มี "อำนาจ" แต่ ไม่กล้าใช้ "อำนาจ"

มี "อำนาจ" แต่ ไม่กล้าใช้ "อำนาจ"

กฎหมายระบุชัด กสทช. มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวม “ทรู ดีแทค” แต่บอร์ด กสทช. กลับพยายามส่งเรื่อง “อำนาจของตัวเอง” ไปให้กฤษฎีกาตีความถึง 2 ครั้ง เห็นได้ชัดว่า กสทช. มีอำนาจแต่กลับไม่กล้าใช้อำนาจนั้น

การพิจารณาดีลควบรวม “ทรู ดีแทค” ที่มีผลประโยชน์นับแสนล้านบาท ยังคงอยู่ในความสนใจ มีคำถามเกิดขึ้นต่อองค์กรอิสระ ที่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่าง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.” ที่สุดท้ายแล้วไม่ได้ใช้อำนาจที่พึงมีของตัวเอง กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่มีกฎหมายอยู่ในมือ มีสิทธิพิจารณาดีลควบรวมธุรกิจที่รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาพิจารณาอำนาจของตัวเองซ้ำ

พูดง่ายๆ ว่า “เมื่อเป็นองค์กรอิสระ มีกฎหมายของตัวเอง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นหรือฟังใครก็ได้ และการดึงเอาฝ่ายอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ถือเป็นการลดอำนาจตามสิทธิที่ตัวเองพึงมี” 

ในกฎหมาย ระบุว่า กสทช. มีอำนาจ และหน้าที่พิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ชัดว่า 

“รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย”

กฎหมาย ระบุว่า รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐ “ที่มีความเป็นอิสระ” ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกัน มิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

ป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูล หรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

ในมาตรา 274 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ นอกจากนี้ ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 75 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า 

“รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ”

ดังนั้น การที่สำนักงาน กสทช. หรือตัว บอร์ด กสทช. พยายามส่งเรื่อง “อำนาจของตัวเอง” ไปให้กฤษฎีกาตีความถึง 2 ครั้ง เห็นได้ชัดว่า กสทช. ไม่รับรู้หรือมองไม่เห็นในอำนาจของตัวเอง แม้กฎหมายจะบัญญัติถึงสิทธิและอำนาจที่มีอย่างชัดเจน การกระทำของบอร์ด กสทช. ชุดนี้ เหมือนไม่กล้าที่จะทำหน้าที่ ทั้งที่ตัวเองมีอำนาจแต่กลับไม่กล้าใช้อำนาจนั้น เราเห็นว่า กสทช. ควรต้องทำหน้าที่ของตัวเองตามอำนาจที่พึงมี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดของกลุ่มทุน