วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ คนและความเชื่อมั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด (1)

วิกฤติธนาคารล้มในสหรัฐ คนและความเชื่อมั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด (1)

ธุรกิจธนาคารอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่น มีธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศแห่งหนึ่ง คนมุงดูหมากัดกันหน้าที่หน้าธนาคาร ลูกค้าคิดว่าธนาคารจะเจ๊งแห่กันมาถอนเงินแน่นสาขา ความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของธนาคารพาณิชย์

กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ในสหรัฐถูกสั่งการให้ปิดกิจการ หลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแห่ถอนเงิน จากความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงิน โดย Silicon Valley Bank (SVB) ปิดตัวลงในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566 และตามมาด้วย Signature Bank ในวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2566 โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และบรรษัทประกันเงินฝาก (FDIC) ได้ออกมาตรการเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่น สกัดความเสี่ยงเชิงระบบของภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐ และเข้าดูแลกลุ่มผู้ฝากเงิน และบรรเทาแรงกดดันต่อสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น 

โดยให้ผู้ฝากเงินทุกรายสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้ในวันจันทร์ที่ 12 มีนาคม 2566 เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เป็นการควบคุมธนาคารที่มีปัญหาอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัว และมีผลกระทบจำกัดต่อธนาคารพาณิชย์ไทย แต่สุดท้ายจะถูกกระทบ ในแง่ของการส่งออกที่อาจลดน้อยลง เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็น Domino Effect ที่ลามไปทั่วสหรัฐยุโรป เป็นเรื่องที่ท่านผู้ประกอบการ SMEs ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

Silicon Valley Bank ก่อตั้งในปี 2526 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ธุรกิจหลักคือการปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มธุรกิจ Start Up ที่เฟื่องฟูในสหรัฐ ทำให้กิจการของ SVB เติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นจากราว 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2560 เป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 298.63% ในขณะที่มูลค่าสินทรัพย์รวม เพิ่มขึ้นเป็น 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก้าวขึ้นมาเป็นสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐ มีหนี้เสียไม่ถึง 1% ถึงแม้จะเป็นธนาคารอันดับที่ 16 ของสหรัฐ แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่าธนาคารพาณิชย์ระดับต้น ๆ ของไทยถึง 3 เท่า

การใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ลูกค้าที่เป็นธุรกิจ Start Up ต้องถอนเงินฝากเพื่อนำเงินไปหล่อเลี้ยงกิจการของตัวเองที่กำลังประสบปัญหา ประกอบกับ SVB ก็ประสบกับความยากลำบากในการระดมทุนจากแหล่งลงทุนใหม่ ทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของธนาคารพาณิชย์ จนต้องประกาศขายพันธบัตร มูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกิดผลขาดทุนราว 1,800 ล้านดอลลาร์ 

Peter Thiel ผู้บริหารกองทุน Founder Fund ซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ของ SVB ออกมาประกาศถอนการระดมทุน ชักชวนให้นักลงทุนและผู้ฝากเงินถอนเงินฝาก จาก SVB ทำให้วันรุ่งขึ้นราคาหุ้นของ SVB ดิ่งลงมากกว่า 69% ก่อนที่ ก.ล.ต. สหรัฐประกาศระงับการซื้อขาย และตามมาด้วยการเข้าควบคุมกิจการ โดยบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FIDC)

การล่มสลายของธนาคารดาวรุ่งอย่าง SVB เกิดขึ้นในช่วงไม่ถึงสัปดาห์ เกิดจากการตัดสินใจทีผิดพลาดของ SVB ที่นำเงินฝากไปลงทุนในพันธบัตรและหุ้นกู้ระยะยาวที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ ในสัดส่วนถึง 56% ของสินทรัพย์ทั้งหมดซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ๆ ที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้เพียง 20-30% ส่งผลให้ SVB ประสบปัญหาความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย

ในเวลาต่อมาเมื่อ 40 ปี ที่แล้ว ตอนที่ผมยังเป็นเสมียนอยู่ที่แบงก์กรุงไทย สาขากาญจนบุรี ได้ดูแลคุณจำรัส จตุรภัทร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรก ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงไทย ที่มาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้เล่าตำนานการล่มสลายของธนาคารเกษตร และธนาคารมณฑล จนต้องควบรวมเป็นธนาคารกรุงไทย ผมยังจำคำสอนของท่านได้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นสุดที่คน คนสำคัญที่สุด และธุรกิจธนาคารอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่น มีธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศแห่งหนึ่ง คนมุงดูหมากัดกันหน้าที่หน้าธนาคาร ลูกค้าคิดว่าธนาคารจะเจ๊งแห่กันมาถอนเงินแน่นสาขา ความเชื่อมั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของธนาคารพาณิชย์

ตอนต่อไปผมจะนำเสนอรายละเอียดถึงผู้บริหารของ SVB ที่ขาดความโปร่งใส จนเกิดวิกฤติ Bank run ต้องปิดกิจการในที่สุด...