ทำไมอายุงานยิ่งนาน “มูลค่า” กลับสวนทาง ยิ่งลดลง!?

ทำไมอายุงานยิ่งนาน “มูลค่า” กลับสวนทาง ยิ่งลดลง!?

ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ในการเพิ่ม "มูลค่า" ให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะอยู่มานาน หรืออยู่มาไม่นาน ด้วยการ พัฒนา การ Coaching และการประเมินผลแบบเข้มข้น

Part.1.วันแรกและเดือนแรกของการทำงานที่แรก...

แทบทุกคน ตอนที่เริ่มทำงานที่แรก วันแรก สัปดาห์แรก มักเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ถึงแม้จะตื่นเต้น จะงงๆบ้าง

แต่ก็เป็นการทำงานในฐานะพ"นักงานหรือลูกจ้าง ครั้งแรกในชีวิต ไหนจะต้องเรียนรู้สารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเอง ไหนจะต้องลุ้นว่าจะผ่านการทดลองงานหรือไม่ จึงทำให้แทบทุกคน ทั้งทุ่มเท ทั้งเหน็ดเหนื่อย แต่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่แทบทุกวัน

Part.2.มูลค่าที่เริ่มต้น

มูลค่าของพนักงานที่ทำงานที่แรก ค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกวันทีละนิด เพราะต้องตั้งใจ ต้องขยัน ต้องทุ่มเท สิ่งที่พนักงานทำอาจมีความผิดพลาดบ้างในบางเรื่อง เพราะขาดประสบการณ์ แต่ก็ชดเชยด้วยความขยันและพยายามแก้ไขพัฒนาตนเอง.... มูลค่าของพนักงานในช่วงแรก จึงมีแต่ขาขึ้น...

มูลค่า ในที่นี้ของพนักงาน มีหลากหลายมิติ เช่น มูลค่าในเรื่องสร้างรายได้ทางตรงหรือทางอ้อมให้กับบริษัท หรือ มูลค่าในเรื่องการสร้างนวัตกรรม มูลค่าในด้านการสร้างบริการที่เป็นเลิศ มูลค่าในด้านการตลาด Online หรือสร้างผลงาน แก้ปัญหาให้กับหน่วยงาน เป็นต้น ทุกอย่างล้วนเป็น มูลค่าที่พนักงาน ส่งมอบให้กับบริษัท

Part.3.หลังจากผ่านการทดลองงาน...

พนักงานส่วนมาก เมื่อผ่านการทดลองงานแล้ว นอกจากความโล่งอก... บางคนก็จะค่อยๆเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาแบบตั้งใจบ้างแบบไม่รู้ตัวบ้าง

มูลค่าของพนักงานกลุ่มนี้ ถ้าจะมีเพิ่ม ก็เพิ่มอย่างเชื่องช้า ก่อนที่จะค่อยๆหยุดเพิ่มมูลค่าของตนเองเพราะความเฉื่อยชาที่ครอบงำ

ในขณะที่พนักงานส่วนน้อยเท่านั้น ที่ไม่เคยหยุดเพิ่มมูลค่าของตนเอง ถึงแม้จะผ่านการทดลองงานมานานแล้วก็ยังพยายามเรียนรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลา เพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน เช่นต้องการเติบโตในสายงาน เป็นผู้บริหารสายอาชีพในอนาคต หรือบางคนก็มีเป้าหมายไปเป็นเจ้าของกิจการในอนาคต

ถึงตรงนี้... คงสังเกตุเห็นแล้วใช่มั๊ยครับว่า ทำไมมูลค่าของพนักงานส่วนมาก มูลค่าเริ่มคงที่ สวนทางกับอายุงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่พนักงานส่วนน้อยเท่านั้น มูลค่า กลับมีเพิ่มมากขึ้นตามวันเวลา...

Part.4.แล้วบริษัทที่อยู่มานานและมีพนักงานที่อยู่มานานเช่นกันล่ะ?

ยิ่งบริษัทไหน อยู่มานาน แล้วมีพนักงานจำนวนมากที่มีอายุงานมาก ถ้าขาดผู้นำองค์กรและผู้บริหารที่มีความสามารถในการพัฒนาคน พนักงานจำนวนมากของที่นั่น มูลค่าจะคงที่เทียบเท่าในอดีต แต่ลดลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน!

ส่วนบริษัทที่ผู้นำและผู้จัดการ ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคน ก็จะสร้างระบบการพัฒนา ให้สอดคล้องกับ บทบาท-หน้าที่ อายุงาน และสร้างโอกาสในการเติบโต รวมทั้งมีระบบประเมินผลงานที่เข้มข้น เช่น อายุงานกับผลงานต้องสอดคล้องกัน

ตรงกันข้ามกับบริษัทที่อยู่มานาน และมีพนักงานเก่าแก่ที่อยู่มานานจำนวนมาก แต่ผู้นำ ผู้บริหาร ไม่มีวิธีการ หรือไม่มีเวลา รวมไปถึงไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้...

บริษัทนั้นๆ จะเต็มไปด้วยพนักงานที่อยู่มานาน แต่แบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า แต่ละก๊ก จะมีรุ่นเก๋าทำตัวเป็นมาเฟียคุมลูกกระจ๊อก คุมหน่วยงาน สร้างความปวดกระบาลให้กับบรรดาผู้จัดการที่ดูแลหน่วยงานนั้น เพราะแตะต้องอะไรไม่ได้ เพราะมีบารมีสั่งสมตามอายุงาน ไหนจะความเก๋าความเขี้ยว บางคนสนิทหรือเป็นญาติมิตรกับผู้บริหาร ก็จะยิ่งแสดง อภินิหารแบบ ดุดันไม่ต้องเกรงใจใคร! ทำให้บรรดาผู้จัดการ ถ้าไม่สยบก็ต้องลาออกไป รับผู้จัดการคนใหม่เข้ามา ก็เผชิญกับปัญหาเดิมๆ ทนไม่ไหวก็ลาออกไปอีก วนลูปกันทั้งชาติแบบนี้!

ไม่ต้องพูดถึง มูลค่า ที่บรรดามาเฟียเก่าแก่เหล่านี้จะมอบให้บริษัท เพราะไร้มูลค่ามานานแล้ว ทุกวันนี้อยู่เพื่อสร้างปัญหาไปวันๆเท่านั้นเอง

Part.5. เช่นเดียวกับ รัฐบาลที่อยู่มานานถึงเกือบ 9 ปี...ยิ่งอยู่นาน คุณค่า ยิ่งลดลง

หลายๆท่านคงจำได้ว่า ตอนใช้วิธีพิเศษ เข้ามามีอำนาจ ได้รับเสียงเชียร์อย่างอื้ออึง ดูเหมือนจะมีคุณค่า ได้รับการคาดหวังอย่างสูงว่าจะเข้ามาแก้ปัญหา และเพิ่มมูลค่าให้กับประเทศ...

แต่หลังจากบริหารบ้านเมืองมานาน... มูลค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น มีแต่เรื่อง ความฉาวโฉ่ของวงการตำรวจ และสารพัดปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ไม่มีการปฏิรูปในเรื่องใดๆ ทั้งที่ควรใช้เวลาเกือบ 9ปี ปฎิรูปประเทศ ก็จะมีโอกาสเป็น รัฐบุรุษ ได้ แต่เมื่อไร้ทั้งความกล้า ไร้ทั้งความสามารถ ยึดติดกับกรอบการบริหารแบบราชการ และบริหารแบบไม่โดนกระแสSocialและสื่อด่าก็ไม่ขยับ สุดท้ายก็กลายเป็นรัฐบาลที่ยิ่งอยู่นาน คุณค่ายิ่งหมดลง

แต่อย่างว่านะ... ในช่วงที่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลที่ใกล้หมดอำนาจรักษาการ ก็ยังแอบหวัง ที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ด้วยยุทธวิธีลับ อย่าประมาทไป... ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้!

Part.6.กลับมาที่ วิธีการรักษาและเพิ่มมูลค่า ให้กับพนักงานที่อยู่มานาน

สิ่งที่ควรเลิกทำอย่างที่เคยทำกันมาตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติของแทบทุกที่คือ ยิ่งอยู่มานาน เงินเดือนก็ขึ้นตามค่าเฉลี่ยตามอายุงาน โดยขาดการประเมินผล และ การพัฒนาที่ชัดเจน!

เพราะวิธีการแบบนี้ เป็นวิธีการ ส่งเสริมการลดมูลค่า ของพนักงานที่อยู่มานานานที่ได้ผลอย่างมาก! แต่เป็นผลลบกับหน่วยงานและองค์กรนั้นอย่างมากเช่นเดียวกัน เพราะทำงานไปวันๆ ยิ่งอยู่นาน โดยไม่มีการพัฒนา ประเมินผลกันแบบไทยๆเกรงใจกันแบบผิดๆ!

Part.7. สิ่งที่ควรทำและหลายๆที่ก็ทำมาบ้างแล้วก็คือ...

ในเรื่องการประเมินผล จะเน้นที่ มูลค่าที่มีที่สั่งสมจากอายุงาน สร้างมูลค่าในปัจจุบันในเรื่องใดบ้าง ?

และในอนาคตมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าในเรื่องใดได้บ้าง ? เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ยิ่งอยู่นานยิ่งมีมูลค่า ทุกคนทุกหน่วยงานจึงต้องได้รับการพัฒนาทั้งแบบ เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

เช่น การพัฒนาแบบเป็นทางการ คือการพัฒนาโดยการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ตามบทบาทหน้าที่และอายุงาน เรียนรู้เรื่องเดิมให้ลึกซึ้งให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันและอนาคต

ส่วนการพัฒนาแบบไม่เป็นทางการ คือบรรดาหัวหน้างาน และ ผู้จัดการ ต้องเป็น Coach ให้กับทีมงานที่ตนเองรับผิดชอบ เพราะจะช่วยพัฒนาทีมงานแต่ละคนอย่างต่อเนื่องด้วย การ Coaching อย่างต่อเนื่อง

ไม่ใช่แค่การพัฒนาและการCoaching อย่างเป็นระบบ แต่ต้องตบท้ายด้วยการประเมินผลแบบเข้มข้น ที่มากกว่าปีละ1ครั้ง ซึ่งการประเมินผลแบบปีละ 1 ครั้ง ถือว่าเป็นรูปแบบที่โบราณและสร้างผลเสียมากกว่าผลดี

Part.8.เพราะฉะนั้น...

ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรเลย ในการ เพิ่มมูลค่าให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะอยู่มานาน หรืออยู่มาไม่นาน ด้วยการ พัฒนา การ Coaching และการประเมินผลแบบเข้มข้น แต่ถ้าทำตรงข้ามหรือทำแบบที่เคยทำๆกันสืบต่อกันมา... ก็ไม่ต้องแปลกใจ ที่ พนักงานของท่าน ยิ่งอยู่นาน มูลค่ากลับลดลงจนสุดท้ายกลายเป็นพนักงานที่ ไร้มูลค่า และเป็น ภาระให้กับหน่วยงานหรือองค์กรของท่านนั่นเอง!