"ไทยไลอ้อนแอร์" ฝ่าด่านเศรษฐกิจถดถอย เน้นเกมรัดกุม หยุดขาดทุนซ้ำรอยโควิด!

"ไทยไลอ้อนแอร์" ฝ่าด่านเศรษฐกิจถดถอย เน้นเกมรัดกุม หยุดขาดทุนซ้ำรอยโควิด!

ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ และความผันผวนของค่าเงิน มีผลต่อ “ดีมานด์แฝง” ของตลาด “เส้นทางบินระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นดีมานด์ที่ต้องการออกไปเที่ยว แต่ยังไม่ได้ออกเที่ยวจริง! ทำให้ “สายการบิน” ต้องประเมินเศรษฐกิจและกำลังซื้อละเอียดถี่ถ้วนเพื่อความมั่นใจสูงสุด!

ก่อนตัดสินใจกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินต่างๆ อีกครั้ง ป้องกัน “การบาดเจ็บซ้ำ” หลังเพิ่งฟื้นไข้จากวิกฤติโควิด-19

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ และค่าเงิน สร้าง “ความยากลำบาก” แก่การบริหารงานของธุรกิจสายการบิน และส่งผลทำให้คนที่ซื้อตั๋วเดินทางจริงอาจน้อยกว่าที่คาด! อย่างตลาดนักท่องเที่ยวไทย คนที่ไปเที่ยวต่างประเทศจริงคือคนที่มีกำลังซื้อ แต่คนที่มีกำลังซื้อลดลง จำเป็นต้องปรับแผนเลือกเที่ยวในประเทศไปก่อน

การกลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศของ “ไทยไลอ้อนแอร์” จึงต้องดูความเหมาะสมของตลาดตามปัจจัยเหล่านี้ โดยในไตรมาส 4 เตรียมเปิด 3 เส้นทางใหม่ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - สิงคโปร์ ความถี่ 8 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 30 ต.ค.นี้ เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - ไทเป ความถี่ 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 17 ธ.ค.นี้ ทั้ง 2 เส้นทางมีดีมานด์ชัดเจนของตลาดนักท่องเที่ยวรออยู่ ผู้โดยสารเกินกว่า 50% เป็นคนไทย ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - กาฐมาณฑุ เนปาล จะเริ่มบินเร็วๆ นี้ ดีมานด์ชาวต่างชาติค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ทางไทยไลอ้อนแอร์และคู่ค้าต่างมองเห็นโอกาสเจาะตลาดนี้จึงเดินหน้าเปิดเส้นทางดังกล่าว

“ไทยไลอ้อนแอร์คาดว่าทั้ง 3 เส้นทางใหม่จากกรุงเทพฯ สู่ สิงคโปร์ ไทเป และกาฐมาณฑุ จะมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (โหลดแฟคเตอร์) ในไตรมาส 4 นี้อยู่ที่ 65-70%”

ด้าน 2 เส้นทางแรกที่เริ่มทำการบินไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-จาการ์ตา อินโดนีเซีย คาดไตรมาส 4 นี้มีโหลดแฟคเตอร์ 75% เป็นเส้นทางที่มีรายได้ค่อนข้างดี สามารถรักษาระดับโหลดแฟคเตอร์ได้ดีต่อเนื่องเท่ากับตั้งแต่เปิดให้บริการ ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-มุมไบ อินเดีย คาดว่าไตรมาส 4 นี้จะมีโหลดแฟคเตอร์ 65% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 60-65% แนวโน้มไฮซีซันของตลาดเส้นทางอินเดียตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.นี้น่าจะเริ่มกลับมาทำราคาได้ดีขึ้น

“ภาพรวมราคาตั๋วเครื่องบินเส้นทางระหว่างประเทศของไทยไลอ้อนแอร์ ถือว่าไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก เพราะเส้นทางที่ให้บริการเป็นเส้นทางที่มีคู่แข่งมาชิงส่วนแบ่งผู้โดยสาร”

ด้านเส้นทาง “ญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำราคาขายได้ดีมากในตอนนี้! หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ “เปิดประเทศ” แบบไร้เงื่อนไข มีผลตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ราคาตั๋วเครื่องบินจึงแพงขึ้นตามดีมานด์ซัพพลาย นักท่องเที่ยวต้องการไปเที่ยวจำนวนมาก ขณะที่ซัพพลายเที่ยวบินยังมีน้อย

“แม้ตลาดนี้จะเป็นเส้นทางที่สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) เข้าไปช่วงชิงดีมานด์แข่งกับสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) มากขึ้น ทว่าสำหรับไทยไลอ้อนแอร์แล้ว เรายังสนใจ แต่เส้นทางญี่ปุ่นยังไม่ได้อยู่ในแผนการขยายเส้นทางบินระยะสั้น ตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 - ไตรมาส 1/2566 เพราะต้องขอดูแผนการนำเข้าเครื่องบินก่อน”

นันทพร เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านราคาตั๋วเครื่องบินของตลาด “เส้นทางบินในประเทศ” ไทยไลอ้อนแอร์เลือกใช้กลยุทธ์ตั้งราคาแบบ “สะท้อนต้นทุนจริง” เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันเครื่องบินยังสูงมาก ไม่สามารถทำการตลาดเล่นโปรโมชั่น 0 บาทได้ แต่ราคาของไทยไลอ้อนแอร์จะไม่เหมือนสายการบินอื่น เพราะให้บริการเสริมอื่นๆ เช่น น้ำหนักสัมภาระฟรี โดยราคาตั๋วเฉลี่ยประมาณ 1,100-1,200 บาทต่อเที่ยว

ปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางในประเทศครบทุกจุดบินแล้ว ฟื้นจำนวนเที่ยวบินได้ 80% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 เป้าหมายคือฟื้นให้ครบ 100% ในปี 2566 ขณะที่แนวโน้มการเดินทางในช่วงไฮซีซันปลายปีนี้น่าจะดี เพราะได้ปัจจัยการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ปรับให้ “โควิด-19” เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” มีผลเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นมา ทั้งยังมีเรื่อง “อากาศเย็นเร็ว” และน่าจะนาน ทำให้คนไทยนิยมเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น

“ไทยไลอ้อนแอร์หวังเห็นกำไรจากไฮซีซันไตรมาส 4 ปีนี้จากแนวโน้มจำนวนผู้โดยสาร 1.2 ล้านคน หลังผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ยังมีกำไรสลับกับขาดทุนกันไปในแต่ละเดือน ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566 การขาดทุนจะลดลง ทุกๆ เดือนคาดหวังเห็นตัวเลขเท่าทุนหรือมีกำไรเล็กน้อย”

แผนธุรกิจในปี 2566 ไทยไลอ้อนแอร์จะกลับมารุกเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น เตรียม “ขยายฝูงบิน” เพิ่มในอนาคตให้เหมาะสมกับสภาพการฟื้นตัวของตลาด โดยขณะนี้แผนการนำเข้าเครื่องบินอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ จากปัจจุบันไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 11 ลำ ทั้งหมดเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 และโบอิ้ง 737-900ER มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Utilization) เฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมงต่อลำ

“แนวทางการเพิ่มรายได้ของไทยไลอ้อนแอร์ในปี 2566 จะเป็นรายได้ที่สัมพันธ์กับต้นทุนมากกว่า ด้วยการเพิ่มเที่ยวบินที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำราคา การตลาด และการขายที่เหมาะสม ไม่ใช่รายได้ที่มาจากการมุ่งเปิดตลาดใหม่ๆ แต่เน้นขายถูก ซึ่งไม่ใช่รายได้ที่ดี เพราะไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้ในระยะยาว”

\"ไทยไลอ้อนแอร์\" ฝ่าด่านเศรษฐกิจถดถอย เน้นเกมรัดกุม หยุดขาดทุนซ้ำรอยโควิด!