เศรษฐกิจเวลเนส สร้างรายได้หลัง “โควิด”

เศรษฐกิจเวลเนส สร้างรายได้หลัง “โควิด”

หลังจากโลกเข้าสู่ยุกการระบาดของโควิด ทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวในการดูแลสุขภาพมากขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการท่องเที่ยวและธุรกิจเชิงสุขภาพถือว่ามีแนวโน้มเติบโต

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นตัวกระตุ้นกระแสรักสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณไปทั่วโลก เพราะการมีสุขภาพแข็งแรง จะช่วยทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานสูงขึ้นสามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ใน ค.ศ. 2020 ทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เฉลี่ยประมาณ 13.5% หรือเป็นจำนวนประมาณ 1,049 ล้านคนทั่วโลก และจะเพิ่มเป็น 21% หรือ 2,100 ล้านคนใน ค.ศ. 2050

ส่วนไทยข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2564 มีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปี ราวๆ 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% และมีการประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2575 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดคือ มีคนอายุเกิน 60 ปี สูงถึง 28%

ดังนั้นกระแส การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ Wellness Tourism จึงมาแรงทั่วโลก ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้ง Medical Tourism และ Wellness Tourism หากมีการเชื่อมโยงสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน จะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีประมาณ 100 ล้านคน-ครั้งจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 160 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเหลือเวลาอีก 2  เดือนจะสิ้นปี 2565 หากมีการเดินทางอีก 20 ล้านคน-ครั้งต่อเดือน น่าจะสามารถทำสร้างรายได้ 656,000 ล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาทได้ ส่วนปี 2566 ทั้งปีตั้งเป้ารายได้รวมการท่องเที่ยวที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ามาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน และนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง

การตั้งเป้าสร้างรายได้กลับสู่ประเทศจาก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง สามารถทำได้เพราะไทยมีศักยภาพจนสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute; GWI) จัดอันดับเมื่อปี 2563 ให้ติดอันดับ 9 ในเศรษฐกิจเวลเนสในแถบเอเชียแปซิฟิก และติดอันดับ 24 ของโลก และเป็นประเทศเป้าหมายที่คนอยากมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอันดับที่ 2 ของโลก รองจากออสเตรเลีย จากการจัดอันดับของ Wellness Tourism Initiative 2020 ซึ่งกลุ่ม Medical Tourism และ Health and Wellness Tourism จะสามารถสร้างรายได้ถึง 80,000-120,000 บาท/ครั้ง

นอกจากนี้ไทยยังมีนโยบาย Thailand Wellness Economic Corridor (TWC) ให้กับกลุ่ม Medical and Wellness Tourism ใน 12 สาขาเศรษฐกิจเวลเนส เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด 19 เพื่อสร้างรายได้กลับสู่ประเทศจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยใช้ จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางบริการเวลเนสระดับโลก รวมถึงการเตรียมจัดงาน Specialized Expo-Phuket 2028 และศูนย์กลาง Wellness Destination ในพื้นที่อันดามัน จ.สตูล

ส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ ในโครงการ จ.อุดรธานี เมืองทางการแพทย์ จัดตั้งศูนย์มะเร็งเป็น “ศูนย์การแพทย์แม่นยำในภูมิภาคอินโดจีน ศูนย์กลางการบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพลุ่มน้ำโขงที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบริการสุขภาพ และพัฒนาระบบอนุญาตหลัก (Super License) รองรับการประกอบกิจการเพื่อสุขภาพในพื้นที่นำร่อง

ดังนั้นเมื่อไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวสมบูรณ์แบบจะทำให้ธุรกิจ Wellness Tourism สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประเทศได้ และจะเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพทั้งในเอเชียและใระดับโลกได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทยได้รับการยอมรับทั้งในด้านคุณภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม โดยจากข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ อยู่ในอันดับที่ 4 จาก 118 ประเทศทั่วโลก และเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใน 15 อันดับแรกของโลก แสดงให้เห็นถึงความน่าดึงดูดใจของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย