“บางกอกแอร์เวย์ส” Q2 ขาดทุน 439 ล้าน ลดลง 25% ดีมานด์ฟื้นดันยอดโดยสารล้านคน

“บางกอกแอร์เวย์ส” Q2 ขาดทุน 439 ล้าน ลดลง 25% ดีมานด์ฟื้นดันยอดโดยสารล้านคน

“บางกอกแอร์เวย์ส” เผยผลประกอบการไตรมาส 2/65 ทำรายได้รวม 2,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% ขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 439 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลง 25% หลังดีมานด์การเดินทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ดันยอดผู้โดยสารแตะล้านคน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 บริษัทฯ ปรับเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้เหมาะสมกับการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้น จากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศไทยของภาครัฐตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ซึ่งช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากผู้โดยสารต่างชาติให้ดีขึ้น เส้นทางบินหลักยังคงเป็นเส้นทางบินที่มีจุดหมายปลายทางเป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ-สมุย, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่,  สมุย-ภูเก็ต และ กรุงเทพฯ-พนมเปญ

โดยมีรายได้รวม 2,520.3 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง 74.7% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 3,180.2 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ต้นทุนขายและบริการผันแปรตามจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินของธุรกิจสายการบิน ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเท่ากับ 439.9 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลง 146.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25% เทียบกับปี 2564

“ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2565 บริษัทฯ มียอดผู้โดยสารจำนวนกว่า 0.9 ล้านคน มีเที่ยวบินจำนวน 10,817 เที่ยวบิน และมีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 71.6% โดยมีรายได้รวม 4,181.2 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารของธุรกิจการบินในครึ่งปีแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,984 ล้านบาท รายได้จากธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องกับสนามบินจำนวน 1,033.5 ล้านบาท โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของบริษัทย่อยที่เป็นผู้ให้บริการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสนามบินจากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่างๆ”

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ ได้วางแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ เส้นทางบินระหว่างประเทศในเส้นทาง กรุงเทพ-พนมเปญ เป็น 21 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และเส้นทาง สมุย-สิงคโปร์ เป็น 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ตามความต้องการการเดินทางที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัย

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการเปิดให้บริการเช็คอินด้วยตนเองผ่านเครื่องบริการอัตโนมัติ “Self-service Check-in Kiosk” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินภายในประเทศ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินสมุย และสนามบินกระบี่ บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือน เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรด้านช่างอากาศยาน และยกระดับมาตรฐานการฝึกอบรมการ ซ่อมบำรุงอากาศยานภาคปฏิบัติขั้นพื้นฐานของประเทศ บริษัทฯ ยังได้จัดรายการแข่งขันวิ่ง “บางกอกแอร์เวย์ส บูทีค ซีรีส์ 2022” สนามแรก ณ เกาะสมุย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการกีฬา

นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯได้จัดตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท กรุงเทพ รีทแมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นผู้จัดการกองทรัสต์และได้ยื่นคำขอจัดตั้ง ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ สนามบินการบินกรุงเทพ (BA Airport Leasehold Real Estate Investment Trust : BAREIT) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบในหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหน่วยทรัสต์ BAREITเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา