เศรษฐกิจโลก ปี 2023 “ใครว่าปีนี้แย่ ปีหน้าแย่กว่า”

เศรษฐกิจโลก ปี 2023 “ใครว่าปีนี้แย่ ปีหน้าแย่กว่า”

สิ้นปีแล้ว อยากชวนทุกท่านมาสำรวจเศรษฐกิจโลกในปีหน้า หรือ ปี 2023 กัน ว่าเศรษฐกิจโลกแบบไหนที่กำลังรอเราอยู่ 

สิ้นปีแล้ว อยากชวนทุกท่านมาสำรวจเศรษฐกิจโลกในปีหน้า หรือ ปี 2023 กัน ว่าเศรษฐกิจโลกแบบไหนที่กำลังรอเราอยู่ 

Citi Global Wealth Investment พยากรณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มโตต่ำมาก โดย GDP โลกจะขยายตัวเพียง 1.3% นับเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 40 ปีหากไม่นับปี 2009 ที่เกิดวิกฤตการเงินสหรัฐฯ จนลามเป็นวิกฤตการเงินโลก และปี 2020 ที่เศรษฐกิจโลกหยุดชะงักจากการระบาดของโควิด

ใกล้เคียงกับ Institute of International Finance ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะโตเพียง 1.2% ระดับเดียวกับปี 2009 ตอนเกิดวิกฤตการเงินโลก

หากพูดให้เห็นภาพ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่โควิดระบาดหนัก โลกเปิดๆ ปิดๆ เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ ที่ 5.7% ในปี 2021 และ 3.3% ในปี 2022 

เรียกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่เศรษฐกิจโลกลุ่มๆ ดอนๆ จากโควิด ใครว่าแย่แล้ว ที่ผ่านมายังดีกว่าปีหน้าที่เรากำลังจะเจอ ..ปีหน้าจึงจัดว่าเป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจโลก และทุกประเทศทีเดียว

สัญญาณความถดถอยของเศรษฐกิจโลกชัดขึ้น และเริ่มส่งผลต่อประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือน ต.ค. 2565 ติดลบ 4.4% นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับแต่ ก.พ. 2564 โดยเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2565 ตัวเลขการส่งออกไทยขยายตัวที่ 7.8%

ไม่ใช่แค่ไทย มูลค่าการส่งออกของจีนในเดือน พ.ย. 2565 ตามรายงานของสำนักงานศุลกากรจีน ก็พบว่าลดลง 8.7% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ มี.ค. 2563 เช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า มีอย่างน้อย 5 ประการ

1.การขึ้นดอกเบี้ย 

โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 40 ปี FED มุ่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ หวังชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งก่อผลทางอ้อมให้ทุกประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม ทั้งเพื่อรักษาค่าเงินและการลงทุนจากต่างประเทศ การขึ้นดอกเบี้ยส่งผลให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจแต่ละประเทศหดตัว เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้พร้อมๆ กันในหลายประเทศ จึงทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างเลี่ยงไม่ได้ คำถามสำคัญคือ FED ยังจะดำเนินนโยบายขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่ หรือถึงเมื่อไหร่ จากการคาดการณ์ ในมุมของ FED เห็นว่าระดับเงินเฟ้อที่เหมาะสม หรือส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 2% ขณะที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 2022 ยังอยู่ที่ 7.1% นั่นหมายความว่าปีหน้า FED ยังต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ย่อมกดดันให้ทุกประเทศต้องขึ้นดอกเบี้ยตาม นำมาซึ่งการหดตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกในปีหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน 

ความยืดเยื้อของสงครามกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผ่านทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ อาหาร และแร่โลหะต่างๆ ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกหลักในตลาดโลก เงินเฟ้อที่สูงขึ้นกดดันให้รายได้แท้จริงของคนทั่วโลกลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลำบาก รวมถึงเป็นปัจจัยผลักดันให้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และธนาคารกลางทั่วโลก ยังต้องดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ World Economic Forum ร่วมกับ Ipsos ต่อมุมมองภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อคาดการณ์ทั่วโลก (เผยแพร่เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา) โดยใช้ข้อมูล 36 ประเทศ สำรวจระหว่าง 21 ต.ค. - 4 พ.ย. 2022 ผ่านการสัมภาษณ์ประชากรมากถึง 24,471 คน รวมทั้งเก็บข้อมูลจากประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่า 69% ของประชากรเชื่อว่า เงินเฟ้อในปีหน้ายังจะสูงขึ้นต่อไป และ 79% ของประชากรเชื่อว่า ค่าจ้างแท้จริงของตัวเองในปีหน้าจะลดลง มีเพียง 12% ที่เชื่อว่าค่าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้น มากกว่าหรือเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ การลดลงของค่าจ้างแท้จริงทั่วโลก ย่อมทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ

3.เศรษฐกิจจีน 

การควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีนส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาหยุดชะงัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างไม่สามารถทำได้ตามปกติ การถดถอยของเศรษฐกิจจีนในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นผู้บริโภครายใหญ่ ส่งออกนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เศรษฐกิจที่ถดถอยตลอดจนมาตรการจำกัดการเดินทางนอกประเทศ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ 

คำถามสำคัญคือปีหน้ารัฐบาลจีนจะดำเนินมาตรการรับมือโควิดอย่างไร จะกลับไปใช้มาตรการควบคุมแบบเข้มงวดอย่าง Zero-Covid อีกหรือไม่ ความเสี่ยงจากสถานการณ์ปัจจุบันที่จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนยังเพิ่มขึ้นตลอด ทำให้เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในความไม่แน่นอนต่อไป นอกจากนี้จากปัจจัยดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่เป็นปัญหาอยู่แต่เดิมด้วย

โดยเฉพาะล่าสุดที่รัฐออกมาตรการจำกัดการกู้ยืมของผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่ต้องติดตาม ทั้งนี้ Citi Global Wealth Investment ประเมินว่า เศรษฐกิจจีนปีหน้าโตที่ 4.5% จากปีนี้ที่โต 3.5% ใกล้เคียงกับ J.P.Morgan ที่คาดว่าโต 4.3% และ Goldman Sachs ที่คาดว่าโต 4.5%

4.การถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่นำมาสู่วิกฤตราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากสุด จากการประเมินของ European Commission เศรษฐกิจของประเทศสหภาพยุโรปส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะถดถอย ณ ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และคาดว่าปีหน้าระดับเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปจะยังสูงต่อไป โดยคาดว่าอยู่ที่ 6-7% โดยกว่าจะลดไปอยู่ที่ระดับ 2-3% คือปี 2024 ทีเดียว 

ทั้งนี้ European Commission ประเมินว่าเศรษฐกิจยุโรปปีหน้าจะขยายตัวเพียง 0.3% ส่วน Citi Global Wealth Investment ประเมินว่า จะติดลบ 0.5% ใกล้เคียงกับ Morgan Stanley ที่คาดว่าติดลบ 0.2%

5.การหดตัวของการค้าโลก 

จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งการเมือง สงคราม เศรษฐกิจแต่ละประเทศ ประกอบกับแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานใหม่ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดมานับแต่มีโควิด ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากลดการพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า เปลี่ยนจากการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบเน้นประสิทธิภาพ/ต้นทุนต่ำ เป็นการจัดการห่วงโซ่อุปทานแบบเน้นความยืดหยุ่นและลดความผันผวน ทั้งหมดนี้กดดันให้การค้าระหว่างประเทศลดลง การค้าที่ลดลงย่อมกดดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถดถอยลงไปด้วย

องค์การการค้าโลก หรือ WTO ประเมินว่าในปีหน้า การค้าโลกจะเติบโตเพียง 1% เท่านั้น ลดจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.5%

ทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจโลกปีหน้า ให้อยู่ในภาวะไม่แน่นอน โตต่ำ มีปัจจัยลบหลายอย่างรุมเร้า

สถานการณ์นี้อันตรายต่อผู้มีรายได้น้อยหรือคนยากจนเป็นพิเศษ ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ความยากจนทั่วโลกที่เลวร้ายลงจากพิษโควิดฟื้นตัวช้า ข้อมูลจาก UNDP พบว่า เพียงช่วง 3 เดือนของปีนี้ (มี.ค.-มิ.ย. 2022) มีประชากรในประเทศกำลังพัฒนาตกสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้น 71 ล้านคน สาเหตุหลักจากปัญหาราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นเร็ว โดยพบว่าสถานการณ์เงินเฟ้อเพิ่มปัญหาความยากจนให้รุนแรงมากกว่าโควิดเสียอีก 

สำหรับประเทศไทย ที่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกมาก เพราะการส่งออกเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจ จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบสูงในปีหน้า ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือให้ดี