ความหวังของ SMEs ไทย การรอคอยที่ (อาจ) สิ้นหวังในปี 2566

ความหวังของ SMEs ไทย การรอคอยที่ (อาจ) สิ้นหวังในปี 2566

การโฆษณาที่สวยหรูของ "สถาบันการเงิน" ต่างบอกว่า SMEs กู้ง่าย อนุมัติเร็ว อาจจะทำให้ SMEs มีความหวัง แต่ (อาจ) จะเป็นความหวังที่สิ้นหวังในปี 2566

ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยากลำบากในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย จากข้อมูลของสมาคมธนาคารไทย ที่ระบุว่ามีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจากลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกล่างและขนาดย่อมมากกว่า 3 ล้านราย และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ที่รวมข้อมูลจาก non-bank จะมีลูกหนี้ที่น่าห่วงถึง 5.5 ล้านราย ยังไม่รวมกับลูกหนี้เงินกู้นอกระบบที่คาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อย บางรายสามารประคองตัวอยู่รอดมาได้อย่างทุลักทุเล และมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการ ถูกฟ้องล้มละลาย ถูกยึดทรัพย์ 

สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้พยายามแก้ปัญหาช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทางการเงินตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ระบาดด้วยการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รัฐบาลได้สนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปล่อยสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำเพียงแค่ 1% โดยปล่อยสินเชื่อไปถึง 15 ล้านบัญชี ซึ่งจะครบกำหนดชำระหนี้ในปี 2566 ซึ่งเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว คาดกันว่าจะเป็น NPL ถึง 50% และมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงินหมดอายุลง

ท่ามกลางซากศพผู้ประกอบการ SMEs ไทยเกลื่อนเมือง จากรายงานแนวโน้มแบงก์ไทย ปี 2566 ของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ผลการดำเนินงาน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 คาดว่าแบงก์ไทย จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองและภาษี) เติบโตจากปีก่อนประมาณ 12.4% อยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท 

สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อ ซึ่งหากผนวกกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ลดลงจากปีก่อน ที่มีการตั้งสำรองฯเชิงรุกแล้ว ระบบแบงก์ไทยจะมีกำไรสุทธิ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนประมาณ 34% จากบทวิเคราะห์ของ บล โนมูระ คาดว่ากำไรสุทธิ 4Q22F ที่ 4.34 หมื่นล้าน โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น +22% Y-Y เพราะการเพิ่มขึ้นของ NIM และการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรอง ภาพรวมกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารในปี 2023F ที่ 1.83 แสน ลบ.เติบโต +5% Y-Y Still Seeing High Earnings Growth

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยปี 2566 จะเติบโตในกรอบที่จำกัด ราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะโต 5.0% ตามผลของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลของมาตรการช่วยเหลือที่หมดลง สินเชื่อที่นำการเติบโตจะ มาจากธุรกิจรายใหญ่ที่มีความสามารถในการรับมือกับต้นทุนการดำเนินงานที่ยังเพิ่มขึ้นรวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 20 ล้านบาท ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิดรอบก่อนสำหรับสินเชื่อรายย่อยปี 2566 น่าจะคงอัตราการเติบโตเท่ากับปี 2565 ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังสูง

ทั้งนี้ ความแตกต่างสำคัญระหว่างปี 2565 และ 2566 คือในปี 2566 จะไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้เป็นการเพิ่มเติมแล้ว NPL อาจไม่ลดลง การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด แบงก์ต้องเร่งแสวงหาธุรกิจใหม่ ด้วยการเดินหน้าปล่อยสินเชื่อ Digital Lending โดยพยายามเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้า สร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ สร้างระบบนิเวศที่จะทำให้ลูกค้าที่มีความหมายและมากพอต่อการประเมินเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

ความแตกต่างสำคัญในปี 2566 จะมาจากเกณฑ์การกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินของแบงก์ชาติ ทั้งเรื่อง ESG หรือ Green Economy รวมถึง Digital Asset และประเด็นสำคัญอีกหลายด้าน การเรียนรู้เตรียมตัวรับสภาพธุรกิจทีไม่เหมือนเดิมจึงเป็นงานที่ยาก เหมือนสอนให้ช้างปีนต้นไม้สำหรับ SMEs ไทย

ภูมิทัศน์ทางการเงินในปี 2566 จึงเอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่มากกว่า เห็นนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองโฆษณาตามป้ายริมถนน ล้วนแต่เป็นเรื่องที่สถาบันการเงินทำมาแล้วทั้งสิ้น โฆษณาที่สวยหรูของสถาบันการเงินต่างที่บอกว่า SMEs กู้ง่าย อนุมัติเร็ว อาจจะทำให้ SMEs มีความหวัง แต่ (อาจ) จะเป็นความหวังที่สิ้นหวังในปี 2566….