'เมเจอร์' รุกถือหุ้น 'เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์' เสริมแกร่งโรงหนัง ป๊อปคอร์น

'เมเจอร์' รุกถือหุ้น 'เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์' เสริมแกร่งโรงหนัง ป๊อปคอร์น

เจ้าพ่อโรงหนัง "วิขา พูลวรลักษณ์" เงินสดเหลือ นำทัพเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เข้าถือหุ้นใน "เวิร์คพอยท์" เสริมแกร่งด้านศิลปินต่อยอดการสร้างหนัง ฟาก "เถ้าแก่น้อย" จิ๊กซอว์สำคัญขยายตลาด "ป๊อปคอร์น" พันล้าน

ห้วงแห่งวิกฤติโควิด-19 ระบาด “ธุรกิจโรงภาพยนตร์” เป็นอีกหมวดที่ได้รับผลกระทบสาหัส จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ของภาครัฐ ส่งผลให้เวลากว่า “ร้อยวัน” ที่โรงหนังจอมืด เมื่อไม่มีการฉายหนัง ยักษ์ใหญ่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” หลักร้อยล้านบาทในปี 2563

นับเป็นครั้งแรกที่ขาดทุนในรอบ 26 ปี ตั้งแต่บริษัทดำเนินธุรกิจมา

ทว่า ช่วงแห่งความท้าทายของธุรกิจดังกล่าว แต่เจ้าพ่อโรงหนังอย่าง “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยังคงฮึดสู้ และเคยกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า

 “ผมเป็นนักสู้ จึงไฟต์ เป็นเวลาที่ No Time To Die” หยิบชื่อตอนหนังฟอร์มยักษ์อย่าง “007 James Bond : No Time To Die หรือ พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ มาสะท้อนภาพ

 การพยายามฝ่าวิกฤติ ในปีที่ผ่านมา จึงเห็นหลายอย่างเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการ “ขายหุ้น” สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์หรือเอสเอฟ ให้กับกลุ่มเซ็ทรัลพัฒนา(ซีพีเอ็น)กว่า 30% มูลค่ากว่า 7,700 ล้านบาท

เงินที่ได้จากธุรกรรมดังกล่าว เมเจอร์ฯ นำไปชำหนี้ ลดภาระดอกเบี้ย ทำให้รายจ่ายลดลงจำนวนมาก อีกด้านยังเป็นการเสริมสภาพคล่องให้บริษัท ทว่า อีกด้าน เมเจอร์ฯ ก็สูญเสียส่วนแบ่งกำไรที่เคยมีจากเอสเอฟเช่นกัน

ส่วนปี 2565 ธุรกิจโรงหนังกลับมาฉายได้มากขึ้น ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติ เพราะโควิดคลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน หนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ด หนังไทย หนังต่างประเทศสารพัดตบเท้าเข้าฉาย ทำเงินมากขึ้นต่อเนื่อง

\'เมเจอร์\' รุกถือหุ้น \'เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์\' เสริมแกร่งโรงหนัง ป๊อปคอร์น "วิชา" เคยให้นิยามธุรกิจโรงหนังช่วงเผชิญวิกฤติโควิด-19

ภาพธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัวกลับมา เมเจอร์ฯ เปิดเกมรุก ทำกิจกรรมการตลาดมากมาย เพื่อดึงคอหนัง กลับไปเสพความบันเทิงนอกบ้าน ที่ “วิชา” ย้ำเสมอว่า การดูหนังเป็นการใช้จ่ายความบันเทิงนอกบ้านใน “ราคาถูก” เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น คอนเสิร์ต งานมีทติ้งต่างๆที่ราคาหลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท 

อีกหนึ่งการขยับตัว ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้อนุมัติให้บริษัทเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ TKN ประมาณ 10% ในมูลค่าราว 1,200 ล้านบาท และหุ้นบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด(มหาชน)หรือ WORK ประมาณ 10% ในมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท
การลงทุนดังกล่าว เมเจอร์ฯ ต้องการต่อยอด เสริมแกร่งให้กับธุรกิจแตกต่างกันไป เริ่มจาก “เถ้แก่น้อย” จะเข้ามาติดอาวุธในการขยายช่องทางจัดจำหน่าย “ป๊อปคอร์น” สู่ตลาดทั้งในและต่างประเท​ศ เพราะตลาดขนมขบเคี้ยว(สแน็ค)ดังกล่าว บริษัทปั้นแบรนด์ “ป๊อปสตาร์” เข้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อกว่า 10,000 สาขาทั่วไทย สานเป้ายอดขาย “ร้อยล้านบาท” ต่อเดือน จาก 50 ล้านบาท

\'เมเจอร์\' รุกถือหุ้น \'เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์\' เสริมแกร่งโรงหนัง ป๊อปคอร์น “เถ้าแก่น้อย” ยังขยายตลาดสแน็คไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยมี “จีน” เป็นสัดส่วนที่มาก และเปิดเกมรุกเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ยุโรปเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันเข้าไปขายในห้างค้าปลีกหลักของสหรัฐฯ เสิร์ฟคนในประเทศได้มากขึ้น ความร่วมมือที่วางแผนไว้ คือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เติมพอร์ตโฟลิโอ สร้างการเติบโตต่อไป

อีกด้านการถือหุ้น TKN ยังช่วยเพิ่มช่องทางรายได้สื่อในการประชาสัมพันธ์ทางด้านการตลาดให้เถ้าแก่น้อยในอนาคตด้วย ซึ่งแต่ละปี “โฆษณาในโรงภาพยนตร์” ทำเงินมากถึง 3,000-4,000 ล้านบาท หลักๆมาจาก 2 ค่ายโรงหนังยักษ์ใหญ่

ส่วนการถือหุ้นใน WORK เป็นอีกจิ๊กซอว์ของการขยายธุรกิจภาพยนตร์ หรือการสร้างหนังนั่นเอง โดย “วิชา” ย้ำเสมอว่า “อุตสาหกรรมหนัง” ของประเทศไทยจะโตได้ต้องอาศัย Local Content หรือหนังไทยมากขึ้น ครองสัดส่วนให้ได้ 50% เท่ากับหนังจากต่างประเทศ หนังฮอลลีวู้ดต่างๆ จากที่ผ่านมา หนังไทยมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย

“เมเจอร์ฯ” ส่ง “เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ส่วน “เวิร์คพอยท์” “ไทย บรอดคาสติ้ง” และ “โต๊ะกลมโทรทัศน์” ตั้งบริษัทร่วมทุน “สกายบ็อกซ์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์” เพื่อบริหารศิลปิน

\'เมเจอร์\' รุกถือหุ้น \'เถ้าแก่น้อย-เวิร์คพอยท์\' เสริมแกร่งโรงหนัง ป๊อปคอร์น อย่างไรก็ตาม การได้เงินมาเสริมสภาพคล่อง สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจโรงภาพยนตร์ของ “เจ้าพ่อโรงหนัง” อย่างมาก เมื่อมีเงินสดจากการขายเอสเอฟ สามารถนำไปลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพ ต่อยอดธุรกิจหลักให้เติบโตต่อเนื่อง การถือหุ้นใน 2 บริษัท ยังทำให้ได้ส่วนแบ่ง “กำไร” ตอบแทนกลับมาด้วย เพราะท่ามกลางวิกฤติ แม้ เวิร์พอย์-เถ้าแก่น้อย จะได้รับผลกระทบ แต่ไม่เคยเผชิญ “ขาดทุน” การถือหุ้นจึงตอบโจทย์กำไรและปันผลให้ด้วย