กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี : Colorful Ocean Strategy

กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี : Colorful Ocean Strategy

ในแวดวงธุรกิจก็มีหลากหลายกลยุทธ์จากร้อยแปดสำนัก กลยุทธ์ที่มีอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายชุดหนึ่ง คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสี (colorful ocean strategy) ทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean

เมื่อว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ ในแวดวงธุรกิจก็มีหลากหลายกลยุทธ์จากร้อยแปดสำนัก กลยุทธ์ที่มีอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายชุดหนึ่ง คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสี (colorful ocean strategy) ทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean

กลยุทธ์น่านน้ำเหล่านี้มีทั้งความเหมือนและต่างกันในบริบทที่ตัวมันเองเป็นกลยุทธ์ประเภทหนึ่งในทางธุรกิจ ความเหมือนกัน ก็คือ ทั้งสามกลยุทธ์มุ่งให้ความสำคัญที่คุณค่า (value) ในการประกอบการ เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร

การนิยามความสำเร็จเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางกลยุทธ์ บางกิจการ ความสำเร็จ คือการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในสนามการแข่งขัน บางกิจการวัดความสำเร็จจากการพัฒนาธุรกิจให้ล้ำหน้าการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้คู่แข่งหมดความหมาย ขณะที่กิจการอีกส่วนหนึ่งประเมินจากที่องค์กรมีความยั่งยืนด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล 

Red ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งพัฒนาและส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่า (Beating Value) คู่แข่งขัน

Blue ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน 

Green ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value)

ในกลยุทธ์การแข่งขันแบบน่านน้ำสีแดง องค์กรต้องเลือกระหว่างกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน เพราะพื้นที่ตลาดเดิมได้ถูกกำหนดไว้อย่างแจ้งชัด

สำหรับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ได้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน

ส่วนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนแบบน่านน้ำสีเขียว องค์กรจะต้องทบทวนกิจกรรมในสายคุณค่าทั้งหมด เพื่อฝังเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) เข้าไว้ในทุกกระบวนการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

เครื่องมือที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม ภายใต้ Red Ocean คือ Five Competitive Forces หรือ แรงที่กำหนดสภาพการแข่งขันจาก 5 ทิศทาง คือ แรงผลักดันจากผู้เล่นหน้าใหม่ (New Entrants) แรงบีบจากผู้ส่งมอบ (Suppliers) แรงผูกมัดจากผู้ซื้อ (Buyers) แรงกดดันจากผู้เข้าแทนที่ (Substitutes) และแรงห้ำหั่นจากคู่แข่งขัน (Competitors)

ชาน คิม ผู้ให้กำเนิดกลยุทธ์ Blue Ocean ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเชิงคุณค่า (Value Innovation) ระบุว่า เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ในกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือ Four Action Frameworks ซึ่งใช้ทลายข้อจำกัดของการต้องเลือกระหว่างการสร้างความแตกต่างและต้นทุนต่ำในสมรภูมิการแข่งขันแบบเดิม ประกอบไปด้วย 4 คำถามหลักที่มุ่งท้าทายตรรกะเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมและแบบจำลองในธุรกิจ

  • มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมปฏิบัติสืบเนื่องจนเคยชินและควรค่าแก่การขจัดให้หมดไป
  • มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การลดไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
  • มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การยกระดับให้สูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
  • มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมยังไม่เคยมีการนำเสนอและควรค่าแก่การสร้างให้เกิดขึ้น

ส่วนกลยุทธ์ Green Ocean นอกเหนือจากการวิเคราะห์คุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นจากกิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ในสายแห่งคุณค่า (Value Chain) แล้ว ยังคำนึงถึงการดำรงคุณค่าเชิงสังคมและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย

กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี : Colorful Ocean Strategy

ทั้งสามกลยุทธ์น่านน้ำ มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายรวมของกิจการ มากกว่าการปรับเปลี่ยนแค่กิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ขององค์กร