กทม.เร่งฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ปั้น "เมืองน่าอยู่-น่าลงทุน-ท่องเที่ยว"

กทม.เร่งฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ ปั้น "เมืองน่าอยู่-น่าลงทุน-ท่องเที่ยว"

“ชัชชาติ” เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ เร่งสร้างความเชื่อมั่น ตั้ง “กรอ.กทม.” ดึงดูดนักลงทุน-นักท่องเที่ยว พร้อมผนึกภาคเอกชนเล็งใช้มาตรการภาษีที่ดินจูงใจนำที่ดินใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์เพิ่มพื้นที่สีเขียว สานภารกิจ 4 ข้อทำให้เป็น "เมืองสำหรับทุกคน"

“วันนี้ กรุงเทพฯ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว และธุรกิจจากทั่วโลกแล้ว!! เป็นไปตามสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพฯ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งการครองเตียงและยา สามารถรองรับได้ หากมีการแพร่ระบาด ขณะที่คนกรุงเทพฯ มีอัตรารับวัคซีนสูง  อัตราการฉีดวัคซีนโดส 2 เกิน 100% และอัตรากลุ่ม 608 ที่ได้รับวัคซีนก็เกิน 50% แล้ว ทุกอย่างเราพร้อมที่จะเปิดเมือง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสัญญาณบวกต่อการเดินหน้ายุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร ในวาระปาฐกถาพิเศษ "Reopening Bangkok" ในงานสัมมนาผู้ลงทุนสถาบันระดับนานาชาติ "Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE" เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร มีเศรษฐกิจ 32% ของจีดีพีไทย ประกอบด้วย 7 กลุ่มหลัก ค้าส่งค้าปลีก ราชการ อาหารและที่พัก ข้อมูลและการสื่อสาร การเงินและประกันภัย โรงงานผลิต และการเดินทาง พร้อมโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลายครบครัน

ด้วยจุดเด่นไม่ว่าจะพื้นที่อาคารสำนักงาน 8.2 ล้านตารางเมตร อัตราค่าเช่า 44 ล้านดอลลาร์/ตารางฟุต/ปี  เทียบฮ่องกง 240 ดอลลาร์ และสิงคโปร์ 113 ดอลลาร์ จำนวนแรงงานมี 5.6 ล้านคน มีแรงงานต่างด้าว 9.5% ค่าครองชีพของคนกรุงเทพฯ อยู่อันดับ 106 ของโลก และระบบสาธารณสุขช่วงโควิด อันดับ 28

ในกรุงเทพฯ มีโรงแรมกว่า 1.2 แสนห้อง ขณะที่พื้นที่สำนักงานในอนาคตจะขยับถึง 10 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ (Convention center) รองรับการประชุมสัมมนา หรืออุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions)  

อนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาคได้!!

แต่หากกล่าวถึงกรุงเทพฯ ผู้คนมักนึกถึงการจัดการขยะ หรือ ปัญหารถติด ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่จะเชื่อมโยง "เศรษฐกิจ" กับ กรุงเทพฯ โดยปี 2566 กทม. ได้รับงบประมาณ 69,000 ล้านบาท หรือ 2.48% ของงบประมาณประเทศไทย ขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากร 8.43 ล้านคน ราว 12% ของประชากรไทย 69.8 ล้านคน 

ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำภารกิจสำคัญขณะนี้ว่า หัวใจของ กทม. ต้องสร้างความมั่นใจคืนมาให้ "นักลงทุน" และ "นักท่องเที่ยว" ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาคเอกชน! เนื่องจาก กทม.มีทรัพยากรจำกัด ฉะนั้น หน้าที่หลักของ กทม. ต้องโปร่งใส ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางของเมือง 

"หน้าที่ของผู้ว่าฯ ไม่ใช่แค่เรื่องเก็บขยะ ล้างท่อ แต่ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของเมือง อนาคตเราต้องดึงดูดธุรกิจที่ดี คนที่เก่งมาที่เมือง เพื่อสร้างงาน สุดท้ายก็มีภาษีจ่ายคืนมาให้เมืองเอาไปพัฒนาต่อ ถ้าเมืองไม่มีเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีคนจ่ายภาษี สุดท้ายเมืองก็ไปไม่รอด เป็นวงจรที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน"

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าสนใจเพราะเป็นเมืองที่มีทั้ง High Tech และ High Touch ในส่วนของ High Tech เรามีความก้าวหน้า มีสิ่งปลูกสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวก ส่วน High Touch มีศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคนอยากมาเที่ยวมากที่สุดในโลก เพราะมีสิ่งที่น่าสนใจ มีเสน่ห์มากมาย ค่าครองชีพไม่แพงเมื่อเทียบกับหลายเมืองทั่วโลก Living Index ไม่สูงมาก

“กรุงเทพฯ มีจุดเด่นที่ความแตกต่างหลากหลายของสังคม วัฒนธรรม ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย แต่มีสิ่งที่กรุงเทพฯ ควรจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ เช่น กฎหมาย และระเบียบที่เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจ การคอร์รัปชัน ความสามารถภาษาอังกฤษ และทักษะแห่งอนาคต”

กรุงเทพฯ ยังติดอันดับ 1 เมืองน่าท่องเที่ยวสุดในโลก แต่ติดอันดับ 98 เมืองคุณภาพชีวิตที่ดี สะท้อนว่ากรุงเทพฯ เหมาะสำหรับการพำนักระยะสั้น

สำหรับด้านคุณภาพชีวิต กรุงเทพฯ มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาจราจร และพื้นที่สีเขียวน้อยเฉลี่ย 1 ตารางเมตรต่อคน เทียบกับ 9 ตารางเมตรต่อคน ตามเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก ซึ่งอาจจะนำแนวทาง Land Tax มาใช้เพื่อจูงใจเอกชนนำที่ดินให้สาธารณะประโยชน์เพิ่มขึ้น 

++ ปั้นกรุงเทพฯ เมืองสำหรับทุกคน

ชัชชาติ กล่าวต่อว่า วางเป้าหมายจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน ผ่าน 9 แนวทาง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การเดินทาง การจัดการ โครงสร้างพื้นที่ฐาน เศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจกรุงเทพ พร้อมมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยวและสุขภาพ รวมถึงการจัดประชุม สัมมนา และการเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี

“ผมมีภารกิจ 4 ข้อ ในการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสำหรับทุกคน กล่าวคือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพ 2.พัฒนาคุณภาพชีวิต 3.สร้างโอกาส และ 4.การสร้างความเชื่อมั่น"

การเปิดเมืองกรุงเทพฯ ยังหมายถึงความโปร่งใสด้านข้อมูลข่าวสาร การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณในเว็บไซต์ และการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เช่น Traffy Fondue มาแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม และเพิ่มความโปร่งใสแก้ปัญหาคอรัปชันได้ด้วย

++ จ่อตั้ง“กรอ.กทม.”ผนึกภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญ คือ ความโปร่งใส ความมั่นใจ กฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ มากกว่าเป็นภาระให้เขา! เราต้องผิดชอบในส่วนของตัวเอง เริ่มจากความโปร่งใส Open Data ทำข้อมูลให้ชัด ปรับปรุงกระบวนการขอใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น ต้องไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่ม Empower ให้ประชาชน ใช้แอปพลิเคชัน เช่น Traffy Fondue ให้ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วม สร้างความหวังให้เขา นี่คือสิ่งสำคัญที่ กทม.ต้องเร่งทำ!

“หลายๆ อย่างเราทำเองไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีความรู้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เช่น ด้านธุรกิจ เราไม่ได้มีความรู้มากเท่ากับภาคเอกชน จึงต้องหาแนวร่วม”

โดย กทม.จะตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) นำภาคเอกชนมาร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ชี้จุดอ่อนต่างๆ ว่าจะปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง เพื่อให้การทำงานร่วมกันสะดวก 

อนาคตอยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาค เพราะเรามีสิ่งดี ๆ มากมายที่จะสู้ได้ ดึงธุรกิจมาสร้างงานที่มีคุณภาพให้กรุงเทพฯ พอเรามีงานดี มีภาษีแล้ว เราก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสวัสดิการได้ สุดท้ายแล้วก็จะเป็นวงจรที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น

++ แนวทางการมอบอำนาจให้ประชาชน

ผู้ว่าฯ กล่าวต่อว่า กทม.ใช้โปรแกรม Traffy Fondue ให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุต่าง ๆ แจ้งปัญหาได้ 

แค่นี้เขาก็รู้สึกว่ามีอำนาจที่จะต่อเชื่อมกับผู้ว่าฯ ได้แล้ว ประชาชนเห็นปัญหา แจ้งเข้ามา เราแก้ไขได้เลย สิ่งนี้คือการ Empower จากนี้ไปก็จะทำเรื่องการมีส่วนร่วมตั้งงบประมาณ คือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดงบประมาณมากขึ้น ให้เขาสามารถมีสิทธิมีเสียง”

โดยขณะนี้กำลังฟอร์มสภาคนรุ่นใหม่ให้เด็กรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่มีสิทธิมีเสียง มีโอกาสเข้ามาแสดงความเห็นมากขึ้น มี Public Space หรือพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพ ให้คนมาเจอกัน มี co-working space ซึ่งสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้จะสร้าง momentum ขนาดใหญ่ และเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“ระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีในสวน หนังกลางแปลง ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในใจคนถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน การที่เราให้ความสำคัญ ให้คนเห็นคุณค่าของเมือง การมาร่วมกัน การไม่ได้ดูแต่จุดต่าง แต่ดูสิ่งที่เห็นเหมือนกัน ความร่วมมือร่วมใจขนาดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดี ผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเมืองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมาก ฉะนั้น การเปลี่ยนเมืองไม่ต้องใช้เงินเป็นเมกะโปรเจกต์อะไร ขอแค่มีความร่วมมือร่วมใจ ผมว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะเริ่มดีขึ้นได้”

++ บทบาทในตลาดทุนคือโปร่งใส

ในท้ายนี้ สำหรับ “ตลาดทุน” ต้องมีนักลงทุนที่มีคุณภาพ มีบริษัทที่ดี บทบาท กทม. ในตลาดทุน ก็คือเรื่อง “ความโปร่งใส” และ กทม.ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่เป็นผู้สร้างภาระให้กับบริษัท กระบวนการขอใบอนุญาต การเก็บภาษีต่าง ๆ จะต้องมีความโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้คืนมา

"เราเพิ่งเลือกตั้งกันมา นอกจากบทบาทในการดูแล กทม.แล้ว เราต้องเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจความไว้ใจกลับคืนมาให้กับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพื่อให้รู้ว่าการเลือกตั้งสามารถส่งผลที่เปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้ ถ้าเราทำงานได้ดี สภา กทม.ทำงานได้ดี ทีมผู้ว่าฯ กทม.ทำงานได้ดี นอกจากคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้นแล้ว ทั้งประเทศก็จะเห็นเลยว่าระบบประชาธิปไตยยังมีพลังอยู่ ยังเป็นระบบที่เราเชื่อมั่นได้ว่าสุดท้ายจะสามารถให้คำตอบที่ดีกับเมืองและประเทศได้ รวมถึงยังมีความหวังได้ ซึ่งก็จะมีผลกับตลาดทุนด้วย" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวทิ้งท้าย