“สยามพิวรรธน์” ชูกลยุทธ์ “เหนือบลูโอเชียน” ฝ่าคลื่นความท้าทายโลกใบใหม่

“สยามพิวรรธน์” ชูกลยุทธ์ “เหนือบลูโอเชียน”  ฝ่าคลื่นความท้าทายโลกใบใหม่

ตลอดระยะเวลากว่า 63 ปีของ “สยามพิวรรธน์” ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นแรกๆ ของประเทศไทย เผชิญความท้าทายและวิกฤติมาทุกรูปแบบ! รวมถึงโรคระบาดครั้งรุนแรงรอบศตวรรษ “โควิด-19” แต่ก็ข้ามผ่านมาได้ทุกยุคสมัย

หลังสั่งสมภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับทุกวิกฤติที่ดาหน้าเข้ามา ด้วยการท่องคาถา “ต้องเป็นที่หนึ่ง!” หรือ “Top of Mind” ครอบคลุมทั้งที่หนึ่งในใจผู้คน ในใจคู่ค้า ในใจพันธมิตรทางธุรกิจ และที่หนึ่งของโลกด้วย 40 รางวัลชนะเลิศด้านต่างๆ

ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพฯ ฉายภาพบนเวทีงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023” เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ภายใต้หัวข้อ Power Women พลิกธุรกิจรับโลกเปลี่ยน” ว่า ถ้าเราสามารถทำศูนย์การค้าให้เป็นที่หนึ่งของโลกได้ เราจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกรู้ว่าคนไทยไม่แพ้ใคร! ประเทศไทยมีดี! ศูนย์การค้าจึงเป็นแม่เหล็กสำคัญ ดึงดูดคนทั้งโลกให้อยากมาเที่ยวประเทศไทยในฐานะสวรรค์แห่งการชอปปิง

“สยามพิวรรธน์มีปณิธานว่าจะทำให้ประเทศไทยก้าวออกมายืนอย่างสง่างามให้ได้ในยุคหลังโควิด-19”

นี่คือวิถีการทำธุรกิจของสยามพิวรรธน์ที่ใช้มาตลอด 63 ปีจนประสบความสำเร็จ! แต่นับจากนี้ไปต้องนำมาต่อยอด ด้วยมองว่า “ความสำเร็จคือสปริงบอร์ดที่ดี” ผลักดันสยามพิวรรธน์สู่การก้าวข้ามครั้งใหม่ RISE ABOVE AND BEYOUND”

ประกอบด้วย 1.ก้าวข้ามทุกความสำเร็จทั้งหมดที่เคยทำได้ ถือเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะจากการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า พบว่าพึงพอใจมากกว่า 90% แทบจะชนเพดานอยู่แล้ว แต่ต้องไปให้ได้มากกว่าที่เคยทำได้ 2.ก้าวข้ามทุกความเปลี่ยนแปลง จากนี้ไปทั้งโลกจะต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง เมื่อ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” มีทั้งโรคระบาด สงคราม และอีกหลายๆ อย่าง เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้

และ 3.ก้าวข้ามทุกความท้าทาย สยามพิวรรธน์เคยก้าวข้ามการแข่งขันภายในประเทศ ด้วยการออกไปแข่งกับคนทั้งโลก มีทั้งชนะบ้าง ไม่ชนะบ้าง แต่ทุกวันนี้มี “ความท้าทาย” มากกว่าการแข่งขัน!

สยามพิวรรธน์จึงเปลี่ยนกลยุทธ์หลักเพื่อรองรับความท้าทายเหล่านั้น หลังจากตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตระหนักดีว่ามี “ดิจิทัล ดิสรัปชัน” แต่สยามพิวรรธน์ไม่ได้กลัวเรื่องนี้ เพราะเตรียมตัวมาดี ศูนย์การค้าของเราไม่ใช่แค่ที่ขายของ แต่เป็นสถานที่ “ขายคุณค่า” มีสตอรี่ มีประสบการณ์เหนือความคาดหมาย ด้วยการเติม “อีเวนต์” ทุกรูปแบบเพื่อสร้างสีสันและความคึกคัก มีไม่น้อยกว่า 423 อีเวนต์ต่อปี หรือเฉลี่ย 1 วันมีมากกว่า 1 อีเวนต์ และอีเวนต์ที่เราจัดเป็นงานระดับโลก เช่น งานนาฬิกา คนทั้งเอเชียต้องบินมาดู

นี่คือแนวทางการสร้างตลาดของสยามพิวรรธน์ สู่ “น่านน้ำสีคราม” หรือ Blue Ocean Strategy” สร้างนิวโปรโตไทป์ สร้างวิธีทำธุรกิจในแบบฉบับของเรา และสร้างตลาดของเราเอง ด้วยการใช้ Emotional Marketing เพื่อสร้าง Engagement ดึงดูดผู้คน ไม่ว่าจะมีดิจิทัลดิสรัปชันมากระทบมากแค่ไหน แต่ความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) ของคนย่อมเหมือนเดิม เพราะเราเอนเกจคนด้วยหัวใจ

“นี่คือ Blue Ocean Strategy ที่เราสร้าง โดยที่เราไม่ต้องแข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเองและทำได้ กลยุทธ์ใหม่ของสยามพิวรรธน์คือการมุ่งสู่ Above The Ocean Strategy คำคำนี้เหมาะสมที่สุด หลังจากเราได้สั่งสมความสำเร็จต่างๆ เป็นสปริงบอร์ดที่ดี”

กลยุทธ์ “Above The Ocean Strategy” ประกอบด้วย 1.อยู่เหนือทุกความเปลี่ยนแปลง สยามพิวรรธน์ต้องถอยตัวเองออกมามองธุรกิจในบริบทใหม่แบบไม่มีกรอบ สิ่งที่เคยบอกว่าเป็นความสำเร็จ หรือ Best Practice ให้ลืมมันไป แม้จะเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ แต่ใช้ไม่ได้อีก ต้องคิดสร้างสิ่งใหม่บนพื้นฐานคุณค่าที่เรามี อย่างไม่มีข้อจำกัด 2.ปราศจากคู่แข่ง และเปี่ยมด้วยพันธมิตร

3.สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าและร่วมกันอย่างยั่งยืน สยามพิวรรธน์เชื่อว่าไม่มีใครเก่งคนเดียว เราไม่ชอบการกินรวบ ถ้าเรามีอีโคซิสเต็มทางธุรกิจที่ดี จะร่วมกันฝ่าฟันในการทำสิ่งใหม่ สร้างความสำเร็จใหม่ที่เติบโตด้วยกัน นี่คือความยั่งยืนแบบทวีคูณ

และ 4.สร้างโลกใหม่ที่ไร้พรมแดน ไร้ข้อจำกัด และเปี่ยมด้วยโอกาสหลากหลายมิติ เมื่อมองอีกมุม วิกฤติโควิด-19 ช่วยสร้างโลกใบใหม่ เช่น ผู้คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป สนใจเรื่องสุขภาพและเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น เทรนด์ Metaverse ตรงนี้ยังไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าคืออะไร แต่เชื่อว่าจะเป็นโลกใหม่ที่สวยงาม ไม่มีกรอบ ทุกคนพร้อมเรียนรู้และทดลอง (Learn And Trial) เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เติบโตและเดินไปด้วยกันในระบบนิเวศของคนที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน

แล้วสยามพิวรรธน์กำลังจะทำอะไรเกี่ยวกับ Above The Ocean Strategy คำตอบคือ Universe of Value” สร้างคุณค่าสู่มูลค่า ด้วยการแบ่งปันประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม (Sharing Economy) เช่น ใช้เวลา 13 เดือนในการพัฒนาแพลตฟอร์ม One Siam App เพื่อให้ร้านค้าปลีกและพันธมิตรได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังเดินหน้าผนึกกำลังกับพันธมิตรเพื่อ Co-Creation สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกัน ทั้งคอนเทนต์ โปรโมชัน และอื่นๆ ในฐานะที่เราเป็น Platform Developer

ขณะเดียวกัน ต้องร่วมมือเพื่อเติบโตไปด้วยกัน (Collaboration to Win) จากระบบนิเวศแห่งความสำเร็จของสยามพิวรรธน์ และสร้างความยั่งยืนผ่านทุกกระบวนการและในทุกธุรกิจที่ดำเนินการ (Sustainable Value in Process) มุ่งสร้างการเติบโตร่วมกันต่อทุกภาคส่วน ทั้งผู้คน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเมืองสุขสยาม ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มาขายของที่ไอคอนสยาม

ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์ใหม่ในแบบฉบับของ “สยามพิวรรธน์” เพื่อรับมือกับโลกธุรกิจใบใหม่อัดแน่นไปด้วยความท้าทาย!!