได้นานถึง 5 ปี เพื่อให้เจ้าของร้านมีเงินไปปรับปรุงร้านค้า หรือตั้งต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น

\"บัดดี้มาร์ท\" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า สู่การเป็นเพื่อนคู่ใจชุมชน

ไม่เพียงเท่านั้น บัดดี้มาร์ท ยังใช้ฐานข้อมูล Big Data และเทคโนโลยีการจัดการร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ที่ "แม็คโคร" มีความแข็งแกร่งในการวางระบบการจัดการ บริหารร้านค้า มาใช้กับโมเดลร้านค้าเพื่อนคู่ใจชุมชนน้องใหม่รายนี้

"ยังนำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ หรือ Customize ป้อนสินค้าขายดีช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านค้าเติบโตยิ่งขึ้น" เอกพล กล่าว

อีกปัจจัยที่โดดเด่นของ "บัดดี้มาร์ท" คือใช้เงินลงทุนต่ำ คืนทุนเร็ว สำหรับเจ้าของร้านโชห่วยที่ต้องการปรับปรุงร้านใช้เงินลงทุนเริ่มต้น 400,000 บาท เท่านั้น โดยแบ่งเป็นค่าปรับปรุงร้าน 200,000 บาท และค่าประกัน 200,000 บาท และยังลงทุนให้คู่ค้า มูลค่าประมาณ 1.5 ล้านบาท สำหรับค่าระบบ POS ระบบบริหารจัดการร้าน อุปกรณ์ชั้นวาง ตู้แช่ และสินค้าทั้งหมดภายในร้าน ซึ่งมีขนาดร้านให้เลือกคือ พื้นที่น้อยกว่า 50 ตร.ม. ขนาด 51-100 ตร.ม. และมากกว่า 100 ตร.ม. โดยในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี บัดดี้มาร์ทมีโปรโมชันมอบส่วนลดค่าปรับปรุงร้าน 200,000 บาท ให้กับ 300 ร้านค้าในพื้นที่ที่เปิดให้บริการด้วย

"แม็คโคร คลุกคลีกับ โชห่วย มานาน รู้ว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านต้องการอะไร มีความถนัดอะไร จุดไหนไม่ถนัด ก็ร่วมมือพันธมิตร นำจุดแข็งความเชี่ยวชาญแต่ละฝ่ายมาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อพัฒนาร้านโชห่วยชุมชน ให้ก้าวสู่ สมาร์ทโชห่วย"

\"บัดดี้มาร์ท\" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า สู่การเป็นเพื่อนคู่ใจชุมชน

เอกพล กล่าวอีกว่า หากเจ้าของ โชห่วย ต้องการผลักดันร้านสู่ความสำเร็จ กุญแจสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ มายเซตของเจ้าของร้านที่ต้องพร้อมปรับเปลี่ยน ยอมรับสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือการเลือกสินค้าให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าในชุมชน สองก็คือ ทำให้อย่างไรให้เจ้าของร้านรักษาเสน่ห์ของโชห่วย ในการเป็นศูนย์กลางของชุมชนเอาไว้ เพราะเรื่องความสัมพันธ์กับคนในชุมชน คนที่จะทำได้ดีที่สุดคือ เจ้าของร้านเท่านั้น

"ร้านโชห่วยถือเป็นศูนย์กลางชุมชน จุดแข็งคือ มีความสนิทชิดเชื้อกับผู้คนในพื้นที่ มีอัตลักษณ์เด่นจดจำ รู้จักชื่อลูกค้าตัวเองและครอบครัวได้ ซึ่งไม่มีใครสร้างได้ดีเท่าเจ้าของร้าน สิ่งเหล่านี้จะเป็นจิ๊กซอว์ช่วยผลักดันให้บัดดี้มาร์ทเป็นศูนย์กลางชุมชนอย่างแท้จริง"

มุ่งหวังว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคู่ค้าที่เป็นโชห่วยต้องดีขึ้น ซึ่งหน้าที่ในการบริหารจัดการร้าน ยกให้เป็นหน้าที่ของเรา แต่ความสัมพันธ์กับชุมชนต้องอาศัยเจ้าของร้าน เพราะความสนิทชิดเชื้อกับผู้คนโดยรอบ รู้จักชื่อลูกค้าตัวเองและครอบครัว ซึ่งคาดว่าความสัมพันธ์นั้นจะแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม เพราะเจ้าของร้านมีเวลาดูแลลูกค้ามากขึ้น

โมเดลร้าน "บัดดี้มาร์ท" ได้ทดลองเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมทำธุรกิจในช่วงกลางปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างยอดขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 40% ให้เจ้าของธุรกิจ

"สำรวจพื้นที่ในชุมชนแต่ละแห่งเป็นแบบไหน พฤติกรรมการซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร เพื่อเข้าไปช่วยสนับสนุนด้านการตลาด การคัดเลือกสินค้าขายดี เพิ่มประสิทธิภาพ มีการหมุนเวียนสินค้าอยู่ที่ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้ไม่ต้องสต็อกสินค้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ร้านที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นบัดดี้มาร์ท มียอดขายเติบโตขึ้น"

นอกจากนี้ ยังเพิ่มบริการเพื่อยกระดับสู่การเป็น "เพื่อนคู่ใจชุมชน" ด้วยบริการพิเศษอื่นๆ เช่น มีตู้เติมเงิน ตู้กาแฟอัตโนมัติ ตู้ซักผ้าอัตโนมัติ รวมถึงวางแผนเพิ่มพื้นที่ขายให้สินค้าชุมชน เน้นย้ำการขับเคลื่อนธุรกิจภายในชุมชน สร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจการค้าของประเทศ

ทั้งนี้ "บัดดี้มาร์ท" วางเป้าหมายการเติบโตเอาไว้ที่ 2,000 ร้านค้า ในปี 2566 เน้นพื้นที่ในภาคกลางและภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันนับเป็นโมเดลที่กำลังได้รับความสนใจ

\"บัดดี้มาร์ท\" ชวนโชห่วยทั่วไทย พลิกโฉมร้านค้า สู่การเป็นเพื่อนคู่ใจชุมชน